เกิดอะไรขึ้นในหนึ่งปี หลากเรื่องราวหลายผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่สงคราม

บทความ / บล็อค

เกิดอะไรขึ้นในหนึ่งปี หลากเรื่องราวหลายผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่สงคราม

ถ้าโควิด-19 ทำให้ระบบสาธารณสุขที่ก้าวหน้าที่สุดตกอยู่ในภาวะยากลำบาก โรงพยาบาลในพื้นที่สงครามจะรับมืบวิฤตครั้งนี้ได้อย่างไร? นี่คือเรื่องราวจากแนวหน้าของประเทศที่เผชิญโรคร้ายพร้อมความท้าทายอีกมากมาย

อิรัก – ชีวิตสร้างใหม่ภายใต้ซากปรักหักพัง

“ไม่มีงานให้ทำอีกต่อไป ทุกอย่างหยุดนิ่ง แต่ถ้าคุณต้องอยู่โดยไม่เหลืออะไร มันคงง่ายกว่าถ้าอย่างน้อยคุณได้อยู่กับครอบครัว”

Jassim จากอิรัก กล่าวถึงความยากลำบากเมื่อตลาดแรงงานของอิรักล่มสลายหลังวิกฤตโควิด-19 ตัวเขาและครอบครัวเคยลี้ภัยออกจากบ้านเพราะสงครามและความขัดแย้ง เมื่อระบบเศรฐกิจล่มสลาย Jassim พบว่าการหางานเพื่อสร้างชีวิตใหม่เป็นเรื่องทำไม่ได้อีกต่อไป เขาและครอบครัวตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ในพื้นที่สงครามอย่างอิรัก โควิด-19 ไม่เพียงกระทบคุณภาพชีวิตของผู้คนในค่ายลี้ภัย แต่รวมไปถึงผู้คนมากมายที่ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อประกอบอาชีพ

ฟิลิปปินส์- เมื่อคุณเป็นผู้ต้องขัง ครอบครัวคือความหวังทุกอย่าง

“คุณต้องเข้าใจว่า ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์เดียวกับผม ครอบครัวคือสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคุณไว้ได้”

Juaquin จากฟิลิปปินส์เป็นผู้ต้องขังที่เคยผ่านอาการบาดเจ็บมากมายแต่ก็รอดตายมาได้ทุกครั้ง แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด ผลกระทบจากไวรัสลุกลามถึงชีวิตในห้องขัง มาตรการมากมายถูกนำมาใช้ Juaquin ถูกนำไปแยกขังในพื้นที่ห่างไกลเพื่อลดความแออัด ถึงอย่างนั้นคุณแม่ของเขาก็ยังตามมาเยี่ยมลูกชายไม่ได้ขาด เธอเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้ Juaquin ต่อสู้กับความยากลำบากในทุกทาง สถานการณ์ในฟิลิปปินส์บอกให้โลกรู้ว่ากลุ่มคนในห้องขังก็ได้รับผลกระทบหนักไม่ต่างกัน

ไนจีเรีย – โควิดไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงที่สุด

“ผู้คนบางส่วนไม่เชื่อว่าโควิดเป็นเรื่องใหญ่ อันที่จริงพวกเรามีปัญหาที่หนักและรุนแรงกว่า ฉันได้แต่หวังว่าวัคซีนจะมาถึงพวกเราโดยเร็วที่สุด”

Falmata พยาบาลผดุงครรภ์จากไนจีเรียให้สัมภาษณ์ ในประเทศที่เต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้ง ผู้คนกว่าหนึ่งแสนคนอพยพหนีความรุนแรงมารวมตัวกันในพื้นที่จำกัด แม้ความรู้ด้านสุขอนามัยจะถูกสื่อสาร แต่หลายอย่างไม่สามารถทำได้ในทางปฎิบัติ ยกตัวอย่างเช่นการเว้นระยะห่าง หรือแม้แต่การหาน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อการล้างมือ

เยเมน – ความยากลำบากของคนเป็นหมอ

“การถูกตีตราจากงานที่ทำก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การถูกโจมตีเพราะรักษาคนไข้เป็นสิ่งที่ผมยอมรับไม่ได้”

