ภาระกิจของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) โดยลักษณะแล้ว อาจเป็นเพียงองค์กรมนุษยธรรมเพียงองค์กรเดียวที่สามารถเข้าถึงพื้นที่และบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและสถานการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ข้อมูลที่ ICRC ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งรวมไปถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายที่ได้รับการร้องเรียน ถูกร้องขอใช้ข้อมูลดังกล่าวในกระบวนการดำเนินคดี ถึงแม้ว่าอาณัติของ ICRC กำหนดให้มีการส่งเสริมความพยายามในการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ แต่ ICRC ยังคงต้องดำเนินหน้าที่ดังกล่าวควบคู่ไปกับการรักษาและดำเนินบทบาทในการประกันให้มีการเคารพกฎหมาย ผ่านการเจรจาหารือในระดับทวิภาคีที่เป็นไปโดยลับ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

บทความนี้จึงนำเสนอเหตุผลห้าประการว่าเหตุใดข้อมูลของ ICRC จึงไม่ควร (หรือต้องห้าม) นำมาเปิดเผยหรือนำไปใช้ในกระบวนการดำเนินคดี บทความให้ความสำคัญกับภารกิจคุ้มครองของ ICRC และอภิปรายถึงรายงานฉบับที่เป็นความลับที่จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติภารกิจ ข้อพิจารณาดังกล่าวยังต้องนำไปปรับใช้กับการสื่อสารโดยลับ และข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC

 

  1. อาณัติของ ICRC

ICRC เป็นองค์กรทางด้านมนุษยธรรมที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระ และไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด เหนือสิ่งอื่นใดเพื่อคุ้มครองบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามและสถานการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ พร้อมกับให้ความช่วยเหลือ กิจกรรมของ ICRC นั้นมีความหลากหลาย อาทิ การเข้าเยี่ยมสถานคุมขังเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ต้องขัง (ไม่ว่ามีสถานะเป็นพลเรือน หรือสมาชิกกองทัพหรือกลุ่มติดอาวุธ) ได้รับการประติบัติอย่างมีมนุษยธรรมและมีศักดิ์ศรี อีกทั้งสถานคุมขังต้องมีสภาพที่เหมาะสม นอกจากนี้ ICRC ยังมุ่งมั่นทำให้พลเรือน และผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วม (หรือยุติการเข้าร่วม) ในการสู้รบโดยตรงได้รับการเคารพและคุ้มครองอย่างเพียงพอจากผลกระทบจากการสู้รบ

ภารกิจเหล่านี้มีเป้าหมายทางมนุษยธรรมในการรักษาความปลอดภัย บูรณภาพและศักดิ์ศรีของบุคคล เนื่องจากความรับผิดชอบสูงสุดในการให้ความคุ้มครองบุคคลจากการสู้รบและสถานการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ นั้นเป็นของบรรดารัฐและฝ่ายพิพาทในสงคราม ICRC จึงสามารถสนับสนุนการให้ความคุ้มครองดังกล่าวได้เพียงแค่สังเกตการณ์การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานของฝ่ายต่าง  ๆ ที่ต้องเคารพพันธกรณีตามกฎหมาย กรณีดังกล่าวสอดคล้องกับบทบาทที่ ICRC ได้รับมอบหมาย คือ “ปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ ในความขัดแย้งปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ใช้บังคับในยามสงครามด้วยความสุจริต และเพื่อบันทึกข้อร้องเรียนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการละเมิดกฎหมายดังกล่าว”

ภารกิจของ ICRC ในการสังเกตการณ์การเคารพกฎหมายเป็นการพิจารณาสู่อนาคต โดยมุ่งยกระดับการประติบัติต่อบุคคลและลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคล โดยเฉพาะการยุติการละเมิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และป้องกันมิให้เกิดการละเมิดดังกล่าวอีกในอนาคต ดังนี้เอง ICRC จึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขเยียวยามากกว่าการแก้แค้น หากพบว่ามีการละเมิดกฎหมายหรือข้อร้องเรียนเช่นว่า ผู้แทน ICRC จะทำการบันทึกข้อมูลดังกล่าว ในกรณีที่สมควรและได้รับความยินยอมจากผู้ร้องเรียน จึงค่อยนำบันทึกดังกล่าวเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบ เมื่อข้อเท็จจริงได้รับการพิสูจน์ เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นมีความรับผิดชอบในการปรับแก้แนวทางปฏิบัติที่ถูกร้องเรียน หรือดำเนินการทางอาญากับผู้กระทำความผิด

ICRC มีส่วนสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีกับการกระทำที่ละเมิดกฎหมายแต่มิได้เข้าร่วม มีส่วนช่วยเหลือ หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการสอบสวน การดำเนินคดี หรือให้ข้อมูลพยานหลักฐานแต่อย่างใด การเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวขัดต่ออาณัติด้านมนุษยธรรมของ ICRC อันได้แก่การยึดถือในความเป็นกลางและความเป็นอิสระ และวิธีการดำเนินงานซึ่งรวมถึงการรักษาความลับ แม้ว่าการนำเสนอข้อกล่าวหาโดย ICRC ไปยังเจ้าหน้าที่รัฐจะมีส่วนอำนวยให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุการกระทำอันละเมิดกฎหมายได้ ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนเสริมความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและแยกเป็นเอกเทศจากความมุ่งหมายในการอำนวยความยุติธรรม

 

  1. การหารือระหว่าง ICRC กับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปโดยลับ

ICRC ดำเนินงานโดยยึดหลักการไม่เปิดเผยความลับมาอย่างยาวนาน หลักการนี้ช่วยให้ ICRC สามารถริเริ่มและรักษาความสัมพันธ์โดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกับเจ้าหน้าที่และฝ่ายพิพาทต่าง ๆ ในสงคราม การเชื่อมความสัมพันธ์โดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจคือกุญแจสำคัญในการสร้างบรรยากาศการหารือที่เปิดกว้างตรงไปตรงมากับคู่เจรจาเพื่อโน้มน้าวพฤติกรรมของฝ่ายนั้น อีกทั้งความไว้วางใจที่มีต่อกันนั้น ยังจำเป็นต่อการเข้าถึงบุคคลและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและสถานการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ  พร้อมกับประกันความปลอดภัยให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ และผู้รับประโยชน์จากภารกิจของ ICRC ดังนั้นการไม่เปิดเผยความลับจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ ICRC สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานขององค์กร ทั้งนี้หลักการไม่เปิดเผยความลับนั้นมิได้มีเป้าหมายเพื่อเก็บรักษาความลับ แต่หลักการนี้เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน อันเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานทั่วไป โดยอาจยกเว้นได้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น

ในบริบทของการคุมขัง หลักการไม่เปิดเผยความลับมีส่วนอย่างมากในการดำเนินการเข้าเยี่ยมสถานคุมขังตามมาตรฐานกระบวนการปฏิบัติงาน (standard operating procedures) ของ ICRC กระบวนการดังกล่าวกำหนดให้การสนทนากับผู้ต้องขังต้องเป็นไปอย่างอิสระและเป็นการส่วนตัว เนื่องจากผู้ต้องขังจะยินยอมเล่าถึงความต้องการและความกังวล ก็ต่อเมื่อพวกเขาไว้วางใจผู้แทน ICRC การสร้างความไว้วางใจนี้หมายถึงต้องมีการให้การรับรองว่าข้อมูลที่แจ้งจะไม่ถูกนำไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์อันเป็นการขัดต่อความประสงค์ หรือทำให้ผู้ต้องขังหรือสมาชิกในครอบครัวตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่อาจถูกตอบโต้แก้แค้น (reprisal) หลักการนี้ยังนำไปใช้ในกรณีที่ ICRC รับฟังข้อมูลจากบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าในบริบทของการคุมขัง (อาทิ ในการพูดคุยกับครอบครัวของผู้ต้องขัง หรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานคุมขัง) หรือในบริบทอื่น ๆ

ดังนั้นในการเผยแพร่ข้อร้องเรียนที่ได้รับหรือการสื่อสารข้อสังเกตุการณ์ไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าทางวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้แทน ICRC จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดบนพื้นฐานการหารือแบบทวิภาคีและไม่เปิดเผยความลับ ICRC ให้ความสำคัญกับหลักการไม่เปิดเผยความลับในการสื่อสารขององค์กร พร้อมกับทำให้หลักดังกล่าวมีผลทางกฎหมายด้วยการกำหนดข้อปฏิเสธความรับผิดเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยความลับไว้ในรายงานทุกฉบับ นอกจากนี้องค์กรยังมีการทำความตกลงกำหนดกรอบภารกิจซึ่งระบุข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานเดียวกันไว้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้คำมั่นที่จะไม่เปิดเผยเนื้อหาของข้อสื่อสารของ ICRC ให้บุคคลภายนอกรับรู้ นอกจากเป็นการเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้รับสารที่ระบุไว้ และให้คำมั่นที่จะไม่เปิดเผยหรือใช้ข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC ในกระบวนการดำเนินคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรของ ICRC

‘ผู้รับสารที่ระบุไว้’ หมายความรวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้บังคับบัญชา เช่น ในกรณีที่ ICRC ได้ส่งมอบรายงานของ ICRC ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้คุมขัง หมายความว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องตลอดจนหน่วยงานอื่นของฝ่ายบริหารที่มีขอบเขตงานเกี่ยวกับการปรับปรุงการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ ICRC สามารถนำรายงานฉบับดังกล่าวไปใช้ได้ตามความจำเป็น รายงานดังกล่าวจะต้องไม่ถูกนำไปเผยแพร่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งรวมไปถึงคณะกรรมการต่าง ๆ ของรัฐสภา หรือในฝ่ายตุลาการ ในทางกลับกันในกรณีที่ ICRC ระบุให้หน่วยงานอื่นภายใต้ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตุลาการเป็นผู้รับสาร ข้อจำกัดการเผยแพร่ข้อมูลในรายงานก็จะนำมาใช้ในลักษณะเดียวกันเพื่อไม่ให้เผยแพร่รายงานไปยังฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่ผู้รับสารที่ระบุไว้

ข้อปฏิเสธความรับผิดเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยความลับและความตกลงที่ ICRC ทำขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การคุ้มครองความลับครอบคลุมถึงเนื้อหาของการสื่อสารของ ICRC โดยไม่คำนึงถึงว่าเนื้อหาดังกล่าวจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC ยังคงได้รับการคุ้มครองถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะนำไปจัดทำขึ้นใหม่เป็นรูปแบบเอกสารหรือข้อสื่อสารภายในหน่วยงานตน อาทิ ในรูปแบบของบันทึกการประชุมหรืออีเมลภายใน

‘การดำเนินคดีตามกฎหมาย’ ไม่จำกัดเพียงแต่เฉพาะการดำเนินคดีทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง การดำเนินคดียังหมายความรวมไปถึง การสอบสวน การชันสูตรพลิกศพ อนุญาโตตุลาการ กระบวนการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กลไกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) และกลไกความยุติธรรมตามประเพณี ตลอดจนกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงและความจริงและกระบวนการเชิงสมานฉันท์ ให้หลีกเลี่ยงการนำข้อมูลของ ICRC ไปใช้ในกระบวนการทั้งหมดที่ได้กล่าวมา โดยไม่คำนึงถึงว่ากลไกดังกล่าว (แม้ว่าจะเป็นกระบวนการพิจารณาแบบลับ) จะสามารถจำกัดการเปิดเผยข้อมูลให้รับรู้ได้เฉพาะผู้เข้าร่วมกระบวนการ หรือจะสามารถป้องกันไม่ให้ข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่ในคำพิพากษาที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะก็ตาม

ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เช่น ในบริบทกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล หรือคำร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ICRC คาดหวังให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อไม่ต้องทำการเปิดเผยข้อมูล หากหนทางดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ควรใช้มาตรการอื่นที่เหมาะสมในการประกันไม่ให้ข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC ต้องถูกเปิดเผย ในกรณีที่จำเป็น ICRC สามารถให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวได้

 

  1. ลักษณะและเป้าหมายของการรายงานโดย ICRC

การสื่อสารที่เป็นความลับของ ICRC ตลอดจนรายงานเกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมสถานที่คุมขังและการคุ้มครองพลเรือนนั้น ไม่ได้จัดทำขึ้นในรูปแบบที่เหมาะสำหรับการนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน เนื่องจาก ICRC ไม่ใช่องค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมหรือการสอบสวน จึงไม่มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำความผิด ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า ICRC มีส่วนในการแสดงความห่วงกังวลในประเด็นทางด้านมนุษยธรรม และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการต่อข้อกังวลดังกล่าว รวมถึงการดำเนินการสืบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

ในรายงานของ ICRC อาจกล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติและในกรณีที่เหมาะสม ICRC อาจยื่นข้อเสนอให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ความขาดแคลนทางน้ำ สารอาหาร หรือสุขภาพ เพื่อชี้แนะหน่วยงานให้ใช้มาตรการแก้ไขที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ICRC ไม่เคยให้ความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการสอบสวนหรือการดำเนินคดีใด ๆ

สำหรับเป้าหมายของการแจ้งข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายไปยังหน่วยงานภาครัฐ ICRC มีความประสงค์ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถดำเนินการสืบสวนภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ พิสูจน์และรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องได้อย่างอิสระ เพราะว่าการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอย่างเหมาะสมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการสืบสวนและตรวจสอบดังกล่าว อันที่จริงแล้วถึงแม้ว่าการจัดทำรายงานของ ICRC จะเป็นไปอย่างรัดกุมและได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการพิสูจน์ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลในรายงาน ไม่ว่าจะเป็นการอ้างถึงคำให้การของบุคคลที่สามหรือข้อมูลที่ได้มาจากการสังเกตการณ์ของผู้แทน ICRC ข้อกล่าวอ้างในรายงานยังคงเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างที่ยังไม่ยุติสำหรับนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ ICRC พยายามดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่เผยแพร่นั้นครบถ้วนสมบูรณ์เท่าที่จะสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติภารกิจขององค์กรไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อครอบคลุมทุกประเด็นรายละเอียดหรือนำเสนอข้อมูลที่ได้จัดเก็บไว้ทั้งหมดไว้ในรายงาน ประการแรก ICRC สามารถเลือกให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจในด้านมนุษยธรรมมากกว่าประเด็นอื่น ๆ การสื่อสารจึงได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในการนี้ภารกิจของ ICRC ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงาน คำนึงถึงสภาพแวดล้อมของการปฏิบัติงานขององค์กร การหารือระหว่างผู้แทนองค์กรกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังดำเนินอยู่ ตลอดจนสิ่งความเป็นไปได้ในการปรับปรุงแนวปฏิบัติ ประการที่สอง ผู้แทน ICRC อาจไม่มีข้อมูลในบางประเด็น หรือไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อร้องเรียนดังกล่าว ในกรณีการเข้าเยี่ยมสถานคุมขัง ผู้แทนอาจไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ จึงทำให้ไม่สามารถสังเกตการณ์ผู้ต้องขังหรือสถานที่ต้องขังได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้ ICRC ไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงในบางประเด็น หรืออาจมีข้อความแสดงความเห็นอย่างเป็นกลางหรือในเชิงบวก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากรณีดังกล่าวปราศจากข้อบกพร่อง

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ควรมองว่าการรายงานของ ICRC หรือการที่ ICRC เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมใด ๆ เป็นการให้การยอมรับอย่างชัดแจ้งหรือโดยปริยายกับแนวปฏิบัติของหน่วยงานนั้น  ดังนั้นการที่ ICRC เลือกเข้าเยี่ยมสถานคุมขังแห่งใด ไม่ได้หมายความว่าสถานคุมขังแห่งนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ในทำนองเดียวกันการปรากฏตัวหรือการมีส่วนร่วมของ ICRC ในพื้นที่หรือสถานที่แห่งใดไม่ได้หมายความว่าไม่มีข้อห่วงกังวลในพื้นที่อื่น ๆ หรือไม่ได้หมายความว่า ICRC ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงพื้นที่หรือสถานที่แห่งดังกล่าว ทั้งนี้ ICRC ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในทางปฏิบัติ ด้วยการประเมินสถานการณ์ทางมนุษยธรรมและจัดลำดับความสำคัญโดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ

ทั้งนี้อาจเป็นได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐอาจจงใจนำรายงานของ ICRC ไปใช้เพียงบางส่วนหรือใช้ในทางที่ก่อให้เกิดความสับสน อย่างเช่นการเปิดเผยรายงานที่มีข้อสรุปเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ ในกรณีนี้ ICRC สงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อให้การนำเสนอข้อเท็จจริงของการทำงานระหว่าง ICRC และหน่วยงานรัฐเป็นไปอย่างรอบด้าน

 

  1. ความเสี่ยงอันร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับ ICRC และผู้รับประโยชน์จากภารกิจของ ICRC

เมื่อข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC ต้องบังคับให้ถูกเปิดเผย การปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ และผู้รับประโยชน์จากภารกิจขององค์กร อาจได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงกรณีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการดำเนินคดี

กระบวนการดำเนินคดีประกอบขึ้นจากข้อพิพาทประการต่าง ๆ ที่อาจไปเกี่ยวโยงกับความขัดแย้งทางด้านการเมือง ศาสนา หรืออุดมการณ์ โดยในสถานการณ์ที่ ICRC มักเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อย่างในกรณีฝ่ายหนึ่งในสงครามใช้อำนาจอธิปไตยเหนือฝ่ายตรงข้าม การใช้ข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC อาจถูกมองหรือถูกนำเสนออย่างคลาดเคลื่อนว่า ICRC ให้การยอมรับการใช้อำนาจดังกล่าว จนในที่สุดจึงถูกมองว่ากลายเป็นการเลือกฝ่ายในความขัดแย้ง แม้ว่ากระบวนการดำเนินคดีบางประการจะดูเหมือนปราศจากข้อขัดแย้งแต่สถานการณ์ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ อย่างเช่นการสลับขั้วอำนาจทางการเมือง

ในส่วนของผลกระทบที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ การเปิดเผยหรือการใช้ข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC ในกระบวนการดำเนินคดี อาจทำลายความสัมพันธ์อันเปราะบางที่มีอยู่ระหว่าง ICRC กับกลุ่มติดอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับท้องที่หรือในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกก็ตาม อย่างเช่น ในกรณีที่ข้อมูลของ ICRC ถูกนำไปใช้ในการดำเนินคดีต่อนักรบต่างชาติในประเทศที่เขาถือสัญชาติ อาจขัดขวางการหารือระหว่าง ICRC กับกลุ่มติดอาวุธในประเทศอื่น ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่นักรบดังกล่าวสังกัด การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับจึงทำให้ ICRC สูญเสียโอกาสในการโน้มน้าวการกระทำของกลุ่มติดอาวุธดังกล่าว อีกทั้งยังอาจส่งผลให้ ICRC ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มคนตลอดจนบุคคลที่ถูกคุมขังภายใต้อำนาจปกครองของกลุ่มติดอาวุธดังกล่าว ในกรณีที่ร้ายแรงผลกระทบอาจลามไปถึงสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่และผู้รับประโยชน์จากภารกิจของ ICRC

ผลกระทบของการเปิดเผยหรือการใช้ข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC ในกระบวนการดำเนินคดีอาจก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน การบั่นทอนหลักการด้านความเป็นกลางและความเป็นอิสระที่ ICRC ยึดถือในฐานะที่เป็นองค์กรด้านมนุษยธรรม หากฝ่ายในความขัดแย้งเห็นว่าข้อมูลที่ ICRCรวบรวมอาจถูกนำไปใช้ในกระบวนการดำเนินคดี ฝ่ายในความขัดแย้งก็อาจปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือกับ ICRC ยิ่งไปกว่านั้นโอกาสความเสี่ยงที่ข้อมูลที่เป็นความลับจะต้องถูกบังคับให้เปิดเผยหรือนำไปใช้ในกระบวนการดำเนินคดีอาจมีส่วนโดยตรงในการตัดสินใจดำเนินงานขององค์กร โดยจำเป็นต้องงดการดำเนินกิจกรรมบางประเภทเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าการประเมินผลลัพธ์จากสถานการณ์ดังกล่าวอาจกระทำได้ยาก โดยคำนึงถึงระยะห่างด้านภูมิศาสตร์และด้านเวลา สถานการณ์ดังกล่าวก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลได้ในท้ายที่สุด กรณีนี้รวมถึงบุคคลและประชากรที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือคุ้มครอง โดยทำให้ปัญหาความเปราะบางและความทุกข์ยากบานปลาย ดังนั้นจึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าผลเสียของการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC มีมากกว่าประโยชน์เพียงชั่วครู่ที่ได้รับจากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ICRC จะเพิกเฉยต่อการอำนวยความยุติธรรม หรือไม่เคารพสิทธิของบุคคลที่ต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมภายใต้กระบวนการดำเนินคดี ในทางกลับกัน ICRC อาจยินยอมเปิดเผยข้อมูลเป็นกรณีพิเศษ หากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวสามารถสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมโดยที่ไม่ขัดขวางความสามารถของ ICRC ในการดำเนินการภายใต้อาณัติและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ICRC และผู้รับประโยชน์จากภารกิจของ ICRC อย่างไรก็ตาม ICRC มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินใจว่าจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจาก ICRC เพียงลำพังเท่านั้นที่สามารถประเมินผลกระทบของการเปิดเผยข้อมูลกับภารกิจขององค์กร

 

  1. เอกสิทธิ์ของ ICRC ในการไม่เปิดเผยข้อมูล

ประการสำคัญที่สุดคือการเปิดเผยข้อมูลหรือการใช้ข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC ในกระบวนการดำเนินคดีเป็นการละเมิดเอกสิทธิ์ในการไม่เปิดเผยข้อมูลของ ICRC ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เอกสิทธิ์ดังกล่าวให้การคุ้มครองไม่ให้ข้อมูลที่เป็นความลับของ ICRC ถูกนำไปใช้และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของ ICRC จากหน้าที่ในการให้การตามกระบวนการกฎหมาย

เอกสิทธิ์ในการไม่เปิดเผยข้อมูลของ ICRC ได้รับการยอมรับในคำพิพากษาปี ค.ศ. 1999 ของคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia (ICTY)) โดยมีต้นกำเนิดจากอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ต่อมาเอกสิทธิ์ดังกล่าวได้รับการยืนยันและรับรองในศาลและคณะตุลาการระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court (ICC)) เอกสิทธิ์นี้ยังเป็นที่ยอมรับเพิ่มขึ้นในระดับประเทศทั้งในการจัดทำข้อตกลงว่าด้วยสถานะและ/หรือกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องในประเทศที่ ICRC ปฏิบัติงาน

เอกสิทธิ์ในการไม่เปิดเผยข้อมูลของ ICRC ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศมีลักษณะเด็ดขาด กล่าวคือ “ไม่เปิดช่องหรือไม่ต้องมีการชั่งน้ำหนักประโยชน์ (balancing of interest)” เอกสิทธิ์นี้ตั้งอยู่บนหลักคิดว่าถ้าหากอนุญาตให้มีการเปิดเผยข้อมูลความลับของ ICRC ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินงานของ ICRC คือ สวัสดิภาพและความปลอดภัยของบุคลากร ICRC และผู้รับประโยชน์ มากกว่าประโยชน์เพียงชั่วครู่ที่จะได้รับจากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

ในประการสำคัญ เอกสิทธิ์ดังกล่าวเพิ่มขีดความสามารถให้ ICRC สามารถสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม ตัวอย่างเช่น หากกรณีข้อมูลของ ICRC มีความสำคัญแก่คดีอย่างมาก จะมีการหารือระหว่างศาลและ ICRC ภายหลังการหารือ ICRC สามารถเลือกที่จะยกเว้นเอกสิทธิ์ความคุ้มกันจากการให้การในคดีเช่นว่า โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมและความเสี่ยงทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง

เอกสิทธิ์ในการไม่เปิดเผยข้อมูลของ ICRC ดังที่ได้รับการรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการไม่เปิดเผยความลับในการดำเนินภารกิจตามอาณัติของ ICRC นอกจากนี้เอกสิทธิ์ดังกล่าวยังมีส่วนทำให้ ICRC สามารถยึดมั่นในหลักการไม่เปิดเผยความลับโดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ได้รับประโยชน์จากภารกิจขององค์กร ในขณะที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งความเชื่อใจ ในท้ายที่สุดสิ่งเดียวที่จะทำให้ ICRC สามารถบรรลุอาณัติขององค์กรได้ในระยะยาวคือ การให้การเคารพเอกสิทธิ์อย่างเคร่งครัด ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รับมือกับข้อห่วงกังวลทางด้านมนุษยธรรมและโน้มน้าวพฤติกรรมของฝ่ายต่าง ๆ ในความขัดแย้ง ในสถานการณ์ที่บ่อยครั้งไม่มีองค์กรใดสามารถเข้าถึงได้นอกเสียจากองค์กรมนุษยธรรมอื่นที่เป็นกลางและเป็นอิสระ

แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับ: 5 things that make ICRC confidential information unsuitable for legal proceedings  

ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย