ช่วงเวลา 6 เดือนที่ฉันต้องย้ายจากมหานครใหญ่ที่เต็มไปด้วยความอึกทึกวุ่นวายอย่างกรุงเทพฯ ไปยังอำเภอมาบัน ในสาธารณรัฐซูดานใต้เปรียบเสมือนกับการเล่นรถไฟเหาะตีลังกาไม่มีผิด แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งฉันกำลังจะได้เดินทางไปยังดินแดนที่ไหนสักแห่งในโลก เพื่ออะไรบางอย่างที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อนในฐานะผู้แทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับฉัน
มาบัน เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกตอนบนของประเทศซูดานใต้ ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศซูดานและเอธิโอเปีย ที่นี่เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้อพยพประมาณ 136,000 คน ซึ่งช่วงเวลาที่ฉันเดินทางไปถึงที่นั่นเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญ สำหรับคนที่ทำงานในแวดวงนี้มายาวนานถึง 9 ปีและเดินทางมากว่า 20 ประเทศในฐานะผู้แทนขององค์กร อาจจะคิดว่าตัวเองได้รู้ได้เห็นมาหมดแล้วแต่ฉันกลับพบว่าตัวเองคิดผิดถนัด
ความประทับใจแรกถือเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนที่จะเดินทางมาถึงมาบัน ฉันคิดว่าตัวเองทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ทั้งอ่านหนังสือเกี่ยวกับความขัดแย้งในซูดานใต้และไหนยังจะรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆอีกมากมาย แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับของจริงที่ฉันได้เจอตรงหน้า เริ่มตั้งแต่สนามบินเล็กๆที่มีคนหลายร้อยคนต่อแถวยาวจนมองไม่เห็นปลายแถวและไม่ว่าจะมองหาเท่าไหร่ก็ไม่รู้ว่าจุดตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่ส่วนไหนของสนามบิน
การเป็นชาวต่างชาติในซูดานใต้ย่อมตกเป็นเป้าสายตา ฉันรู้สึกอึดอัดนิดหน่อยและพยายามสอดส่ายสายตามองหาผู้ร่วมทางชาวต่างชาติคนอื่นๆที่เหมือนกับฉัน หลังจากออกแรงทั้งผลักทั้งดันในที่สุดฉันก็ได้ประทับตราเข้าเมืองพร้อมกับชายแปลกหน้าที่อุ้มกระเป๋าเดินทาง 2ใบของฉันเดินนำหน้าโดยไม่หันมาถามความเห็นของฉันก่อนเลยว่าต้องการใช้บริการหรือไม่
หลังออกจากสนามบินอันวุ่นวาย ฉันก็มุ่งหน้าตรงไปยังกรุงจูบา เมืองหลวงของซูดานใต้ทันที ที่นี่ก็เหมือนกับเมืองหลวงทั่วไปที่มีถนนราดยางและอาคารคอนกรีต ฉันรู้สึกประทับใจอย่างมาก ขับรถไปไม่นานก็มาถึงสำนักงานของ ICRC กำแพงของที่นี่เต็มไปด้วยร่องรอยกระสุนปืนที่เป็นผลมาจากการสู้รบกันในเดือนกรกฏาคม 2559 ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังฝ่ายตรงข้ามใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดี
หลังจากเข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นเวลาสองวันเต็ม ฉันก็ออกเดินทางด้วยเที่ยวบินเพื่อมนุษยธรรมขององค์การสหประชาชาติหรือ UN Humanitarian Air Service (UNHAS) ไปยังอำเภอมาบัน ฉันเป็นผู้โดยสารเพียงคนเดียวบนเที่ยวบินที่เดินทางในชุดพร้อมลุยที่ประกอบด้วยรองเท้าบูธยาง กระเป๋าสองใบและเป้หนึ่งใบ
ก่อนมาถึงฉันจินตนาการหน้าตาของอำเภอมาบันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก่อนจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากฝุ่นดินสีแดงบนรันเวย์สนามบินและรอยยิ้มของเพื่อนร่วมงานท้องถิ่นที่คว้ากระเป๋าฉันไปจากที่เก็บสัมภาระ พื้นที่ทำงานและพักผ่อนของเจ้าหน้าที่ ICRC ที่นี่มีอยู่ 3 แบบคือ “tukul” (กระท่อมทรงกลม) “rubhall” (เต้นท์ขนาดเท่าสนามบาสเกตบอล) และเต้นท์ขนาดเล็กลดหลั่นกันไป พอได้เห็นเช่นนี้สัญชาติญาณบอกฉันทันทีว่า เตรียมพร้อมสำหรับงานภาคสนามได้ ซึ่งมันจะไม่เหมือนกิจวัตรเดิมๆที่ฉันเคยทำมาอีกต่อไป
การปฏิบัติภารกิจตลอด 6 เดือนของฉันที่นั่นเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่เหนือจริงมากมาย นาทีหนึ่งฉันอาจจะติดอยู่ตรงกลางระหว่างการสู้รบของกองกำลังสองฝ่าย นาทีถัดมาฉันกำลังนั่งรถไปบนถนนลูกรังขรุขระที่ไม่มีวิวอะไรนอกจากพุ่มไม้เตี้ยๆสีน้ำตาลตลอดทาง ที่อำเภอมาบันฉันได้ช่วยเจ้าหน้าที่เก็บศพลงถุงเพื่อนำไปประกอบพิธี ฉันได้พูดคุย ร้องเพลง และท่องหนังสือเสียงดังท่ามกลางความมืดในเต้นท์ซึ่งทำให้เพื่อนร่วมงานสนใจว่าฉันกำลังอ่านอะไรอยู่
ในชีวิตฉันไม่เคยรู้สึกถึงจังหวะของความเงียบและความไม่แน่นอนเท่าที่อำเภอมาบันนี้มาก่อนเลย บางครั้งคุณได้แต่นั่งรออย่างใจจดจ่อเพื่อให้เวลาค่ำคืนมาถึงเพราะนั่นเป็นช่วงเวลาเดียวที่ผู้คนไม่สู้รบกันด้วยเหตุผลว่าแหล่งให้แสงสว่างเพียงที่เดียวคือดวงดาวบนท้องฟ้าให้แสงสว่างไม่พอ หลายครั้งที่ฉันตื่นขึ้นพร้อมกับเสียงที่ดังเหมือนปืน ฉันกระโดดพรวดเดียวออกจากเต้นท์ด้วยความตกใจก่อนที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะหันมาพร้อมรอยยิ้มและบอกว่านั่นเป็นเสียงปืนแห่งความปีติยินดี
สิ่งที่ตกผลึกอยู่ในความทรงจำของฉันคือช่วงเวลาที่เด็กๆจากอำเภอมาบันวิ่งเข้ามารายล้อมตัวฉันพร้อมกับพูดว่า “Khawaja khawaja” และถามหาขวดน้ำพลาสติกที่พวกเขาเรียกว่า ‘kistal’ สิ่งหนึ่งที่ฉันตระหนักได้หลังจากใช้เวลาในอำเภอมาบันมาได้ 2-3 เดือนก็คือ ผู้คนที่นี่ปรับตัวและฟื้นตัวจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับพวกแม่ๆ ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เหมือนกันทุกคน มนุษย์ที่นี่ก็ไม่ได้แตกต่างจากมนุษย์ที่อื่น เว้นแต่ว่าพวกเขาคือเหยื่อของสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจของตัวเอง
คุณค่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ยังมีความหมายตรงตามตัวของมัน เราเป็นมนุษย์ที่มีศักด์ศรีและเราปกป้องทุกอย่างเท่าที่ทำได้แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ฉันได้เห็นผู้คนที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนเพราะการสู้รบ ได้เห็นเด็กๆหัวเราะและเล่นกระโดดเชือกใกล้กับที่พักอาศัยชั่วคราวที่ทำจากเสาไม้ ฉันได้เห็นใบหน้าของสมาชิกครอบครัวที่ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งและสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในอุ้งมือเมื่อได้รับการแบ่งปันเรื่องราวแห่งความเจ็บปวด
สิ่งที่ ICRC หรือองค์กรด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ทำ เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งมนุษยธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่สมควรได้รับ พื้นที่ๆมีความต้องการอันยิ่งใหญ่เมื่อเทียบกับสิ่งเล็กน้อยที่พวกเราสามารถมอบให้ได้ แต่การปรากฏตัวของพวกเราที่นั่นก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อบอกผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบเหล่านั้นว่าพวกเขาไม่ได้ถูกลืมและเชื่อฉันเถอะว่านั่นคือ สิ่งสำคัญที่สุดที่ไม่มีอะไรจะเทียบได้อีกแล้ว