Abobakr คุณหมอชาวเยเมนอาสาตัวเข้าดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เขาพบว่าตัวเขาและเพื่อนร่วมงานกลายเป็นเป้าหมายโจมตีและถูกกีดกันจากสังคม ซ้ำร้ายยิ่งกว่า มีข่าวลือไม่ทราบที่มากล่าวหาว่าบรรดาหมอฉีดยาอันตรายเป็นเหตุให้ผู้ป่วยโควิดมากมายต้องเสียชีวิต ความยากลำบากของคุณหมอนอกจากจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นกว่ายามปกติ ยังรวมไปถึงการต่อสู้กับข่าวปลอมมากมาย สร้างความลำบากทั้งกายใจให้กับผู้ปฎิบัติหน้าที่ทางการแพทย์

สาธารณรัฐแอฟริกากลาง – เมื่อการกลับบ้านไม่สามารถทำได้

“วันหนึ่งเจ้าหน้าที่กาชาดบอกผมว่าการกลับบ้านต้องถูกเลื่อนไปเพราะมีไวรัสตัวใหม่เกิดขึ้นมา รัฐบาลไม่อนุญาตให้เราเดินทางเข้าประเทศอีก ผมได้แต่ร้องไห้ มันเศร้ามากจริงๆ”

Augustin เป็นกำพร้าตั้งแต่อายุ 5 ขวบ พ่อแม่ของเขาถูกสังหารในสถานการณ์ความไม่สงบ Augustin ลี้ภัยไปคองโกและได้อยู่ในความดูแลของครอบครัวอุปถัมภ์ เขาเพิ่งอายุถึงเกณฑ์ที่สามารถเลือกกลับมาใช้ชีวิตใหม่ในบ้านเกิด เด็กหนุ่มติดต่อหาคุณปู่ และกำลังเตรียมตัวย้ายกลับไปอยู่ด้วยกัน ความฝันของเขาต้องถูกหยุดอย่างกระทันหันเมื่อเชื่อไวรัสตัวร้ายย่างกรายเข้าสู่ประเทศ

โคลอมเบีย – ความตายที่ไม่ได้เกิดจากไวรัส

“มันไม่ยุติธรรมเลย พ่อแม่ของฉันไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเราไม่ได้ป่วยจากไวรัส ไม่ได้กระจายความเสี่ยงให้ใคร ทำไมต้องฆ่าพวกท่านด้วย”

Luisa เป็นหนึ่งในพลเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองของกลุ่มติดอาวุธ สมาชิกของหลายครอบครัวถูกฆ่าจากมาตรการรุนแรงที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

กรีก – เมื่อโควิดระบาด นาฬิกาก็หยุดเดิน

“พวกเรารอดชีวิตจากสงครามในบ้านเกิด เกือบเรือล่มที่ตรุกี ตอนนี้ต้องถูกกักตัวในค่ายผู้ลี้ภัย ชีวิตคงไม่แย่ลงไปกว่านี้แล้ว คุณว่าจริงไหม?”

Jawed และครอบครัวลี้ภัยจากประเทศอัฟกานิสถาน เดินทางผ่านตุรกี เพื่อมาถึงปลายทางที่ประเทศกรีก ทันทีที่พวกเขามาถึงฝั่ง มาตรการโควิด-19 ก็ถูกประกาศใช้ Jawed และครอบครัวต้องถูกกักตัวในค่ายผู้ลี้ภัยต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่ได้รู้ว่าก้าวต่อชีวิตจะดำเนินไปในทิศทางไหนเมื่อการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยทั้งหมดหยุดชะงัก

อาเซอร์ไบจาน – การบอกลาที่แสนขมขื่น

“เราเสียเขาไปโดยไม่ได้บอกลา”

Sara กล่าวถึงการจากไปของคุณลุงที่เธอรักเพราะไวรัสโคโรน่า แม่ของ Sara เคยเสียพี่ชายคนแรกไปในเหตุความขัดแย้งเมื่อปี 1990 ตอนนี้พี่ชายอีกคนจากไปเพราะโรคร้าย เธอเล่าให้เราฟังว่าแม่ของเธอเสียใจแค่ไหนที่ไม่มีโอกาสบอกลาพี่ชายทั้งสองคนตามพิธีศพของศาสนาอิสลาม ทุกวันนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดงานศพแบบเป็นทางการไม่สามารถกระทำได้

แบ่งปันบทความนี้