ประวัติศาสตร์โลกเต็มไปด้วยเรื่องราวของการพลัดถิ่น จะด้วยเหตุผลทางการเมือง สงคราม หรือศาสนา ปฎิเสธไม่ได้ว่าโลกที่เราเห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากการแต่งแต้มสีสันของผู้คนจากหลายวัฒนธรรมที่พบปะสังสรรค์ผ่านการย้ายถิ่นฐานมายาวนานหลายศตวรรษ
แนวความคิดเรื่องผู้ลี้ภัยเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่?
ความคิดที่ว่า มนุษย์เราควรให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อหรือผู้ที่กำลังอยู่ในอันตรายสามารถสืบย้อนกลับไปได้ไกลตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ในสมัยนั้น มีการพูดเรื่องสิทธิในการมอบที่ลี้ภัย (asylum) แก่ผู้เดือดร้อน แนวคิดนี้ถูกใช้ต่อมาโดยชาวโรมัน ก่อนชาวคริสต์ ชาวฮีบรู และชาวอิสลาม จะนำแนวคิดนี้มาบรรจุในวัฒนธรรมของตน จนเกิดเป็นเรื่องเล่าในศาสนาอย่างการอพยพของโมเสสที่พาชาวฮีบรูออกจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ไปยังแผ่นดินแห่งพันธสัญญา หรือเรื่องราวการเดินทางของนบีมุฮัมมัดและผู้ติดตามจากเมกกะไปยังเมดินะในวัฒนธรรมอิสลาม
แนวคิดนี้ถูกนำมาบัญญัติแบบเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกโดย Hugo Grotius (1583–1645) นักปรัชญาและบรมครูทางกฎหมายคนสำคัญของเนเธอร์แลนด์ ตัวเขาถูกเนรเทศไปปารีสและได้พบเห็นขบวนผู้อพยพจำนวนมากที่ต้องลี้ภัยเพราะความขัดแย้งทางศาสนา (ยกตัวอย่างเช่นชาวยิวและมุสลิมที่ต้องออกจากสเปน, ชาวคาทอลิกออกจากอังกฤษ และชาวโปรเตสแตนต์ออกจากฝรั่งเศส) เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม Grotius ได้แต่งตำรากฎหมายซึ่งถือกันว่าเป็นตำราชั้นครูชื่อ Jure Belli ac Pacis (On the Law of War and Peace – เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยสงครามและสันติภาพ) โดยระบุว่า
‘ชาวต่างชาติที่ถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐานควรได้รับการช่วยเหลือเรื่องที่พักอาศัยหากพวกเขาร้องขอและยินดีที่จะปฎิบัติตามข้อกำหนดของรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็น’
แนวคิดนี้ภายหลังพัฒนามาเป็นข้อกำหนดในระดับนานาชาติ ว่าด้วยการปกป้องผู้ลี้ภัย ซึ่งคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ ในที่นี้ ก็มีที่มาจากคำในภาษาละตินว่า fugere หมายถึง การหลบหนี (to flee)
ในยุคหลังการปฎิวัติฝรั่งเศส มีการระบุใน French Constitution of 1793 ว่าด้วยการให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยกล่าวว่า ชาวฝรั่งเศสจะมอบที่พักพิง (asylum) ให้กับชาวต่างประเทศที่ ‘ต้องการลี้ภัยเพื่ออิสระภาพ’ ทำให้ฝรั่งเศสเป็นจุดหมายปลายทางของนักคิดและผู้มีอิทธิพลทางความคิดหลายท่านตั้งแต่นั้นมา ทั้ง Victor Hugo, Karl Marx และ Chopin ก็เคยอาศัยประเทศฝรั่งเศสเป็นที่มั่นมาแล้ว
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุด คือเหตุการณ์ที่สะท้านโลกอย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงปี 1914-1918 สงครามโลกไม่เพียงพรากชีวิตและสร้างความเสียหายไปทั่วยุโรป แต่ยังส่งผลให้ผู้คนหลายล้านกลายเป็นคนไร้รัฐ ( stateless persons) เพื่อรองรับการเดินทางของผู้ลี้ภัย จึงมีการออก Nansen passport เพื่อเป็นหนังสือเดินทางให้ผู้คนเหล่านี้ แรกเริ่มเดิมที่ Nansen passport ถูกออกให้กับกลุ่มรัสเซียขาว (White Russian) หรือกลุ่มนิยมพระเจ้าซาร์ที่ถูกขับไล่โดยคณะปฎิวัติของเลนนิน ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง งานด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามเริ่มเป็นที่สนใจกันอย่างแพร่หลาย และยังถูกใช้เพื่อนจุดประสงค์ด้านการโฆษณาโจมตีคู่สงครามอีกด้วย
สงครามโลกครั้งที่ 2 ในอีก 20 ปีต่อมา กลายเป็นหมุดหมายสำคัญให้กฎหมายและนโยบายรองรับผู้ลี้ภัยที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ในช่วงสงคราม มีชาวยุโรปเคลื่อนตัวไปมาเพื่อหนีไฟสงครามอยู่ตลอด กระทั่งสงครามสงบ ชาวเยอรมันที่ขอลี้ภัยหลังการล่มสลายของพรรคนาซีก็เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
แต่กว่ามาตรการและข้อกำหนดเพื่อปกป้องผู้ลี้ภัยจะถูกพัฒนาจนมีหน้าตาแบบปัจจุบัน ก็ต้องรอกระทั่งปี 1951 (พ.ศ. 2494) เมื่อมีการเริ่มใช้อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสถานภาพของผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นเอกสารทางกฎหมายที่สำคัญในการตัดสินว่าใครคือผู้ลี้ภัย สิทธิของผู้ลี้ภัยและหน้าที่ของรัฐต่อผู้ลี้ภัยมีอะไรบ้าง
โดยมีการกำหนดนิยามของผู้ลี้ภัยไว้ว่า
‘บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง’
แปลจากบทความต้นฉบับ MIGRATION AND DISPLACEMENT: HUMANITY WITH ITS BACK TO THE WALL โดย Vincent Bernard