เวลา 30 ปี มีค่ามากแค่ไหน?

สำหรับอัลเบอร์โต้ ไคโร เพื่อนร่วมงานของเรา เวลา 30 ปี มีค่ามากพอจะช่วยผู้คนนับแสนในอัฟกานิสถานให้กลับมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังสูญเสียแขนขาไปกับสงครามและสถานการณ์ความรุนแรง

‘ผมหวังว่า ตัวเองจะมีเวลามากกว่านี้สัก 30 ปี’ อัลเบอร์โต้ให้สัมภาษณ์

สำหรับเขา การได้เห็นรอยยิ้มและชีวิตใหม่ของผู้คนในอัฟกาสนิสถาน คือของขวัญมีค่ามากที่สุดของชีวิต

หมุนเวลากลับไปในปี 1991 อัลเบอร์โต้ ไคโร อดีตนักกฎหมายและนักกายภาพบำบัดหนุ่มชาวอิตาลี่ เดินทางมาถึงกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรกในปี 1991 อะไรทำให้ นายอัลเบอร์โต้คนธรรมดา กลายเป็นคุณอัลเบอร์โต้ผู้เป็นที่รักของผู้คนมากมาย?

‘เมื่อคุณเสียขา คุณไม่ได้เสียแค่อวัยวะ ส่วนหนึ่งของหัวใจ ความรู้สึก ความเชื่อมั่น กระทั่งตัวตนของคุณก็ถูกทำลายตามไปด้วย’ อัลเบอร์โต้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The New York Times เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2018 ในงานครบรอบ 30 ปี การก่อตั้งศูนย์ฟื้นฟูช่วยเหลือผู้พิการในอัฟกาสนิสถาน ‘ดังนั้นงานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ จึงไม่ใช่แค่การมอบคืนอวัยวะ แต่เป็นการมอบคืนจิตใจและความเชื่อมั่น ทำให้ผู้พิการเข้าใจ ว่าตัวเขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าคนอื่น’

ปัจจุบันศูนย์ฟื้นฟูช่วยเหลือผู้พิการของ ICRC มีอยู่ด้วยกัน 7 ที่ ทั่วประเทศ

ย้อนกลับไป 30 ปี ก่อน โปรแกรมช่วยเหลือผู้พิการ ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้สูญเสียแขนขาจากสงครามเพียงเท่านั้น อัลเบอร์โต้ตระหนักว่าสิ่งนี้ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะมีผู้คนราว 3-5% ในอัฟกาสนิสถาน ต้องกลายเป็นผู้พิการเพราะผลกระทบจากความรุนแรง หรืออุบัติเหตุอื่นๆ

‘ในจำนวนผู้ป่วย 50 คน จะมีเพียง 15 คนที่เข้าข่าย เราต้องบอกผู้ป่วยอีก 35 คนให้กลับไป – เฮ่ ขอโทษทีแต่เราช่วยอะไรให้คุณไม่ได้ – พอจินตนาการออกมั้ยว่ามันน่าเศร้าใจมากแค่ไหน’

อัลเบอร์โต้เอ่ยถึงความทรงจำในตอนนั้น สำหรับเขา การเลือกรับผู้ป่วยเป็นการเลือกปฎิบัติที่ยอมรับไม่ได้

เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนแปลง หมายความว่าศูนย์ต้องรับภาระหนักขึ้น การรักษาผู้ป่วยจากสงครามอาจต้องใช้สกิลแบบหนึ่ง แต่การเปิดรักษาเด็กเล็กที่มีอาการแทรกซ้อน เช่น สมองพิการ หรือ โรคประจำตัวอื่นๆ จำเป็นต้องใช้ทักษะเฉพาะด้าน

ในทศวรรษที่ผ่านมาศูนย์ฟื้นฟูมีผู้ป่วยใหม่ปีละประมาณ 10,000 ราย ในจำนวนนั้น มีผู้ป่วยราว 1,500 เท่านั้นเป็นเหยื่อสงคราม ศูนย์ของ ICRC ยังเปิดประตูต้อนรับผู้คนอีกกว่า 1 แสน ที่กลับมาตรวจสุขภาพในทุกๆ ปี

ปี 2018 นอกจากจะเป็นปีครบรอบศูนย์ อัลเบอร์โต้ยังกล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยในปีล่าสุด พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยมีผู้ป่วยมากกว่า 12,000 คนที่กำลังความช่วยเหลือ จำนวนที่มากขึ้นเป็นภาพสะท้อนของสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศที่อยู่ในขั้นอันตราย

ปัจจุบัน ศูนย์ของ ICRC ให้บริการทุกวันไม่เกี่ยงสถานการณ์ พนักงานกว่า 750 คน ในแต่ละศูนย์ ล้วนเป็นอดีตผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษา ‘ผมอยากให้ที่นี่เป็นสถาณที่สำหรับผู้พิการ ที่ดำเนินการโดยคนพิการอย่างแท้จริง’

อัลเบอร์โต้ในวัย 66 ปี นั่งมองภาพต่างๆ เคลื่อนผ่านไปในระหว่างพิธีฉลอง เขาเล่าว่าคนส่วนใหญ่ชอบถาม 30 ปีนานพอแล้วหรือเปล่าสำหรับเขา

‘ผมบอกพวกเขา หวังว่าตัวเองจะอยู่ได้นานกว่านี้อีก 30 ปี’ ความสุขที่ได้เห็นผู้พิการสามารถกลับมายืน และมีความสุขกับชีวิตได้อีกครั้ง เป็นยาวิเศษของชีวิต

‘ทุกวันคือรางวัล’ เขากล่าว ‘ถ้าชั่งน้ำหนักสิ่งที่ผมให้และสิ่งที่ได้กลับมา ผมบอกได้เลยว่าผมได้รับกลับมามากมาย’

สำหรับชายวัยเกษียณความสุขของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แต่อยู่ใกล้แค่มือคว้า

Reference: แปลจากบางส่วนของบทความ Quiet ‘Hero’ Marks 30 Years Restoring Limbs, and Dignity, in War