ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด บรรดาวิศวกรผู้เปี่ยมด้วยจิตนาการจากประเทศฝรั่งเศสตลอดจนสหรัฐอเมริกา ต่างมุ่งหวังให้สิ่งประดิษฐ์ของตนเป็นเครื่องมือยับยั้งการก่อสงคราม ยับยังความสูญเสียมหาศาลที่อาจจะตามมาในภายหลัง อย่างไรก็ดี ตลอดช่วงระยะเวลาสี่ปีในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ความมุ่งหวังดังกล่าวกลับไม่เป็นดั่งใจเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกนำมาประยุกต์ใช้ในปฏิบัติการณ์ทางทหาร การคิดค้นพัฒนาอาวุธร้ายแรง ตลอดจนความเคลือบแคลงว่ต่อประเทศต่างๆ ว่าจะสามารถยืนหยัดในคุณค่าและหลักการของประเทศตนในยามรบกลายเป็นบทเรียนใหญ่ที่โลกทั้งใบต่างได้รับ จริงหรือไม่ที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งแสดงให้เห็นว่าหลักศีลธรรม รวมถึงหลักการตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (อนุสัญญากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ค.ศ.1868 หรืออนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1899 และ 1907) ที่นำมาใช้เป็นเหตุผลในการต่อต้านการใช้อาวุธที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ถูกมองข้ามในยามที่ประเทศต้องเผชิญภาวะวิกฤต
ค.ศ.1914-1918 กับการนำทฤษฎีความสัมพันธ์มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่อาวุธชนิดใหม่กลายเป็นที่ยอมรับในสังคม
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสอนให้เรากำหนดความคาดหวังโดยตั้งอยู่บทพื้นฐานแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะในเรื่องการเคารพหลักกฎหมายและจริยธรรม ภายใต้บริบทของสงครามในอนาคตที่อาศัยการใช้เทคโนโลยี ความคิดนี้สอดคล้องกับมุมมองของ Peter W. Singer นักเขียนเรื่องสงครามที่ขายดีที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เขาศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่าง “หุ่นยนต์สังหาร” ในอนาคตกับเรือดำน้ำที่ใช้ในมหาสงคราม เขาชี้ให้เห็นว่าการที่เยอรมันใช้เรือดำน้ำ (U-Boat) อย่างเต็มตัวเป็นเหตุทำให้สหรัฐ ฯ ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามในปี ค.ศ.1917 เมื่อถึงคราวสิ้นสุดสงคราม นักการเมืองบางคนออกมาต่อต้านการใช้อาวุธชนิดใหม่ที่ขัดต่อหลักการมนุษยธรรมอย่างชัดแจ้ง พร้อมกับสนับสนุนให้มีการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศที่กำหนดห้ามการทำสงครามใต้น้ำ แผนการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากวุฒิสมาชิก Elihu Root หัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐ ฯ ในการประชุมนาวี ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี ค.ศ.1921-1922
นอกจากนี้ Singer ยังศึกษาความพยายามทางการทูตในช่วงสงครามและตั้งข้อสังเกตว่าหลักศีลธรรมต่าง ๆ ที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องมากว่าค่อนศตวรรษกลับถูกละเมิดภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงภายหลังการโจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาเบอร์ การโจมตีครั้งนี้ทำให้สหรัฐ ฯ ตัดสินใจโจมตีเรือสินค้าของญี่ปุ่นในช่วงพลบค่ำของวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 Singer สรุปว่า “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเรือดำน้ำไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่อีกต่อไป แล้วพวกเรากำลังพ่ายแพ้” พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “ลองนึกถึงหุ่นยนต์หรือนึกถึงคำมั่นต่าง ๆ ที่เราให้ไว้ในปัจจุบันว่าจะไม่กระทำ แต่อยู่ในสงครามรูปแบบอื่น” ในสถานการณ์ดังกล่าวเราจะสามารถถือได้หรือไม่ว่า “การกระทำด้วยความจำเป็นทำให้ไม่ต้องเคารพกฎหมาย”
จริงหรือไม่ที่คุณธรรมเชิงสัมพัทธ์เริ่มมาจากการเกิดขึ้นของสงคราม
ในเบื้องต้นหลักการภายใต้ “กฎธรรมชาติ” แสดงให้เห็นว่าเริ่มแรกอาวุธทุกประเภทเป็นสิ่งต้องห้าม แล้วจึงค่อยได้รับการยอมรับในลำดับถัดมา กฎนี้ได้รับการยืนยันจากเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ สงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นในทะเลและบนท้องฟ้า (ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์โดยการใช้ปืนใหญ่ปารีส (Paris Guns) เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1918) ซึ่งเป็นสถานที่ที่อนุสัญญาระหว่างประเทศกำหนดให้ต้องหลีกเลี่ยงหรือห้ามกระทำสงคราม ถึงกระนั้นความเชื่อที่ว่าสงครามมีส่วนผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นความลังเลและตัดสินใจใช้อาวุธหรือยุทธวิธีบางประการนั้น ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
ในปี ค.ศ.1901 เป็นที่ทราบว่าพลเรือเอก Arthur Wilson ได้ประกาศว่าการทำสงครามใต้น้ำไม่ใช่สิ่งที่ชาวอังกฤษพึงกระทำ (un-English) ส่วนทหารเรือผู้ใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วถูกจับได้ควรนำมาแขวนคอเยี่ยงโจรสลัด แต่คำปรารภดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะห้ามปรามราชนาวีซึ่งนำเรือดำน้ำลำแรกเข้าประจำการในปีเดียวกันนั้น ต่อมาในปี ค.ศ.1914 ราชนาวีกลับมีเรือดำน้ำประจำการมากกว่าเรือดำน้ำของกองทัพเรือเยอรมันเสียเอง คนทั่วไปมักลืมไปว่าฝรั่งเศสและเยอรมันเป็นเพียงสองประเทศที่ปฏิเสธการต่ออายุพันธกรณีที่ตนได้ให้ไว้เมื่อแปดปีก่อนหน้าเกี่ยวกับการห้ามการปล่อยขีปนาวุธหรือระเบิดจากบอลลูนโดยวิธีการใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกัน ในการประชุมกรุงเฮกครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ.1907 ต่อมาในปี ค.ศ.1911 พี่น้อง Michelin ตั้งรางวัล “Aéro-cible” อย่างไม่ละอายให้แก่นักบินผู้ที่สามารถปล่อยขีปนาวุธได้อย่างแม่นยำ นักอุตสาหกรรมชาวฝรั่งเศสทั้งสองต้องการแสดงให้รัฐบาลของพวกเขาเห็นว่าอากาศยานจะกลายเป็นยุทโธปกรณ์ที่น่าเกรงขามในเร็ววัน พวกเขาไม่มีเจตนาที่จะห้ามปรามการใช้อาวุธชนิดใหม่เหล่านี้แต่มีเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาอาวุธดังกล่าว
หลักคุณธรรมที่ฝ่ายต่าง ๆ ยึดถืออย่างหนักแน่นในช่วงก่อนสงครามกำลังถูกท้าทาย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้จะยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นของการทำสงครามเป็นเหตุทำให้ข้อห้ามการทิ้งระเบิดทางอากาศถูกมองข้ามไป แต่ก็สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ด้วยเหตุที่การทิ้งระเบิดทางอากาศในเขตเมืองมีลักษณะเป็นการโจมตีอย่างไม่จำกัดเป้าหมาย จึงทำให้การโจมตีด้วยวิธีดังกล่าวตกเป็นข้อกังขาตลอดช่วงสงคราม แม้ความขัดแย้งจะท้าทายหลักคุณธรรมที่มีอยู่ในช่วงก่อนสงคราม แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่าหลักคุณธรรมดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพการณ์ในช่วงสงครามได้
เมื่อศึกษาการโฆษณาชวนเชื่อในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่ามีความพยายามให้เหตุผลต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในการใช้ยุทธวิธีใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์ทิ้งระเบิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1915 กองทัพอากาศฝรั่งเศสโจมตีพื้นที่โรงงานของเยอรมันด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศเป็นครั้งแรก โดยฝรั่งเศสสร้างความชอบธรรมให้กับยุทธวิธีดังกล่าวแม้ว่าการทิ้งระเบิดจะคร่าชิวิตคนงานและพลเรือน โดยอ้างว่าพื้นที่บริเวณ Ludwigshafen am Rhein เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่เป็นภัย เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตก๊าซพิษที่เยอรมันนำมาใช้ในสนามรบ สำหรับกรณีนี้แม้ต้นเหตุของความชอบธรรมได้สิ้นสุดไปแล้วไปในยามสงคราม แต่การใช้ยุทธวิธีดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไป
การละเมิดพันธกรณีที่ได้ลงนามไว้ในยามสันตินั้นไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายอย่างที่เข้าใจกัน ภายใต้พันธกรณีของปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ค.ศ.1868 มีข้อกำหนดห้ามใช้ระเบิดเพลิงที่มีส่วนประกอบของฟอสฟอรัสเพราะเป็นการ “ขัดต่อกฎหมายมนุษยธรรม … ซึ่งทำให้ผู้พิการได้รับความทุกข์ทรมานเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น หรือทำให้บุคคลดังกล่าวสูญเสียชีวิตโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” ในปี ค.ศ.1914 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันต้องพบกับบททดสอบทางมโนธรรม เนื่องจากขีปนาวุธเพลิงมีประสิทธิภาพสูงในการต่อต้านบอลลูนสังเกตการณ์ที่คอยกำกับการยิงของปืนใหญ่ นักบินเยอรมันเป็นทหารหน่วยแรกที่ได้รับคำสั่งที่กำกับให้ใช้ขีปนาวุธเพลิงเฉพาะกับเป้าหมายที่เป็นบอลลูนเท่านั้น และห้ามใช้กับเป้าหมายที่เป็นอากาศยานอื่นไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ในทำนองเดียวกันนักบินของอังกฤษและฝรั่งเศสออกมาเรียกร้องให้มีคำสั่งในทำนองเดียวกันเพราะเกรงว่าตนจะถูกประหารชีวิตอย่างรวบรัดหากถูกจับกุมโดยพบว่าครอบครองระเบิดชนิดดังกล่าว
หลักคุณธรรมที่ยังมั่นคงอยู่
การถูกจับตามองโดยต่างชาติมีส่วนในการชี้นำมาตรฐานคุณธรรมให้กับประเทศที่ทำสงคราม โดยเฉพาะในสงครามโลก นอกจากแต่ละประเทศจะต้องคอยคำนึงถึงภาพลักษณ์ในสายตาชาติพันธมิตรและประเทศที่วางตัวเป็นกลาง ในทำนองเดียวกันยังต้องคอยคำนึงเสียงสนับสนุนจากประชากรของตนเอง แม้ความยืดเยื้อและความร้ายแรงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะทำให้สาธารณชนของประเทศที่มีส่วนในสงครามใส่ใจกับสงครามน้อยลง แต่ผู้คนที่อยู่ห่างออกไปจากสนามรบยังคงกระตือรือร้นที่จะเห็นการเคารพปฏิบัติตามกฎหมายสงคราม เมื่อสหรัฐ ฯ เข้าร่วมสงครามในปี ค.ศ.1917 ประธานาธิบดี Woodrow Wilson ปฏิเสธไม่ให้กองทัพอากาศสหรัฐ ฯ เข้าร่วมปฏิบัติการ “การระเบิดทำลายเขตอุตสาหกรรมและย่านการค้าหรือประชาชนของชาติศัตรูที่ไม่มีความชัดเจน เพราะไม่มีความจำเป็นทางทหาร”
บุคคลใกล้ชิดมักถูกมองข้ามในการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการชี้นำหลักคุณธรรม ประวัติศาสตร์มักลืมกล่าวถึงบทบาทของสมาชิกในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดที่มีส่วนส่งเสริมให้ปัจเจกชนปฏิบัติตนให้ดีขึ้นโดยสอดคล้องกับคุณธรรมแต่ก็ยังมีบางกรณีที่ไม่เป็นไปตามบทบาทดังที่คาดการณ์ไว้ดังกล่าว อย่างในกรณีของ Fritz Haber ผู้รับผิดชอบกำกับดูแลกระบวนการผลิตและการใช้ก๊าซพิษของเยอรมัน ภรรยาของเขา Clara Immterwahr ซึ่งเป็นนักเคมีผู้มีพรสวรรค์เช่นเดียวกัน ตัดสินใจฆ่าตัวตายในปี ค.ศ. 1915 ระหว่างงานสังสรรค์เป็นเกียรติให้แก่ Haber สำหรับความสำเร็จในการโจมตีเมือง Ypres ด้วยการใช้ก๊าซพิษเป็นครั้งแรก โดยคร่าชีวิตเหยื่อไปกว่า 5,000 ราย
เราสามารถสังเกตแบบแผนทางสังคมในการให้การยอมรับอาวุธที่เป็นข้อกังขาได้หรือไม่
ในปี ค.ศ. 2014 François Cochet นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ผู้คนเข้าใจผิดและไม่มีการตั้งคำถามในช่วงอนุสรณ์ครบรอบหนึ่งศตวรรษแห่งสงคราม คนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจกับเหตุการณ์ “การสังหารในสนามเพลาะ” อีกทั้งยังไม่เชื่อว่าจริยธรรมสามารถเข้าไปมีบทบาทในความขัดแย้งที่ร้ายแรง
การลดทอนรายละเอียดทางประวัติศาสตร์จะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใด ถ้าไม่สามารถนำมาใช้บ่มเพาะความคิดอ่านในเชิงตั้งแง่กับอนาคต เชื้อเชิญให้ผู้คนมองประวัติศาสตร์ทางทหารแล้วพิเคราะห์ตามความเป็นจริงถึงสิ่งที่จะตามมา เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกเราพบว่ามุมมองของผู้คนที่มีต่อลักษณะและการใช้อาวุธบางประเภทนั้นไม่เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา โดยมีการเปลี่ยนทีท่าจากการประนามการใช้อาวุธ มาสู่การยอมทนให้เกิดขึ้นในภายหลัง พวกเราต้องให้ความสนใจกับปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้อาวุธดังกล่าวกลายเป็นที่ยอมรับหรือถูกปฏิเสธหากต้องการนำบทเรียนดังกล่าวมาปรับใช้ในปัจจุบัน
ในช่วงระหว่างสงคราม ข้อคัดค้านทางศีลธรรมต่อการใช้อาวุธเคมีทำให้ประชาคมระหว่างประเทศยกระดับการห้ามการใช้อาวุธเคมีภายใต้พิธีสารเจนีวา ค.ศ.1925 นอกจากนี้สิ่งที่มักถูกมองข้ามไป คือความพยายามในการควบคุมอาวุธในช่วงทศวรรษที่ 1920 ทำให้เกิดอุปสรรคในการยับยั้งการใช้ยุทธวิธีการรบในอากาศหรือใต้น้ำซึ่งยังไม่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนั้น Elihu Root หัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐ ฯ กล่าวในการประชุมนาวี ณ กรุงวอชิงตัน ว่าการใช้เรือดำน้ำนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมายทะเล เนื่องจากการใช้เรือดำน้ำทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ในการให้ความช่วยเหลือกับลูกเรือของเรือที่อัปปาง ตลอดช่วงทศวรรษที่ยี่สิบ ยานใต้น้ำถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกกรอบของสังคมจนกระทั่งเริ่มได้รับความชอบธรรมโดยเหตุผลที่ว่ายานใต้น้ำสามารถนำมาใช้ยับยั้งการก่อสงคราม โดยเฉพาะความเกี่ยวพันกับอาวุธนิวเคลียร์
บทเรียนทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าสำหรับกรณีที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับการริเริ่มนำมาใช้ในด้านการทหารนั้น เราไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนว่ากรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่สังคมให้การปฏิเสธตั้งแต่เริ่มแรก หรือเป็นกรณีที่สังคมให้การเลือกรับอย่างจำนนในภายหลัง ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศการตัดสินใจทางการเมืองต้องแลกมาด้วยการเสียสิ่งหนึ่งไป สำหรับกรณีนี้คือการประนีประนอมด้วยการผ่อนปรนพันธกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศหรือหลักคุณธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ทางด้านทหาร หรือสอดคล้องกับแต้มการเมืองหรือต้นทุนทางการเงินที่มีอยู่ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการปกปิดให้เป็นความลับและแรงกดดันทางการทูต
บทเรียนที่สามารถนำมาปรับใช้กับเทคโนโลยีทางทหารที่เพิ่งเกิดใหม่
แม้จะมองอนาคตตามความเป็นจริง แต่เราก็ไม่ควรด่วนสรุปไปว่าพันธกรณีระหว่างประเทศที่ทำขึ้นก่อนสงครามเพียงอย่างเดียวจะสามารถป้องกันไม่ให้แต่ละประเทศต่างแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด ในทางกลับกันบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสอนให้เราตระหนักว่าการที่สังคมให้การยอมรับอาวุธชนิดใหม่นั้นเป็นกระบวนการที่อ่อนไหวและซับซ้อน การพิจารณาถึงอาวุธชนิดใหม่ในอนาคต อย่างเช่นอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพที่ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหรืออาวุธที่สามารถกำหนดเป้าหมายด้วยตัวเองโดยไม่มีมนุษย์คอยควบคุม (fully autonomous weapons) จึงต้องคำนึงถึงความอ่อนไหวและความซับซ้อนของกระบวนการดังกล่าวด้วย
ระบบที่ไม่อาศัยมนุษย์ควบคุม (unmanned systems) เช่น gabet torpedo หรือการบังคับอากาศยานด้วยสัญญาณวิทยุโดยกัปตัน Max Boucher เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ บริบทเหล่านี้กลายเป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกมาอภิปรายในเรื่องจริยธรรมทางทหาร Elihu Root ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 1912 จะมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็น “หุ่นยนต์สังหาร” ซึ่งกำลังเข้าใกล้ความเป็นจริง แน่นอนว่าเขาต้องสนับสนุนความริเริ่มในระดับพหุภาคดั่งเช่นการประชุมว่าด้วยอาวุธตามแบบบางชนิด (certain conventional weapons) ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่าห้าปี ณ นครเจนีวา และแน่นอนว่าเขาก็คงเห็นว่าความพยายามทางการทูตดังกล่าวอาจไร้ผลหากไม่มีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสาธารณะในประเด็นด้านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคม
ด้วยเหตุที่ Root ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการให้ข้อมูลข่าวสาร สร้างความกระจ่าง และด้วยการหล่อหลอม “ความเห็นของประชาชนทั่วโลก” ซึ่งอ้างอิงมาจากคำกล่าวของเขา จึงได้ก่อตั้งวารสาร Foreign Affairs ในปี ค.ศ.1922 ผู้คนในช่วงวัยเดียวกันกับเขาต้องผ่านสงครามที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั่วโลก อีกทั้งยังมีปัจจัยต่าง ๆ ในสนามรบที่ทับซ้อนกัน (ทั้งทางด้านกายภาพ ข้อมูลข่าวสาร และอารมณ์เป็นต้น) ทำให้ไม่สามารถพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ แยกออกจากกันได้อีกต่อไป สงครามโลกครั้งที่หนึ่งอันเป็นสงครามครั้งแรกที่มีการใช้เทคโนโลยี สงครามนี้สอนให้คนในรุ่นปัจจุบันทราบว่าควรพิจารณาประเด็นเช่น การทำสงครามด้วยกลวิธีทางอัลกอริทึมควบคู่ไปกับการพิจารณาประเด็นความซับซ้อนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลของพลเรือนที่มีอยู่ทั่วไป
ตามที่ Henry Kissinger กล่าวไว้เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของปัญญาประดิษฐ์ รัฐบาลไม่เพียงมีหน้าที่ในการตระเตรียมทรัพย์สินทางทหารเพื่อรับมือกับสงครามในอนาคต แต่ยังมีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์อันเป็นเกิดจากผลพวงของปัญญาประดิษฐ์ ในการนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามกับเทคโนโลยีเชิงบังคับ (coercive technologies) ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยขาดการกำกับดูแล (ทั้งในทางพลเรือนและทางทหาร) ในภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
Elihu Root ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลได้คาดการณ์ไว้ว่าการใช้กฎหมายมนุษยธรรมจะไม่เกิดประโยชน์หากไม่สามารถนำไปถ่ายทอดในเวทีอภิปรายต่าง ๆ ทั่วโลก ทุกวันนี้การอภิปรายเกี่ยวกับการทำสงครามด้วยกลวิธีทางอัลกอริทึมจึงไม่ควรถูกจำกัดอยู่ในวงแคบดังที่เป็นอยู่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้อาจเป็นบทเรียนในอีกร้อยปีข้างหน้า
แปลและเรียบเรีบยงจากบทความต้นฉบับ Is arms control over emerging technologies just a peacetime luxury? Lessons learned from the First World War
ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย