ถนนชื่อ “อังรีดูนังต์” ได้รับชื่อตามชื่อของผู้ให้กำเนิดคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ นายฌ็อง อังรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) ตามคำร้องขอของสันนิบาตสภากาชาด (League of Red Cross Societies: LORDS) ในโอกาสที่ได้มีการฉลองครบ 100 ปี กาชาดสากลในปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ.1963) สภากาชาดไทยในตอนนั้นเลือกเอาถนนสนามม้า มาเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนอังรีดูนังต์ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการคือ 1.ถนนสนามม้าตัดผ่านสถานสาวภาและ รพ จุฬา สภากาชาดไทย 2.ชื่อเดิมของถนนสนามม้า ไม่ได้มีความหมายพิเศษหรือเป็นชื่อมงคลอะไร แค่ตั้งตามสนามม้าราชกรีฑาสโมสรที่ตั้งอยู่แถวนี้ ถนนสนามม้าได้รับการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 (ค.ศ.1965) ถึงอย่างนั้นผู้คนท้องที่ก็ยังนิยมเรียกถนนนี้ตามชื่อเก่าก่อนปี 2508
จาก YMCA สู่กาชาด อังรี ดูนังต์ ชายผู้รักในงานมนุษยธรรมอย่างเต็มหัวใจ
นายฌ็อง อังรี ดูนังต์ เป็นนักธุรกิจชาวสวิสที่มีความสนใจในงานด้านมนุษยธรรมอย่างแรงกล้า โดยก่อนที่เขาจะเริ่มไอเดียในการก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ดูนังต์เคยมีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมและองค์กรการกุศลอื่นมาก่อน ตอนดูนังต์อายุได้เพียง 19 ปี เขาและเพื่อนๆ อีกสามคนได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมวันพฤหัสบดี (หรือสมาคมนักอ่านวันพฤหัสบดี – Thursday Readings Association) สำหรับคนหนุ่มในเจนีวาเพื่อมาร่วมกันอ่านและตีความคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล ดูนังต์ทำหน้าที่เป็นเลขาของสมาคมเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปี แต่นั่นไม่ใช่สมาคมเดียวที่ดูนังต์เข้าไปมีส่วนร่วม
หลายปีต่อมาองค์กร YMCA (Young Men’s Christian Association) ก่อตั้งขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ องค์กรที่ว่ามีหน้าที่และจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การกีฬา หรือการช่วยเหลือชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อังรี ดูนังต์ ที่ชื่นชมงานจิตอาสา นำต้นแบบของ YMCA มาเปิดสาขาที่เจนีวาโดยได้รับควมช่วยเหลือจากผู้ร่วมก่อตั้งอีกหลายท่าน ดูนังต์มีส่วนร่วมเป็นอย่างมากในการมองหาสมาชิกใหม่ และได้ร่วมกันกับ YMCA สาขาปารีส เพื่อจัดการประชุม YMCA World Conference ครั้งแรกของโลก ความคิดริเริ่มเหล่านี้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของนายอังรี ดูนังต์ ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อันจะนำไปสู่รากฐานของการก่อตั้งองค์กรกาชาดในอนาคต
โซลเฟริโน สมรภูมิที่เปลี่ยนโฉมหน้างานมนุษยธรรม จุดก่อกำเนิดของกลุ่มองค์กรกาชาด
เหตุการณ์ที่ทำให้อังรี ดูนังต์หันมาทุมเทชีวิตให้งานมนุษยธรรม เกิดขึ้นเมื่อตัวเขาเดินทางผ่านอิตาลี ในระหว่างที่การสู้รบในสมรภูมิโซลเฟริโนเพิ่งจบลงไม่นาน การต่อสู้ที่โซลเฟริโนเป็นสมรภูมิสำคัญในสงครามประกาศอิสรภาพของอิตาลีครั้งที่ 2 สงครามครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่กองทัพทุกฝั่งได้รับการบังคับบัญชาโดยตรงจากกษัตริย์ ทหารกว่าสามแสนคนจากออสเตรีย ฝรั่งเศส และอิตาลีต่อสู้กันที่บริเวณนี้เป็นเวลายาวนานถึง 14 ชั่วโมง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสามหมื่นคน บาดเจ็บอีกหลายหมื่น ตัวเลขนี้ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสงครามครั้งอื่นๆ ในศตวรรษที่ 21
ต้นเหตุของการรบที่โซลเฟริโนมาจากความต้องการที่จะประกาศอิสรภาพของรัฐต่างๆ ในอิตาลี ออกจากจักรวรรดิออสเตรีย โดยเป็นผลพวงมาจากความพ่ายแพ้ในสงครามประกาศอิสรภาพครั้งแรก อิตาลีรู้ว่าตัวเองจำเป็นต้องมีพันธมิตร จึงได้ผูกมิตรกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส (หลานชายของนโปเลียนที่ 1) ผลคือสงครามในครั้งนี้มีผู้บัญชาการใหญ่ฝั่งฝรั่งเศสเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ร่วมมือกับพระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 2 ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิตาลี เพื่อต่อสู้กับศัตรูในฝั่งตรงข้ามนำทัพโดยจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย