ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ต่อสู้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 กันอย่างหนักหน่วงอยู่นั้น ทั่วโลกก็ให้ความสนใจต่อการพัฒนาคิดค้นวัคซีนไปด้วย และแม้ว่าไวรัสจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศและประชาชนทุกคนโดยไม่แบ่งแยก แต่การควบคุมการแพร่ระบาดในสถานการณ์ที่มีการขัดกันทางอาวุธนั้นถือเป็นความท้าทายที่ไม่เหมือนที่ใด หากเมื่อมีวัคซีนแล้ว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ทุกคน รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตสงคราม จะเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน และภาระผูกพันที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์และสถานอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทางการแพทย์จะเป็นอย่างไรบ้าง ในบทความนี้ อเล็กซานเดอร์ ไบรเท็กเกอร์ ที่ปรึกษากฎหมายของ ICRC จะพาเราวิเคราะห์ถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในกรณีนี้
จวบจนถึงตอนนี้ ก็นับเป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่นักวิจัยทั่วโลกต่างพยายามอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็มีข้อมูลวัคซีนทดลองที่เข้าสู่กระบวนการมากกว่า 170 ชนิด เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันกับเวลาและเป็นเกมแห่งการรอคอยที่เราทุกคนจำต้องเข้าร่วม
เมื่อมีวัคซีนพร้อมใช้งานแล้วนั้น เราจะต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตสุขภาพที่ผ่านมา ซึ่งเราได้เห็นการแย่งชิงการเข้าถึงการรักษาโรคอย่างละโมบโลภมากมาก่อน นับตั้งแต่เอชไอวีไปจนถึงไข้หวัดใหญ่ H5NI ที่เป็นผลทำให้ประเทศที่เปราะบางที่สุด นั่นคือ ประเทศที่อยู่ท่ามกลางการขัดกันทางอาวุธต้องกลายเป็นประเทศท้าย ๆ ที่เข้าถึงวัคซีน นอกจากนี้ เรายังได้เห็นว่า ความกลัว ความเข้าใจผิด และความไม่ไว้วางใจ เช่นที่เกิดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคอีโบลา จะสามารถก่อให้เกิดการตีตราและความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์จนเป็นผลทำให้ภาระด้านระบบการดูแลสุขภาพอันเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่ผู้ให้บริการด้านการแพทย์ต้องแบกรับมีความรุนแรงหนักหน่วงมากขึ้นอย่างไรบ้างด้วย
ในการเอาชนะอุปสรรคความท้าทายเหล่านี้ แม้จะไม่มีแม่แบบต้นตำรับให้ปฏิบัติตาม แต่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ก็ให้คำแนะนำอันสำคัญในด้านการแจกจ่ายและอำนวยการด้านวัคซีน COVID-19 ในอนาคตที่จะมาถึงแก่ภาคีคู่พิพาทหรือฝ่ายในการสู้รบที่เราไม่ควรมองข้าม เพื่อให้แน่ใจว่า ประชากรที่ได้รับผลกระทบจะสามารถเข้าถึงวัคซีนโดยปราศจากการแบ่งแยก และเพื่อปกป้องคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ที่อำนวยการด้านวัคซีนด้วย
การให้วัคซีนแก่ผู้คนโดยปราศจากการแบ่งแยก: ภาระผูกพันทางกฎหมาย
โดยทั่วไปแล้ว ภายใต้สิทธิด้านสุขภาพนั้น รัฐมีภาระหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นในการป้องกัน รักษา และควบคุมโรคระบาด และดำเนินการเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของตนได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ รวมถึงจัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อที่สำคัญจำเป็นด้วย
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในสถานการณ์ของการขัดกันทางอาวุธกล่าวถึงพันธกรณีเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคติดต่อและโรคระบาดต่อคนบางกลุ่มและในบางสถานการณ์ โดยกฎที่ใช้ควบคุมการคุมขังกำหนดให้รัฐหรือประเทศผู้ควบคุมตัวสมาชิกกองกำลังติดอาวุธหรือฝ่ายตรงข้ามจะต้องปกป้องรักษาสุขภาพและสุขอนามัยของผู้ถูกคุมขังเนื่องจากเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ตนจะต้องรับประกันให้แก่บุคคลที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ [1] ตัวอย่างเช่น อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ข้อ 29 ระบุว่า รัฐหรือประเทศผู้มีอำนาจในการคุมขังจะต้องใช้มาตรการด้านสุขอนามัยที่จำเป็นทั้งหมดในการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดในค่ายเชลยศึก ซึ่งรวมถึงการฉีดวัคซีนเนื่องจากจำเป็นจะต้องป้องกันหรือควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อไม่ให้เกิดขึ้นเพิ่มเติม [2]
