การแข่งขันว่าความศาลจำลองเป็นอย่างไรในสถานการณ์โควิด? คุยกับสามตัวแทนประเทศไทยผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์

บทความ / บล็อค

การแข่งขันว่าความศาลจำลองเป็นอย่างไรในสถานการณ์โควิด? คุยกับสามตัวแทนประเทศไทยผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์

“โล่ปกป้องผู้คนในยามสงคราม”, “ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการในช่วงเวลาที่จำเป็นมากที่สุด”, “กฏขั้นต่ำที่ทำให้รู้ว่าแม้ในยามยากลำบาก มนุษยชาติยังได้รับการปกป้อง” หลากหลายคำจำกัดความที่เราอาจนึกเมื่อพูดถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า IHL) ทุกปี ICRC จัดการแข่งขันว่าความศาลจำลอง เพื่อมองหาตัวแทนประเทศไทยเข้าทำการแข่งขันในระดับเอเชีย-แปซิฟิก กฎหมายที่อาจฟังดูไกลตัว ได้รับการตีความและนำมาถกเถียงกันผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นตัวแทนนักเรียนกฎหมายจากนานาชาติ

ในการแข่งขันประจำปี  2020 ที่เพิ่งผ่านมา แม้จะประสบความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ตัวแทนประเทศไทยก็ทำผลงานได้น่าประทับใจ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการแข่งขันแบบออนไลน์ที่ไม่เคยจัดขึ้นมาก่อน ท่ามกลางสถานการณ์ lockdown ทั่วโลก และในการแข่งขันแบบ social distancing ตัวแทนประเทศไทยใช้แรงใจแบบไหนในการสร้างประวัติศาสตร์? สุพิชญา พูลลาภ (ออคิดส์) รวลิน สัจจเดช (เลิฟ) พราวรวี มัญชูศรี (พราว) สามตัวแทนประเทศไทยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาแชร์ประสบการณ์ที่ผ่านมาให้เราฟังกันอย่างละเอียด

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในประเทศไทย อะไรทำให้ ตัดสินใจสมัครร่วมแข่งขันรายการนี้

เลิฟ: เริ่มจากการที่เราเข้าไปฟัง IHL workshop ส่วนตัวเราเป็นคนสนใจในประเด็นเกี่ยวกับ Human Rights เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอมาฟังก็รู้สึกว่ากฎหมายเกี่ยวกับมนุษยธรรมก็มีความสำคัญและน่าสนใจ เลยตัดสินใจชวนเพื่อนๆ มาสมัครร่วมการแข่งขัน

พราว: อีกเหตุผลหนึ่งที่เราตัดสินใจมาแข่งรายการนี้เพราะพี่ๆ บอกว่ารายการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับมือใหม่ คือมีข้อมูลค่อนข้างมากและสามารถเข้าถึงได้ง่าย

ออคิดส์: ตอนนั้นพวกเราเพิ่งเข้าเรียนปีหนึ่งได้แค่อาทิตย์เดียว ก็ไปแข่งเลย พอผลออกมาว่าพวกเราได้เป็นตัวแทนประเทศไทยถือว่าเกินคาด เพราะเราเพิ่งเรียนกฎหมายมาได้อาทิตย์เดียว ส่วนมากข้อมูลที่เราเอามาใช้แข่งเลยเป็นเคสเมทริกซ์ต่างๆ ต้องขอบคุณรุ่นพี่ของ TU Moot society ที่คอยช่วยเหลือพวกเราตอนที่ยังไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับการแข่งขันว่าความศาลจำลอง

เห็นน้องๆ บอกว่าข้อมูลหาไม่ยาก แต่การไปแข่งจริงยากกว่าที่คิดมั้ย

พราว: มันจะมีบางส่วนที่ไม่มีข้อมูลรวบรวมไว้ให้ ซึ่งเป็นความท้าทายของเราเหมือนกัน

เลิฟ: ยกตัวอย่างเช่นตอนไปแข่งจริงๆ มีประเด็นที่ใหม่มากอย่างเรื่อง cyber attack ที่ยังไม่ได้มีเคสตัดสินออกมาเป็นข้อมูลให้อ้างอิง อันนี้เราก็ต้องไปอ่านเอกสารงานวิชาการอื่นๆ มาประกอบ พอเราใช้เคสไม่ได้ ก็ต้องอาศัยการตีความจากข้อกฎหมายและหลักการเหตุผลของ IHL เป็นหลัก ถึงจะสามารถนำข้อกฎหมายมาประยุกต์ใช้ในกรณีต่างๆ

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้รูปแบบของสงครามเปลี่ยนไป คิดว่า IHL ที่เป็นกฎหมายเก่ายังก้าวทันโลกปัจจุบันอยู่มั้ย

เลิฟ: คิดว่ายังใช้ได้นะคะ โดยหลักการของ IHL มันไม่ล้าสมัยและออกจะร่วมสมัยด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าการต่อสู้จะใช้เทคโนโลยีแบบไหน สงครามก็ต้องมีขอบเขต พูดง่ายๆ คือวิธีการไม่ได้สำคัญเท่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำสงคราม ซึ่ง IHL ให้ความสำคัญกับจุดนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้อีกมาก

ออคิดส์: แค่ว่าเราอาจจะไม่มีเคสตัวอย่างให้เห็นมากกว่าค่ะ เช่นการใช้โดรนโจมตีก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีในยุคก่อน แต่ถ้าเรามองจากมุมกฎหมายมนุษยธรรม มันก็มีข้อกำหนดที่สามารถนำมาปรับใช้ได้เหมือนกัน

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราไม่ได้ไปแข่งจริงที่ฮ่องกงแต่ต้องมาแข่งออนไลน์ อยากทราบว่าข้อจำกัดนี้ถือเป็นข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน

พราว: ถ้าพูดตรงๆ การแข่งออนไลน์ถือว่าช่วยทีมเรา เพราะถ้าเทียบกับทีมอื่นๆ ทีมของพวกเรายังไม่มีประสบการณ์ทำให้อาจจะพูดแถลงการไม่เก่งมาก แต่จุดแข็งของเราคือสามารถเขียนคำร้องกับคำให้การได้ดี เลยสามารถชนะมาถึงตรงนี้ คิดว่าเป็นผลประโยชน์มากกว่า

ออคิดส์: เพราะว่ารอบแข่งระดับประเทศเมื่อปีที่แล้วทีมเราได้รางวัลยอดเยี่ยมจากทั้งฝั่งคำร้องและคำให้การ ดังนั้นการเขียนจึงเป็นจุดแข็งของพวกเรา ด้วยความที่แข่งออนไลน์ไม่มีการแถลงการด้วยวาจา แต่เป็นการเขียนโต้ตอบโดยให้เวลา 48 ชั่วโมงแทน เหมือนเป็นความโชคดีในความโชคร้ายเพราะทีมเราก็แอบเสียดายที่ไม่ได้ไปแข่งจริงที่ฮ่องกงเหมือนปีก่อนๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมไทยทำผลงานได้ดีสุดแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย

ไม่มีการแถลงการด้วยวาจา แสดงว่าการแข่งปีนี้พิเศษกว่าปีก่อนๆ

ออคิดส์: ใช่ค่ะ รอบแรกเป็นการเขียนคำร้องกับคำให้การจำนวน 4000 คำ จากนั้นคัดเหลือสี่ทีมสุดท้ายไปแข่งต่อ ซึ่งมันตัดเยอะมาก ประมาณ 20 กว่าประเทศ รอบสี่ทีมสุดท้ายเขาจะนำคะแนนมาเรียงกัน ให้ทีมที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งแข่งกับทีมที่ได้คะแนนเป็นอันดับสี่ ทีมเราทำคะแนนรอบแรกมาเป็นอันดับสามเลยได้แข่งกับทีมอันดับสองคืออินเดีย

เลิฟ: ที่มันยากหน่อยคืออินเดียที่ได้คะแนนมากกว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นฝ่ายอัยการหรือฝ่ายจำเลย สรุปว่าทางอินเดียเลือกว่าจะเป็นฝ่ายจำเลย เราต้องรอเขาเขียนคำให้การส่งมาก่อนในเวลา 48 ชั่วโมง จากนั้นทีมเราที่เป็นฝ่ายอัยการถึงค่อยเขียนโต้ตอบกลับไปโดยได้เวลา 48 ชั่วโมงเท่ากัน จริงๆ ก็คล้ายแถลงการณ์ด้วยวาจาแต่เป็นการเขียนโต้ตอบแทน

ในฐานะที่ทีมเราทำผลงานได้ดีสุดในประวัติศาสตร์ อยากทราบว่าส่วนตัวชอบอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับ IHL

พราว: อาจจะไม่ค่อยเป็นเนื้อกฎหมายมาก แต่ชอบความมีระบบของตัวกฎหมาย อย่างที่เราทำคือขึ้นศาลอาชญากรสงคราม มันค่อนข้างชัดเจนว่าเราต้องมีหลักฐานพิสูจน์อะไรบ้าง รู้สึกว่ามันจับต้องได้ ต่างจากกฎหมายระหว่างประเทศตัวอื่นๆ

ออคิดส์: ด้วยความที่ IHL ใช้ในยามขัดกันทางอาวุธ ทำให้เราสนใจสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในโลกใบนี้ เราอาจจะคิดว่ามันไกลตัว แต่พอมาทำเรื่องนี้ก็รู้สึกว่าเรื่องต่างๆ ในโลกมันใกล้ตัวกว่าที่คิด

พราว: พอเราได้มาทำจริงๆ เราได้เห็นเคสต่างๆ เช่นคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ถึงได้มารู้ว่าในโลกเคยมีคดีร้ายแรงขนาดนี้ ทำให้เราตระหนักกับเรื่องรอบๆ ตัวมากขึ้น

เลิฟ: ก่อนหน้านี้เคยคิดว่ามีแต่เรื่องที่ถูกกับผิด แต่ IHL บอกว่าบางอย่างที่เหมือนจะผิดแต่มันอาจจะมีเหตุผลของมันในยามสงคราม เพราะเราต้องสวมบทบาทเป็นทั้งฝ่ายอัยการและจำเลยตอนแรกเราเห็นเนื้อความในคดีก็คิดว่า เราจะไปหาเหตุผลมาโต้ให้ฝ่ายจำเลยได้ยังไง ก็ในเมื่อเขาทำให้คนตายมากมายขนาดนี้ แต่พอเราได้มาทำการศึกษากฎหมายตัวนี้มากขึ้น เราถึงได้เห็นว่า ด้วยความที่มันเป็นกฎหมายที่ใช้ในยามสงคราม ดังนั้นถ้ามันมีความจำเป็นในการรบหรือมันเป็นไปตามหลักสัดส่วน สามารถให้เหตุผลได้ เช่น เราทำสิ่งนี้ด้วยเหตุผลทางความจำเป็นเพื่อช่วยเหลือคนจำนวนมากกว่าหรือบางอย่างเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้จริงๆ เช่นเราจำเป็นต้องตัดไฟตรงนี้ แต่เราไม่รู้ว่ามันจะไปกระทบทั้ง power plan ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เมื่อก่อนเราคิดว่าการฆ่าคนแค่หนึ่งคนยังไงก็คือความผิด แต่พอมาทำคดีเกี่ยวกับสงคราม แนวคิดขาวกับดำก็หายไป เรามีความคิดที่อิงกับความเป็นจริงมากขึ้น เกิดเป็นพื้นที่สีเทาที่ทำให้เรามองโลกต่างไปจากเดิม

ทุกวันนี้กฎหมายมนุษยธรรมก็ยังไม่เป็นที่รู้จัก ส่วนตัวคิดว่าทำไมคนทั่วไปถึงควรทำความเข้าใจกับกฎหมายตัวนี้

ออคิดส์: มันอาจจะฟังดูน่าเบื่อ แต่ IHL เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์จริงๆ  การศึกษากฎหมายทำให้เราได้มองคุณค่าของชีวิตมนุษย์ในมุมที่ต่างกันไปได้ จริงๆ มันสำคัญกับมนุษยชาติมาก

เลิฟ: เวลาที่เรานั่งอยู่ในบ้าน มันอาจจะเป็นเรื่องยากที่ต้องนึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในยามสงคราม แม้แต่ข่าวก็ไม่สามารถพาเราเข้าไปใกล้ความจริงได้ขนาดนั้น แต่การศึกษา IHL ทำให้เราได้มองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ในมุมใกล้ เหมือนว่าเราได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริง ได้เห็นตัวเราเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

พราว: IHL ใกล้ตัวกว่าที่คิด ถ้าในอนาคตเกิดสงคราม กฎหมายตัวนี้จะสำคัญมาก ถ้าพวกเราทุกคนมีความรู้พื้นฐานว่า IHL คืออะไร มีสิ่งไหนที่ทำไม่ได้ในยามสงคราม เราจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับมนุษยชาติได้อีกมากมาย

แบ่งปันบทความนี้