โรคระบาดใหญ่ในปี 1918-1919 หรือที่รู้จักกันในนาม ไข้หวัดสเปน เป็นวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพที่หนักหนามากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ความวุ่นวายและความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงทุกด้าน หากเหตุการณ์โรคระบาดใหญ่ที่มาพร้อมๆ กับสงครามจะฝากบทเรียนอะไรให้กับมนุษยชาติ สิ่งนั้นอาจะเป็นข้อความสำคัญที่ทำให้เรารับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น

ไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 เริ่มต้นขึ้นในขณะที่การรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังดำเนินไปในปีสุดท้าย ความเสียหายของสงครามกำลังพุ่งถึงขีดสุด ในขณะที่ขีดความสามารถในการรับมือกับโรคระบาด ลดต่ำลงจนน่าตกใจ การแพร่ระบาดของโรคร้ายปรากฎขึ้นสามระลอก ระลอกแรกในฤดูใบไม้ผลิของปี  1918 ตามมาด้วยการแพร่ระบาดระลอกสองในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกันซึ่งเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 90% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากการระบาด ส่วนการแพร่ระบาดระลอกสุดท้าย เกิดขึ้นในปี 1919 ช่วงฤดูใบไม้ผลิ

ในช่วงสุดท้ายของการแพร่ระบาดประชากรกว่า  50% ของโลกได้รับผลกระทบ และหากจะวัดจำนวนผู้เสียชีวิตกับตัวเลขประชากรปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าผู้ติดเชื้อน่าจะมีประมาณ 2.5-5% ของประชากรโลกในยุคใหม่ นั่นคือประมาณ 50-100 ล้านคน จำนวนนี้สูงกว่าผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง 5-10 เท่า เมื่อพิจรณาตัวเลขความสูญเสียที่มากมาย การอธิบายปรากฎการของไข้วัดตัวร้าย อาจมอบบทเรียนมีค่าให้กับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน

การตีตราและโฆษณาชวนเชื่อไม่ใช่เรื่องใหม่

ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการเรียกชื่อโรคที่ว่าว่าไวรัสอู่ฮั่น หรือไวรัสจากจีน ซึ่งเป็นการระบุที่มาของเชื้อร้าย กลายเป็นการตีตราว่าชาวจีนคือสาเหตุและต้องรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ย้อนกลับไปในปี 1918 การเรียกไข้หวัดใหญ่ว่า ไข้หวัดสเปน ก็แทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าไข้หวัดใหญ่มีที่มาจากสเปนจริงหรือไม่ แต่การที่ประเทศส่วนใหญ่ซึ่งกำลังทำสงคราม ไม่ยอมออกข่าวเรื่องนี้ ในขณะที่ประเทศเป็นกลางอย่างสเปน เป็นที่แรกที่เริ่มตีแผ่ความรุนแรงของเชื้อ ทำให้ผู้คนเชื่อและจำกันไปผิดๆ ว่าโรคนี้มีที่มาจากชาวสเปน

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ บรรดาชื่อเล่นที่ใช้เรียกกันถึงโรคร้าย มักถูกตั้งขึ้นง่ายๆ โดยอ้างถึงสัญชาติหรือเผ่าพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น ไข้หวัดฝรั่งเศส, โรคสาวสเปน, โรคทหารเนเปิลส์, ความตายสีม่วง, กาฬโรคสงคราม, โรคคนดำ, ไข้หวัดฮั่น, กาฬโรคเยอรมัน, โรคบอลเชวิก ฯลฯ

ไข้วัดสเปนยังเป็นที่มาของการสาดโคลนใส่กันครั้งใหญ่ ประเทศที่เป็นคู่สงครามต่างกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นที่มาของโรคร้าย บ้างก็ว่าบริษัทยาของเยอรมันเป็นผู้นำเชื้อโรคไปสู่ประเทศอื่นๆ ด้วยการปนเชื้อไวรัสไว้ในยาแอสไพริน บ้างก็ว่าเรือดำน้ำของเยอรมันปล่อยเชื้อโรคลงในแหล่งน้ำ บ้างก็ว่าปล่อยมาจากเครื่องบินบนฟ้า ในลักษณะเดียวกับอาวุธชีวภาพอื่นๆ การกล่าวหากันไปมานอกจากไม่ช่วยให้การแพร่ระบาดลดลง ยังเป็นการซ้ำเติมความเกลียดชังระหว่างชาติ

ระบบการโฆษณาชวนเชื่อที่ยาวนานทำให้ประชาชนไม่เชื่อและไม่ยอมทำตามมาตรการของรัฐ หลายคนสงสัยว่าไข้หวัดธรรมดาจะคร่าชีวิตผู้คนมากมายได้อย่างไร และรัฐบาลกำลังปกปิดอะไรอยู่หรือเปล่า? มีข้อถกเถียงว่ารัฐบาลพยายามซ่อนการกลับมาของไข้รากสาดใหญ่หรืออหิวาตกโรค ในเยอรมัน ประชาชนคิดว่ารัฐบาลใช้โรคร้ายเพื่อปิดบังว่าประชาชนกำลังอดยากล้มตายเพราะสงคราม

ความสูญเสียในปี 1918 สอนบทเรียนที่สำคัญข้อแรก – ความโปร่งใสของรัฐบาลมีความจำเป็น รัฐบาลไม่ควรปกปิดข้อมูล ซึ่งจะนำมาสู่ความไม่ไว้วางใจในภายหลัง หลังผ่านสงครามยาวนานถึง 4 ปี ความเชื่อใจทั้งหมดแทบจะพังทลาย สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือเรากำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกันในปี 2020 เมื่อประชาชนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลของรัฐ กระทั่งตอนนี้ ความไม่ไว้วางใจที่ว่าก็ยังเป็นเรื่องท้าทาย การสื่อสารยุคใหม่ผ่านโซเชียลมีเดียยิ่งทำให้ประเด็นนี้ยากขึ้นกว่าเดิม เพราะประชาชนสามารถรับข้อมูลจริงและเท็จปะปนกันได้ตลอดเวลา การได้รับข้อมูลที่ผิด หรือความเข้าใจที่ผิดพลาดมีความอันตรายมากพอๆ กับเชื้อไวรัส

โรคระบาดและความขัดแย้ง สองสิ่งที่แยกกันไม่ออก

ไข้วัดสเปนไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสงคราม เห็นได้ชัดว่าประเทศที่มีการระบาดใหญ่ไม่ใช่ประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการปะทะ สวิสเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกาเป็นสองประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมาก แม้ไม่มีการสู้รบเกิดขึ้นในประเทศ หมู่เกาะแปซิฟิก ประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก รวมไปถึงอเมริกากลาง เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากระบบสาธารณะสุขที่ไม่พร้อมทำให้ไม่สามารถรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมากได้อย่างทันท่วงที

บทเรียนที่สองสำหรับการแพร่ระบาดของโรคร้ายคือไวรัสนั้นไม่มีพรมแดน แม้แต่ผู้นำรัฐอย่างพระเจ้าจอร์ชที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรหรือวูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่างติดโรคนี้ อย่างไรก็ตามความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และ ระดับโลก ในขณะที่เราเห็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดกำลังดิ้นรนต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คงไม่ใช่เรื่องยากหากต้องจินตนาการว่าวิกฤตการณ์นี้ จะทวีความรุนแรงขึ้นแค่ไหนในประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง

แม้สงครามจะไม่ได้เป็นตัวเริ่มของโรคระบาดแต่แน่นอนว่าผลของสงครามทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น คำสั่งระดมพล ความแออัดของค่ายทหาร การเดินทางของคนจำนวนมากจากแห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่ง กระทั่งโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เดินหน้าผลิตวัตถุสงครามอย่างเต็มกำลัง การตัดสินใจที่ผิดพลาดหลายอย่างเช่น การยกเลิกคำสั่งกักตัวทหาร เพื่อผลก้าวหน้าทางการรบ หรือการระดมหมอและพยาบาลที่มีความเชียวชาญสูงให้ไปทำงานในแนวรบ ทำให้แนวหลังขาดทรัพยากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ

ในทางกลับกัน ไข้หวัดสเปนเองก็ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อประชาชนที่ทุกทรมานอยู่แล้วจากสงคราม เมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายเพราะการรบ ภาวะความอดยาก และความเป็นอยู่ที่แออัดของประชาชนถูกทำให้เลวร้ายลงด้วยโรคระบาด และแม้ว่าโลกในปัจจุบันจะไม่ได้กำลังเผชิญกับสงครามโลก แต่ก็ยังมีหลายพื้นที่ในโลกที่การสู้รบยังคงดำรงอยู่ ICRC เห็นความจำเป็นในประเด็นนี้และได้ออกแจ้งเตือนเป็นประจำว่าวิกฤติสุขภาพ ย่อมจะเป็นภัยคุกคามเพิ่มเติมในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศที่ระบบสาธารณะสุขถูกทำลายจนอ่อนแอ รวมไปถึงประเด็นการแพร่กระจายของโรคภัยในที่คุมขัง ค่ายพักแรมของประชากรพลัดถิ่น ฯลฯ บทเรียนสำคัญสำหรับโรคระบาดและความขัดแย้งคือทั้งสองสิ่งมักมีความเกี่ยวข้องและทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง

บทเรียนที่ยังต้องเรียนต่อไป

การระบาดใหญ่ในปี 1918 เป็นโศกนาฎกรรมของมนุษย์ทั่วโลก ผลกระทบของเหตุการณ์นี้มีทั้งในเชิงการเมือง สังคม เศรฐกิจ ไปจนถึงสุขภาพจิตของประชากรโลก ไข้หวัดสเปนเป็นเรื่องราวของความล้มเหลวซึ่งเป็นความผิดพลาดในการจัดการโรคระบาดโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการทหารเป็นหลัก

ในอีกทาง โรคระบาดในปี 1918 เป็นเรื่องเศร้าที่นำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขอีกมากมายในเวลาต่อมา อันที่จริง แนวทางและกลยุทธิ์หลายอย่างเช่น การให้ความรู้ด้านสุขภาพ การเฝ้าระวัง การกักตัว รวมไปถึงการการปรับปรุงระบบสุขาภิบาล และการปรับปรุงองค์ความรู้ด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ ได้รับการพัฒนาขึ้นมากหลังจากนั้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังมีส่วนให้เกิดการก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขในฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร พร้อมการตระหนักถึงการทำงานอย่างหนักของบุคคลากรทางการแพทย์ หนึ่งศตวรรษผ่านไป ความเสียสละของหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกท่านก็ยังเป็นที่ประจักษ์ ในระหว่างการแพร่ระบาดหนักของโควิด-19

อย่างไรก็ดี ยังมีบทเรียนอีกมากมายจากปี 1918 ที่โลกปัจจุบันสามารถเรียนรู้ Daniel Flecknoe ผู้เขียนบทความ Un-remembered but Unforgettable: The ‘Spanish Flu’ Pandemic กล่าวว่า ‘ปัญหาเรื่องโรคระบาดที่อาจกระทบต่อพื้นที่สงครามยังไม่ได้ถูกนำมาพิจรณา หรือได้รับการพูดถึงน้อยมากในหมู่ผู้นำซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจนำประเทศเข้าสู่สงคราม หากเรามองจากข้อจำกัดนี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่บทเรียนจากปี 1918 อาจไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้มากพอ เพราะเป็นที่รู้กันว่าสงครามมีส่วนสำคัญทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศอ่อนแอ ส่งผลให้ประชาชนในประเทศกลายเป็นกลุ่มคนเปราะบางหากต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ’ แน่นอนว่าโควิด-19 ไม่ได้มีที่มาจากกลุ่มประเทศที่กำลังมีสงคราม (เช่นเดียวกับที่มาของไข้หวัดสเปนตามที่กล่าวไป) แต่เชื้อไวรัสสร้างความเสียหายและผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ให้พื้นที่สงคราม หรือพื้นที่ขัดแย้ง มากกว่าพื้นที่ทั่วไปอย่างไม่ต้องสงสัย

Reference: แปลและเรียบเรียงจากบทความ From the ‘Spanish Flu’ to COVID-19: lessons from the 1918 pandemic and First World War