เมื่อมองไม่เห็น ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจหรือไม่? ว่าด้วยเรื่องกลุ่มคนข้ามเพศในภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม

บทความ / บล็อค

เมื่อมองไม่เห็น ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจหรือไม่? ว่าด้วยเรื่องกลุ่มคนข้ามเพศในภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม

คนข้ามเพศและคนอื่น ๆ ในกลุ่มชนกลุ่มน้อยทางเพศภาวะและเพศสรีระทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการถูกกระทำความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติมากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม เช่น วิกฤตความขัดแย้ง ภัยพิบัติ และการอพยพย้ายถิ่นขนานใหญ่ มีแนวโน้มทำให้ภาวะความเปราะบางที่คนข้ามเพศจำต้องเผชิญนั้นขยายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แต่ทว่าอัตลักษณ์ทางตัวตน ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้พวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อในตอนแรกนั้น ก็ยังคงเป็นสิ่งที่กีดกันไม่ให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันสนับสนุนสิทธิของกลุ่มคนข้ามเพศสากล (International Day of Transgender Visibility) บทความฉบับนี้จึงวิเคราะห์ถึงสาเหตุต่าง ๆ ว่าทำไมในวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ผ่านมานั้น ความต้องการจำเพาะของคนข้ามเพศถึงถูกละเลย และจะต้องทำอย่างไรเพื่อจัดการกับการละเลยดังกล่าวนี้

เมื่อปี 2018 ร็อกซานา เออร์นานเดส (Roxsana Hernandez) ผู้หญิงข้ามเพศจากประเทศฮอนดูรัส อายุ 33 ปี เสียชีวิตขณะอยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและการบังคับใช้กฎหมายศุลกากรสหรัฐอเมริกา (ICE) เมืองอัลบูเคอร์คี มลรัฐนิวเม็กซิโก โดยร็อกซานาได้ยื่นขอสิทธิลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับผู้หญิงข้ามเพศคนอื่น ๆ จากทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ด้วยหวังว่าการลี้ภัยจะช่วยให้เธอมีชีวิตและการดำรงชีพที่ดีขึ้น โดยร็อกซานาเคยประสบกับการถูกคุกคาม กระทำความรุนแรง และการถูกเลือกปฏิบัติในประเทศบ้านเกิดของตน และหวาดกลัวการถูกกดขี่ข่มเหงดังกล่าวต่อไปเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศสภาวะของเธอ

นักรณรงค์กล่าวว่า ร็อกซานาไม่ได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์อย่างเพียงพอในช่วงเวลาที่เธอถูกควบคุมตัว ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ผลการตรวจสอบจริยธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของร็อกซานา พบว่า เธอถูกย้ายจากศูนย์กักกันตัวไปยังศูนย์กักกันตัวอีกแห่ง แม้ว่าในขณะนั้นเธอจะแสดงอาการไม่สบายอย่างเห็นได้ชัด และยารักษาตามใบสั่งแพทย์ รวมทั้งเวชระเบียนของเธอก็หายไป โดยได้มีการประเมินสภาพร่างกายของเธอ พบว่าเธอมีอาการเจ็บป่วยอยู่หลายครั้งก่อนที่จะได้รับการดูแลรักษาในระดับที่เหมาะสม ร็อกซานาเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเอชไอวีประมาณ 2 สัปดาห์หลังเดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกา ประเทศปลายทางที่เธอเฝ้าฝันเป็นที่หลบลี้ภัย

อันตรายที่คนข้ามเพศต้องเผชิญขณะนี้

ในหลายประเทศ คนข้ามเพศมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับอันตรายต่าง ๆ แบบเดียวกับที่ร็อกซานาเผชิญที่ประเทศฮอนดูรัสมากกว่าคนกลุ่มอื่น การตีตราทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งระบอบการปกครองที่เป็นปรปักษ์ต่อเรื่องนี้มักจะประมวลไว้ในกฎหมาย คือสิ่งที่คอยกีดกันกลุ่มคนเหล่านี้ บ่อยครั้งคนข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติและปฏิเสธการเข้าถึงบริการด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา การจ้างงาน และการดูแลรักษาด้านสุขภาพ โดยการกระทำความรุนแรง รวมถึงความรุนแรงทางเพศ ที่เกิดขึ้นต่อคนข้ามเพศเป็นเรื่องที่พบเห็นอยู่ทั่วไป และมักมีการเชื่อกันว่า ผู้หญิงที่เป็นคนข้ามเพศมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนทั่วไปถึง 49 เท่าด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าคนข้ามเพศจะได้รับผลกระทบจากข้อความกังวลด้านสุขภาพ เช่น ความท้าทายด้านสุขภาพจิต ความรุนแรง และความเจ็บป่วย เช่น เอชไอวี มากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ แต่ทว่าอัตราการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของคนข้ามเพศที่อยู่ในระดับต่ำนั้น บ่อยครั้งพบว่ามีสาเหตุมาจากความหวาดกลัวและการตีตราทางสังคม

ภาวะความเปราะบางจำนวนมากที่คนข้ามเพศและคนอื่น ๆ ในกลุ่มชนกลุ่มน้อยทางเพศเผชิญนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้ง ภัยพิบัติทาง ‘ธรรมชาติ’ และการย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่ โดยมีตัวอย่างมากมายนับไม่ถ้วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ในช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามกลางเมืองประเทศเนปาล คนข้ามเพศจำนวนมากตกเป็นเป้าถูกกระทำทารุณโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในประเทศอิรักเอง ซึ่งขณะนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ (ISIL) กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ก็ถูกกระทำทารุณโดยกลุ่ม ISIL กองกำลังของรัฐบาล และกองกำลังติดอาวุธอื่น ๆ นอกจากนี้ บาดแผลความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในช่วงที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบในประเทศเปรูยังคงกรีดก้องรวดร้าวมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ การพังลายลงของระบบเครือข่ายแห่งความปลอดภัยทางสังคมที่มอบความปลอดภัย ที่อยู่อาศัย และการดำรงชีพให้แก่คนที่มีเพศสภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางเพศของสัมคม ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก โดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกตำหนิว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วมและแผ่นดินไหว ซึ่งยิ่งทำให้พวกเขากลายเป็นแพะรับบาปในสายตาของหลายคนและเพิ่มโอกาสที่จะถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น

น่าเสียดายที่อัตลักษณ์ทางเพศภาวะยังอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การกีดกันไม่ให้ได้รับความช่วยเหลือเพื่อช่วยชีวิตในเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งดังกล่าวเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อระบบต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจตามบรรทัดฐานทางสังคมเกี่ยวกับเพศภาวะที่เข้มงวดถูกนำมาใช้ในการตัดสินว่าใครเป็นคนที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 ผู้หญิงข้ามเพศในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอินเดียถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพักในสถานพักพิงชั่วคราว เนื่องจากว่ารูปลักษณ์ของพวกเธอไม่ตรงกับเพศที่ปรากฏอยู่ในเอกสารแสดงตัวตน

คนข้ามเพศจึงถูกยกเว้นไม่ให้ได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปโดยปริยาย อันเนื่องมาจากลักษณะที่ทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงมาตั้วแต่แรกเริ่มนั่นเอง แม้ว่าความช่วยเหลือดังกล่าวจะมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะความเปราะบางมากที่สุดก็ตาม แล้วสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้องค์กรด้านมนุษยธรรมล้มเหลวในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักของตน นั่นคือ การช่วยเหลือผู้ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คืออะไร?

ความต้องการของคนข้ามเพศถูกมองข้าม

ผู้มีอำนาจตัดสินใจภายในองค์กรด้านมนุษยธรรมจำนวนมากดูเหมือนจะดำเนินงานด้วยความเชื่อที่ว่า คนข้ามเพศนั้นมีจำนวนน้อยเกินไปที่จะสมควรได้รับความสนใจ ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ อาจมีเหตุผลเบื้องหลังอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือ มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประชากรข้ามเพศในบริบทด้านมนุษยธรรมและบริบทอื่น ๆ ค่อนข้างน้อยมาก ทำให้เป็นการยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้ว่าจำนวนคนข้ามเพศและคนอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มชนกลุ่มน้อยทางเพศที่ได้รับผลกระทบในวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมมีมากเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดจากกองกำลังภายนอกหรือจากนโยบายพิเศษของโครงการด้านมนุษยธรรมเอง

ประการที่สอง และถือว่าเป็นประการที่สำคัญ นั่นคือ การทำให้มองไม่เห็นอาจเป็นกลยุทธ์ที่คนข้ามเพศจงใจนำมาใช้เพื่อเป็นวิธีการทำให้ตนปลอดภัยและรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยดังกล่าวในสังคมต่าง ๆ ที่บังคับให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนชายขอบ จึงทำให้แง่มุมของการมอบความช่วยเหลือนั้นมีความซับซ้อน ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลไปจนถึงการออกแบบสร้างโครงการความช่วยเหลือที่เหมาะสม แล้วเราจะนับจำนวนประชากรที่ไม่ต้องการให้ถูกนับได้อย่างไร? แล้วงานบริการให้ความช่วยเหลือจะสามารถกำหนดเป้าหมาย ‘ผู้รับผลประโยชน์’ ซึ่งเป็นผู้ที่ปรารถนาไม่อยากให้คนมองเห็น เนื่องจากเคยต้องประสบกับการตกเป็นเป้าหมายถูกกระทำอันเลวร้ายอย่างไรบ้าง?

เห็นได้ชัดว่า การคำนึงถึงเพศสภาวะมากขึ้นเป็นวิธีการที่จำเป็นต่อการทำให้วัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมในการให้บริการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดประสบความสำเร็จ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะต้องให้ความสำคัญและมีความเหมาะสมกับประสบการณ์ของคนข้ามเพศและคนอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มชนกลุ่มน้อยทางเพศสภาวะและเพศสรีระ จะต้องมีการเสนอทางเลือกให้พวกเขาในการแบ่งปันตัวตนที่แท้จริงของตนกับบุคลากร และจะต้องทำให้ศักดิ์ศรีและสิทธิในความเป็นส่วนตัวของพวกเขาได้รับการเคารพ หากพวกเขาเลือกที่จะเปิดเผย

สนองตอบความต้องการของชุมชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในภาวะวิกฤต

ความพยายามล่าสุดภายในภาคส่วนหน่วยงานด้านมนุษยธรรมได้แสดงให้เห็นว่ามีการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ปรับปรุงนโยบายของตน พร้อมกับออกเอกสารแนวทางปฏิบัติย่างละเอียดโดยเน้นการทำให้สิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ได้รับการคุ้มครอง ทางองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ก็ได้เปิดตัวโครงการฝึกอบรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์กรที่อาจทำงานร่วมกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมหรือสถานการณ์การถูกบังคับให้พลัดถิ่น และทางคณะกรรมการประจําระหว่างหน่วยงาน (IASC) ได้พิจารณาข้อเสนอแนะเฉพาะสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในแนวทางเกี่ยวกับความรุนแรงที่มีฐานมาจากเพศภาวะ ซึ่งแนวทางปฏิบัติ นโยบาย และกรอบการทำงานเหล่านี้เป็นเพียงจึดเริ่มต้น จะต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีการนำไปสู่การปฏิบัติและก่อให้ผลลัพธ์อย่างไรในภายภาคหน้า

ความต้องการจำเพาะของคนข้ามเพศในช่งที่เกิดวิกฤตการณ์ถือว่าเป็นจุดบอดอย่างหนึ่งขององค์กรด้านมนุษยธรรมหลายองค์กร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขาดข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับกลุ่มประชากรเหล่านี้ ผสมควบรวมกับการทำให้มองไม่เห็นที่อาจเป็นกลยุทธ์เจตนานำมาใช้ในการอยู่รอดของกลุ่มคนชายขอบ รวมทั้งผู้ที่ตกอยู่นอกกรอบหลักคิดที่ว่าคนเรามีสองเพศคือชายกับหญิง (gender binary)

คนกลุ่มอื่น ๆ มีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบเช่นกลุ่มคนข้ามเพศ ดังเห็นได้จากการเสียชีวิตของร็อกซานา เออร์นานเดส ที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่เธอต้องการหลบหนีภัยจากการถูกรุกราน ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถปฏิบัติตามเป้าหมายของตนในการปกป้องคุ้มครองผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบางมากที่สุดนั้น โครงการการให้ความช่วยเหลือและบุคลากรขององค์กรจะต้องมีความพร้อมที่จะให้การดูแลที่เหมาะสมแก่ชนกลุ่มน้อยทางเพศสภาวะและเพศสรีระ เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาร้องขอ

ดังนั้น ในระหว่างนี้ “การมองไม่เห็น” ก็ใช่ว่าจะต้องเป็น “การไม่ใส่ใจ”

ดูเพิ่มเติม

แบ่งปันบทความนี้