สงครามในซีเรียก้าวผ่านปีที่ 10 ลองจินตนาการณ์เด็กรุ่นใหม่ที่ลืมตาดูโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเติบโตในความขัดแย้งที่เต็มไปด้วยการนองเลือด ความทุกข์ทรมานและขีปนาวุธ มีเด็กมากมายในซีเรียที่ไม่มีแม้แต่โอกาสได้สัมผัสวัยเด็กแบบที่เราเคยรู้จัก
ในขณะที่วิกฤตการณ์ในซีเรียกำลังย่างเข้าสู่ช่วง 2 ทศวรรษ ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) จาก ชาวซีเรีย 1,400 คน อายุระหว่าง 18-25 ปี ทั้งที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศซีเรีย หรือเดินทางลี้ภัยออกมายังประเทศที่สองหรือประเทศที่สามอย่างเลบานอนและเยอรมัน พบว่าประเด็นสำคัญที่หนุ่มสาวพูดถึงด้วยความเป็นห่วง คือเรื่องเศรฐกิจ ชีวิตที่ไร้เป้าหมาย และผลกระทบด้านสภาพจิตใจที่เกิดจากความรุนแรงและสงคราม
“มันเป็นทศวรรษแห่งความสูญเสียที่ร้ายแรงสำหรับชาวซีเรียทุกคน โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยเรื่องราวการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก โอกาส และ แม้แต่อนาคตของตัวเอง การสำรวจนี้จึงเป็นเสมือนหนึ่งภาพจำลองของคนรุ่นหนึ่งที่ต้องสูญเสียช่วงเวลาของการเป็นหนุ่มสาวให้กับความขัดแย้ง” โรเบิร์ต มาร์ดินี่ ผู้อำนวยการ ICRC ประจำนครเจนีวากล่าว
ในประเทศที่มีประชากรอายุต่ำกว่า 25 ปีเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ผลสำรวจนี้จึงสะท้อนให้เห็นความอดทนที่คนนับล้านต้องเผชิญที่ช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
-ในซีเรีย 1 ใน 2 ของคนหนุ่มสาว (ร้อยละ 47) กล่าวว่าญาติหรือเพื่อนถูกสังหารในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง 1 ใน 6 ของคนกลุ่มนี้ (ร้อยละ 16) บอกว่าพ่อหรือแม่ถูกฆ่าหรือบาดเจ็บสาหัส ขณะที่อีกร้อยละ 12 ระบุว่าพวกเขาคือคนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุขัดแย้งที่เกิดขึ้น
– ร้อยละ 54 ไม่สามารถติดต่อกับญาติพี่น้อง ในเลบานอนตัวเลขนี้สูงถึง 7 ใน 10
– ร้อยละ 62 ระบุว่าต้องออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในซีเรียหรือต่างประเทศ
– ร้อยละ 49 สูญเสียรายได้จากเหตุขัดแย้ง และเกือบ 8 ใน 10 (ร้อยละ 77) ต้องเผชิญกับความลำบากในการหาอาหารหรือสิ่งของจำเป็น ในซีเรียตัวเลขนี้สูงถึงเกือบร้อยละ 85
– ร้อยละ 57 ของคนหนุ่มสาวรายงานว่าพวกเขาต้องหยุดเรียน
– 1 ใน 5 รายงานว่าต้องเลื่อนการแต่งงานเพราะสิ่งที่เกิดขึ้น
Taher นักศึกษาแพทย์ในเยอรมันเล่าความหลังให้เราฟัง เขายังจำวันอันสดใส สีครามทะเลสาบ สีแดงของไฟที่ใช้ย่างบาร์บิคิว เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มที่ประทับไว้ในภาพถ่าย ความสุขที่หายไปหลังสงครามเริ่มขึ่นเมื่อ 10 ปีก่อน
“อิดลิบ บ้านเกิดของผมได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งน้ำมันมะกอก ถ้าคุณเดินผ่านใจกลางเมือง คุณจะได้กลิ่นของขนมอบ กลิ่นหอมของใบสะระแหน่ลอยอบอวนมาแต่ไกล ผมยังจำได้ว่าเคยเดินผ่านเมืองในช่วงรอมฎอน ตามหลังพ่อ และมีพี่ชายอยู่ข้างๆ นั่นมันนานมากแล้ว ตอนนี้ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบ้านเกิดของตัวเองมีหน้าตาเป็นอย่างไร”
ในปี 2015 Taher บอกลาซีเรียที่เขารัก สานฝันวัยเด็กที่อยากเป็นหมอตามรอยเท้าพ่อ เขาเข้าเรียนในตุรกี ก่อนย้ายไปศึกษาต่อที่เยอรมัน