ในสถานการณ์ที่มีการยึดครองอาณาเขตนั้น ภายใต้มาตรา 56 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ระบุไว้ว่า รัฐหรือประเทศที่เข้ายึดครองมีภาระผูกพันที่จะต้องรับประกันและรักษาซึ่งสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนในดินแดนที่ถูกยึดครอง โดยจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานระดับชาติและท้องถิ่นในการดำเนินการ โดยรัฐหรือประเทศที่ยึดครองจะต้องใช้ “มาตรการป้องกันที่จำเป็นเพื่อต่อสู้กับการแพร่กระจายของโรคติดต่อและโรคระบาด” ซึ่งมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยการแจกจ่ายยาและวัคซีน การจัดตั้งคลังเวชภัณฑ์ (รวมทั้งวัคซีน) หรือการส่งทีมแพทย์ไปฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค [3]
ภาระผูกพันเหล่านี้ ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้วนั้น จะต้องมีการดำเนินการโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่าง กล่าวคือ การแบ่งแยกความแตกต่างในเหตุอื่นใดที่อยู่นอกเหนือจากข้อควรพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพนั่นเอง โดยข้อควรพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอาจต้องมีการให้ความสำคัญด้านการรักษาหรือแม้กระทั่งการให้การรักษาที่แตกต่างออกไปเพื่อให้การรักษาในทางปฏิบัตินั้นมีความเท่าเทียมกัน [4] ซึ่งหมายถึงการจัดลำดับความสำคัญของการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่อาจมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วม หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเอง นอกจากนี้ภาระผูกพันยังกำหนดให้รัฐจะต้องดำเนินมาตรการเชิงบวกอันจำเพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการเข้าถึงแผนงานการฉีดวัคซีน รวมถึงเด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนพิการด้วย
บุคลากรและสถานอำนวยความสะดวกทางการแพทย์: ได้รับการคุ้มครองภายใต้ IHL
ในช่วงที่โควิด -19 ระบาดอย่างหนักนั้น บุคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้บริการทางการแพทย์หลายคนต้องประสบกับการถูกตีตรา ซึ่งบางครั้งส่งผลทำให้พวกเขาถูกโจมตี คุกคาม รวมถึงข่มขู่โดยพลเรือนและผู้ถืออาวุธ
ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้น บุคลากรทางการแพทย์ สถานอำนวยความสะดวกและการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง การแจกจ่าย หรือการอำนวยการด้านวัคซีนจะได้รับการคุ้มครองเป็นการเฉพาะหากหน่วยงานที่มีอำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งมอบหมายให้ดำเนินงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อย่างน้อยหนึ่งอย่าง ซึ่งการคุ้มครองเป็นการเฉพาะหมายความว่า 1) พวกเขาจะต้องได้รับการเคารพและคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา (เว้นแต่พวกเขาจะกระทำหรือถูกใช้เพื่อกระทำการที่เป็นอันตรายต่อศัตรูนอกเหนือจากหน้าที่ด้านมนุษยธรรมของตน) 2) พวกเขามีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายกาชาด เครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดง หรือเครื่องหมายคริสตัลสีแดง และ 3) การสูญเสียซึ่งการคุ้มครองเป็นการเฉพาะจะมีผลก็ต่อเมื่อไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือนเท่านั้น
การฉีดวัคซีนถือเป็นกิจกรรมทางการแพทย์ที่ได้รับการคุ้มครอง
นอกเหนือจากการค้นหา การรวบรวม การขนส่ง การวินิจฉัย และการรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยแล้ว กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังรับรองให้ “การป้องกันโรค” เป็นวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน [5] ซึ่งรวมถึงการให้วัคซีนด้วย แม้ว่าดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชากรพลเรือน พลรบ หรือนักรบที่มีสุขภาพดีนอกเหนือจากผู้ที่ล้มป่วยอยู่แล้วก็ตาม
บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นพลเรือนหรือทหารที่ได้รับมอบหมายให้ฉีดซีนแก่ผู้คนเป็นการพิเศษและเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อื่น ๆ จะต้องได้รับการคุ้มครองเป็นการเฉพาะ เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับมอบหมายให้อำนวยการดูแลสถานพยาบาลและการดำเนินการ รวมทั้งการบริหารการขนส่งทางการแพทย์ด้วย สำหรับสถานพยาบาลนั้น พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ข้อ 8 (e) ได้ระบุคำจำกัดความซึ่งครอบคลุม “ศูนย์และสถาบันเพื่อการป้องกันโรค” ไว้ด้วย เช่น ศูนย์การดูแลสุขภาพพื้นฐานที่ให้บริการด้านการป้องกันโรค และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศูนย์ฉีดวัคซีน” [6] ที่ร่วมป้องกันหรือกักกันการระบาดของโรค นอกจากนี้ “คลังยา” และ “ร้านขายยา” ของหน่วยการแพทย์ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานพยาบาลเช่นเดียวกับสถานที่เก็บเวชภัณฑ์รวมทั้งวัคซีน หรือได้จากสถานพยาบาลที่สามารถจัดหาเวชภัณฑ์ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังกล่าวด้วยว่า สถานอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย การทดลอง และการผลิตวัคซีนอาจเข้าข่ายมีคุณสมบัติเป็นสถานพยาบาล[7] และประการสุดท้ายคือ เครื่องบิน เรือ หรือยานพาหนะที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งบุคลากรทางการแพทย์เป็นพิเศษ รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในการป้องกันโรคและ/หรือเวชภัณฑ์ที่ให้บริการทางการแพทย์เชิงป้องกัน เช่น วัคซีน จะถือว่าเป็นการขนส่งทางการแพทย์
เคารพและปกป้องบุคลากรและวัตถุทางการแพทย์
การ “เคารพ” หมายถึงการไม่โจมตีบุคคลหรือวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยการด้านวัคซีนและการไม่คุกคาม ก่อกวน หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลหรือวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยการด้านวัคซีน ข้อห้ามนี้ไม่ได้ห้ามการตรวจสอบโดยฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งว่าบุคคลดังกล่าวมีส่วนร่วมในกิจกรรมการป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีน ด้วยการเข้าไปในสถานพยาบาลพร้อมอาวุธหรือตามจุดตรวจของทหาร ตราบใดที่มีการทำให้กิจกรรมทางการแพทย์หยุดชะงักหรือล่าช้าน้อยที่สุด
ในการ “คุ้มครองปกป้อง” นั้น จะต้องมีการใช้มาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การช่วยเหลืออย่างแข็งขันในการส่งมอบเวชภัณฑ์รวมถึงวัคซีนและในการป้องกันไม่ให้บุคลากรและวัตถุสิ่งของทางการแพทย์ได้รับอันตราย นอกจากนี้ จะต้องมีการใช้มาตรการที่เป็นไปได้เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความเคารพ รวมถึงความเคารพจากบุคคลที่สาม เช่น พลเรือนที่อาจโจมตีหรือคุกคามบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน [8]
กิจกรรมด้านการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องกับจริยธรรมทางการแพทย์ได้รับการคุ้มครองเช่นกัน
ไม่ว่าพวกเขาจะมีคุณสมบัติสมควรได้รับการคุ้มครองเป็นการเฉพาะในฐานะบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ก็ตาม แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็มิอาจถูกบังคับให้กระทำการอันขัดต่อจริยธรรมทางการแพทย์หรือถูกคุกคาม ข่มขู่ หรือถูกลงโทษเนื่องจากการปฏิบัติกิจกรรมทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับจริยธรรมทางการแพทย์รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน[9] จริยธรรรมทางการแพทย์หมายความรวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเพื่อให้บริการด้านการดูแลสุขภาพอย่างดีที่สุด ด้วยการให้การดูแลสุขภาพโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติและเมื่อใดก็ตามที่จะกระทำได้ โดยจะต้องได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งจากผู้เข้ารับบริการหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือมีการปฏิบัติตามมาตรการรักษาความลับทางการแพทย์ เว้นแต่จะมีการข่มขู่คุกคามอันตรายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพไม่อาจถูกบังคับให้ละเว้นจากการฉีดวัคซีนให้แก่สมาชิกประชากรที่ได้รับผลกระทบบางคนอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความขัดแย้งหรือถูกลงโทษจากสาเหตุดังกล่าว
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการคือ บุคลากรด้านสุขภาพจะต้องไม่ละเมิดหน้าที่ทางจริยธรรม เช่น การเปิดเผยตัวตนของผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสต่อสาธารณะ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนอาจต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เป็นผลจากการตีตราที่มาพร้อมกับ COVID-19
เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมมีความเอื้ออำนวยที่บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติหน้าที่ได้โดยปราศจากการถูกโจมตี คุกคาม หรือแทรกแซงหน้าที่ทางจริยธรรมของตน และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจในบทบาทและการได้รับการยอมรับจากประชากรนั้น ข้อมูลที่ถูกต้องและการขจัดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีนและบทบาทของบุคลากรและวัตถุสิ่งของทางการแพทย์จึงมีความสำคัญ ซึ่งในการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ การสื่อสารเชิงรุกมากขึ้นอาจช่วยต่อต้านการตีตราบุคลากรและสถานอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ ตลอดจนความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อพวกเขาได้เป็นอย่างดี
การประกันให้ผู้คนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งสามารถเข้าถึงวัคซีน
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะต้องเป็นข้อควรพิจารณาแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ประชากรที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงวัคซีน COVID-19 ในอนาคตได้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธ ในกรณีที่รัฐที่ได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธไม่สามารถรับรองความต้องการขั้นพื้นฐาน รวมถึงความต้องการทางการแพทย์ที่เกิดจาก COVID-19 ของประชากรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตน รัฐจะต้องให้ความยินยอมตามข้อเสนอขององค์กรด้านมนุษยธรรมที่ยึดมั่นปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในการดำเนินกิจกรรมด้านมนุษยธรรม รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน รวมทั้งลดข้อจำกัดต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ด้วย [10]
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังให้กรอบการคุ้มครองบุคลากรและสถานอำนวยความสะดวกด้านการดูแลสุขภาพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการฉีดวัคซีนอย่างละเอียดชัดเจนด้วย บรรดาคู่พิพาทจะต้องจัดการกับการตีตราเกี่ยวกับ COVID-19 และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโดยปราศจากอุปสรรคอันเกินควร
เนื่องจากประเทศร่ำรวยหลายประเทศมีการทำข้อตกลงจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้ปริมาณวัคซีนที่มีอยู่มีจำกัด ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีในการอำนวยความสะดวกด้านการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน โดยในสถานการณ์ของการขัดกันทางอาวุธนั้น กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยประกันว่า ผู้คนในบรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งจะได้รับวัคซีนเช่นกัน
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
- Rachel Coghlan, Palliative care, COVID-19 and humanitarian action: it’s time to talk., July 2, 2020
- Call by global leaders: work together now to stop cyberattacks on the healthcare sector, May 26, 2020
- Cordula Droege, COVID-19 response in conflict zones hinges on respect for international humanitarian law, April 16, 2020
[1] Art. 29 GCIII; Art. 85 GCIV; Art. 5(1)(b) APII; Rule 121 customary IHL
[2] 2020 commentary on Art. 29 GCIII, para. 2197; 1960 commentary on Art. 29 GCIII, pp. 206-207].
[3] See also Art. 55 GCIV on more general obligations of Occupying Powers related to ensuring medical supplies.
[4] See for instance, Art. 12(4) GCI; Art. 16 GCIII; Art. 27(3) GCIV)
[5] Art. 24 GCI; Art. 8 (e) API, commentaries to rules 25, 28, 29 CIHL
[6] Commentary on Art. 8(e) API, para. 376]
[7] Second Statement on International Law Protections of the Healthcare Sector During Covid-19: Safeguarding Vaccine Research.
[8] See, for instance, Commentary on Art. 19 GCI, para. 1805].
[9] Art. 18(3) GCI ; Art. 16 API; Art. 10 APII, and associated commentary, para. 4687; Rule 26, Customary IHL Study.
[10] See also ICRC, IHL Rules on Humanitarian Access and COVID-19.