“ผมอยากทำตามฝัน แม้มันจะยากเพียงใดก็ตาม”คุณปู่ของ Taher เป็นอายุรแพทย์ พ่อของเขาเป็นศัลยแพทย์ เขาเล่าให้ฟังว่าตัวเองอยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็ก เพราะเห็นพ่อเป็นตัวอย่าง เขาอยากดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคน โดยไม่เลือกว่าคนผู้นั้นเป็นใครมาจากไหน
“ผมนึกถึงผู้คนมากมายที่ลำบากยิ่งกว่าผม คิดถึงพ่อแม่ และเมืองที่จากมา ผมไม่รู้ว่าตอนนี้เมืองของเราหน้าตาเป็นอย่างไร หรือจะมีอนาคตแบบไหนรออยู่ แต่ผมคิดบวกเสมอ เพราะมีความความหวังจึงยังเดินต่อไปได้” Taher ใช้ชีวิตในเยอรมันมานานกว่า 5 ปี นอกจากมุ่งมั่นตั้งใจเรื่องการศึกษา เขายังใช้เวลาที่เหลือเพื่อทำช่องสอนภาษาเยอรมันสำหรับผู้ใช้ภาษาอาราบิกใน YouTube
Ahmad จากบ้านในซีเรียมาอยู่ที่เลบานอนตั้งแต่ปี 2014 เขาเพิ่งอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 และไม่เคยได้เข้าศึกษาต่อหลังจากนั้น Ahmad จำวันสุดท้ายที่โรงเรียนได้ดี – วันที่ 26 พฤศจิกายน 2011
“หนังสือเล่มสุดท้ายที่ผมได้อ่านคือหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 ครูเคยบอกว่าผมเรียนวิชาเลขได้ดี ผมจึงมีความฝันที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและโตไปเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ – มันเป็นความฝันที่ยังไม่เป็นจริง”
10 ปีผ่านไปหลังสงครามและความไม่สงบก่อตัวขึ้นในซีเรีย ก่อนหน้านี้เด็กๆ เกือบ 93% ของประเทศได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คนรุ่นใหม่กว่า 650,000 คน กำลังเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย 10 ปีผ่านไปหลังการศึกษาทั้งหมดโดนจำกัด กว่า 57% ของคนรุ่นใหม่ที่เราลงพื้นที่ไปสำรวจ ไม่ได้ไปโรงเรียนมานานแล้ว หรือไม่ได้เข้าเรียนอีกเลยหลังจากนั้น
“ตอนเด็กๆ เวลาดูข่าวเกี่ยวกับตะวันออกกลาง ฉันเคยถามพ่อว่าถ้าสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในซีเรีย เราจะทำอย่างไร? พ่อตอบสั้นๆ ‘ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีก’”
Iman นักศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในสเปนเริ่มบทสนทนาด้วยข้อความที่พาเราย้อนเวลากลับไปกว่า 10 ปีก่อน ตอนสงครามยังเป็นเรื่องห่างไกลในซีเรีย “ฉันเคยมีชีวิตที่สมบูรณ์ มีงาน มีครอบครัว มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์”
Iman เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษา เธอไม่อยากทิ้งบ้านเกิด แต่พ่อของเธอยืนยัน ชีวิตของลูกสาวจะดีกว่านี้ในประเทศอื่น Iman เดินทางมาศึกษาต่อในเลบานอนก่อนได้รับทุนการศึกษาให้เข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศสเปน “ฉันยังจำกลิ่นของระเบิดได้ดี สงครามยาวนานนี้ไม่ได้กระทบแค่กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะสร้างรอยแผลให้คนทั้งรุ่น”
ไม่เพียงแค่เรียนหนังสือเท่านั้นแต่สิ่งที่ Iman ทำ คือการหางานทำเพื่อส่งเงินกลับบ้าน เธอยังมีความฝันและเชื่อว่าการศึกษาจะสามารถเปลี่ยนอนาคตของเด็กๆ ในซีเรีย “การศึกษาคือของขวัญที่ทรงพลังที่สุด มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ฉันหวังว่าตัวเองจะเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่สามารถนำความรู้กลับไปช่วยเหลือผู้คนมากมาย”
นอกจากเรื่องการศึกษา ผลกระทบยาวนานของสงครามยังทำให้เส้นทางชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนไปจนแทบไม่เหมือนเดิม “เรียนหนังสือ ตั้งใจทำงาน หาสิ่งที่ชอบ และประสบความสำเร็จ ชีวิตเคยขีดเส้นไว้ชัดเจน” Rami เป็นศิลปินอิสระชาวซีเรีย เขาเคยมีเส้นทางชีวิตที่เรียบง่ายแต่ทุกอย่างพังทลายเพราะสงคราม
“แม้แต่ไฟฟ้าและน้ำสะอาดยังเป็นเรื่องยาก พวกเราต้องทนหนาวแทบจะตลอดเวลาในหน้าหนาว ไม่มีอะไรเหลือเลยนอกจากความทุกข์ยาก ผมอยากให้โลกได้รู้จักซีเรียที่แท้จริง ประเทศของเราเต็มไปด้วยวัฒธนธรรม ศิลปะ และประวัติศาสตร์ มันต่างจากที่คุณเห็นผ่านสื่อ ซีเรียไม่ได้มีแค่สงครามกับซากปรักหักพัง มันเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนมากมายที่ใช้ชีวิตอยู่ในนั้น” Rami กล่าว
“ถ้าต้องให้บรรยายความรู้สึกตลอด 10 ปี ในหนึ่งคำ มันคงเป็นคำว่า ‘เหนื่อยใจ’ ฉันหวังว่าสงครามจะไม่เกิดขึ้นอีก” Amina คุณแม่และเจ้าของธุรกิจซ่อมรถจักรยานยนต์ในซีเรียกล่าวถึงภาพจำที่เธอเห็นซ้ำๆ มาตลอด 10 ปี สิ่งที่เธอเสียใจมากที่สุด คือการที่ลูกๆ ไม่มีโอกาสได้สัมผัสวัยเด็กเหมือนคนอื่น
“พวกเขาเติบโตขึ้นในช่วงสงครามที่เต็มไปด้วยการนองเลือด ความทุกข์ทรมานและขีปนาวุธ” Amina ในฐานะคุณแม่ ทำงานเลี้ยงดูครอบครัวด้วยอาชีพที่อาจดูแปลกสำหรับผู้หญิงซีเรียทั่วไป เธอเปิดธุรกิจรับซ่อมรถจักรยานยนต์ “ลูกๆ เคยถูกล้อเรื่องงานของฉัน แต่ในที่สุดทุกคนก็ยอมรับ พวกเขาเรียกฉันว่า Amina สาวมอเตอร์ไซค์ ฉันอยากให้กำลังใจผู้หญิงทุกคนที่มีไอเดียอยากทำธุรกิจ มันไม่มีอะไรน่าอาย ฉันมั่นใจในงานที่ทำเพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด ฉันรักงานนี้และหวังว่ากิจการของเราจะก้าวหน้า”
ผู้หญิงหลายคนในซีเรียต้องผันตัวเองมาเป็นช้างเท้าหน้าด้วยเหตุผลหลากหลาย สำหรับ Fatima คุณแม่ชาวซีเรียอีกท่าน เหตุผลของเธอทำให้เราใจสลาย สามีของเธอหายตัวไปในระหว่างสงคราม ไม่มีใครรู้ชะตากรรม ตอนนั้นเธอตั้งท้องได้ 7 เดือน ลูกชายของเธอไม่เคยได้รู้จักพ่อ Fatima อยู่ตามลำพังกระทั่งแม่ของเธอมารับและพาเธอออกจากซีเรียไปเริ่มต้นใหม่ในเลบานอน
“ตอนฉันมาถึงที่ค่าย มันสะเทือนใจมาก เรามีแค่เต็นท์ นอกนั้นไม่มีอะไรเลย ฉันบอกพวกเขาว่าฉันอยู่แบบนี้ไม่ได้” Fatima กลัวว่าลูกของเธอจะไม่รอดชีวิต เขายังเด็กมาก ในขณะที่ความเป็นอยู่ในค่ายขาดแคลนขัดสน “เราไม่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับหมู่บ้านของเราในซีเรียอีก พวกเราไม่มีสัมภาระติดกาย แต่พอฉันเห็นต้นไม้ มันทำให้ฉันนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ”
เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว Fatima เปิดร้านขายเครื่องสำอาง และร้านทำผม เธอยังเปิดให้เช่าชุดแต่งงานอีกด้วย
“ฉันรักงานของฉัน มันสนุกและทำให้ลืมความเศร้าได้ เหนือสิ่งอื่นใด ฉันมีรายได้เป็นของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร”
แม้ความขัดแย้งในซีเรียจะเป็นความโหดร้ายที่ยากจะลืมเลือน แต่ผลสำรวจของเราก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ คนรุ่นใหม่ของซีเรียไม่เคยยอมแพ้ พวกเขาแข็งแกร่งและพร้อมลุกขึ้นมาด้วยสองขาของตัวเอง เราได้แต่หวังให้ความขัดแย้งยาวนานจบลงเสียที เพื่อให้ชีวิตเหล่านี้ได้กลับบ้าน และพบกับความสงบสุขเช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์มากมายที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน แตกต่างกันแค่พื้นที่