คณะกรรมการรางวัลโนเบลประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ค.ศ. 2018 ให้แก่ นาเดีย มูราด (Nadia Murad) และ เดนิส มูเควเก นักรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงทางเพศในยามสงคราม ข่าวนี้สร้างความหวังให้กับพลเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มสตรี ที่เคยเผชิญกับประสบการณ์เลวร้ายในยามสงคราม

เฮเลน เดอแฮม ผู้อำนวยการฝ่ายกฏหมายและนโยบายระหว่างประเทศของ ICRC แสดงความยินดีกับผู้รับรางวัลทั้งสอง และยกย่องการตัดสินใจของคณะกรรมการที่ดึงความสนใจมาสู่อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในยามสงครามซึ่งมักจะไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึง และเฮเลนยังได้กล่าวให้กำลังใจแก่ผู้ที่เคยประสบกับความรุนแรงทางเพศในสถานการณ์ความขัดแย้งรวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ความรับผิดต่อการกระทำความรุนแรงทางเพศในยามสงคราม: ความสำเร็จของคณะตุลาการระหว่างประเทศ

ข้อบังคับห้ามการข่มขืนเป็นข้อบังคับที่เก่าแก่และถือเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายแห่งสงคราม ประมวลกฎหมายแห่งสงครามฉบับแรกของยุคปัจจุบัน กำหนดให้การข่มขืนเป็นการกระทำที่ต้องห้ามและต้องโทษประหารชีวิต ภายหลังจากนั้นอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1949 และพิธีสารเพิ่มเติม ค.ศ.1977 (The 1949 Geneva Conventions and their Additional Protocols of 1977) ได้กำหนดให้การข่มขืนตลอดจนความรุนแรงทางเพศรูปแบบอื่นเป็นการกระทำที่ต้องห้ามเช่นเดียวกัน โดยมีการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งและโดยบัญญัติผ่านข้อห้ามการปฏิบัติทารุณกรรม การทรมาน การทำลายเกียรติยศแห่งบุคคล การใช้กำลังกระทำอนาจาร และการบังคับให้เป็นโสเภณี

อย่างไรก็ตามข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ นับแต่ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง การพิจารณาคดีอาญาระหว่างประเทศ ณ เมืองนูเรมเบิร์กและกรุงโตเกียว ไม่ได้พิจารณาพิพากษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนในฐานะที่เป็นอาชญากรรมสงคราม จวบจนช่วงยุคทศวรรษ ค.ศ. 1990 ท่ามกลางความขัดแย้งภายในอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียและในสาธารณรัฐรวันดา เหตุการณ์ความขัดแย้งในครั้งนั้นทำให้ศาลรับรู้ถึงประสบการณ์เลวร้ายที่บรรดาสตรี บุรุษ เด็กชายและเด็กหญิง ตลอดจนครอบครัวและชุมชน ที่ต่างตกเป็นผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ เหตุการณ์นี้ผลักดันให้ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงการยับยั้งไม่ให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล ตลอดจนข้อหารือกำหนดกระบวนการในชั้นศาลเพื่อลงโทษการละเมิดกฎหมายสงครามดังกล่าวที่เหมาะสม

Christine Beerli รองประธาน ICRC พูดคุยกับเหยื่่อความรุนแรงทางเพศในประเทศมาลี

การจัดตั้งคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียและสาธารณรัฐรวันดา  (International Criminal Tribunals for Yugoslavia: ICTY และ Internaitonal Criminal Tribunals for Rwanda: ICTR) แสดงให้เห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศยืนหยัดในหลักการว่าอาชญากรรมความรุนแรงทางเพศต้องถูกลงโทษและยังเรียกร้องให้ปัจเจกชนต้องมีความรับผิดต่ออาชญากรรมที่ก่อขึ้น ในท้ายที่สุดความมุ่งหมายดังกล่าวก็บังเกิดผล ในคดี ของศาล ICTY คดีนี้เป็นคดีสำคัญที่พิจารณาข้อหาการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อชาวบอสเนียมุสลิม ในระหว่างการสอบสวนโดยกองกำลังทหารโครเอเชีย

ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) จึงได้รับการยกร่างขึ้นโดยอาศัยแนวคำพิพากษาดังกล่าว ข้อ 8 แห่งธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศบัญญัติว่า “การข่มขืน การทำให้เป็นทาส การบังคับให้เป็นโสเภณี การบังคับให้ตั้งครรภ์ … การบังคับให้ทำหมัน หรือรูปแบบอื่นของการกระทำรุนแรงทางเพศ” เป็นอาชญากรรมสงคราม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสงครามระหว่างประเทศหรือสงครามภายในประเทศ เมื่อปี ค.ศ.2017 ในคดี Ntaganda (Appeal Chamber) ยืนยันถึงเขตอำนาจศาลที่มีเหนืออาชญากรรมสงครามที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืน และการทำให้เป็นทาสทางเพศ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทำต่อกองกำลังทหารฝ่ายเดียวกับผู้ที่ก่ออาชญากรรมก็ตาม การตีความดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) ในบทวิเคราะห์แห่งข้อ 3 ร่วมแห่งอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1949

บทบาทของกระบวนการภายในประเทศต่อการดำเนินคดีและลงโทษการกระทำความรุนแรงทางเพศ

ICC ICTR และ ICTY ต่างทำหน้าที่ในการบันทึกเรื่องราวความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย อีกทั้งยังมีบทบาทในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ถึงกระนั้นก็ตาม ในปัจจุบันความรุนแรงทางเพศยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสงคราม สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่ามีการปกปิดการกระทำรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น จึงทำให้ยากต่อการนำมาดำเนินคดี อีกทั้งการตีตราจากสังคม ความหวาดกลัวจากการตอบโต้แก้แค้น และความเข้าใจผิด ที่มีอยู่ในสังคมก็เป็นส่วนขวางกั้นไม่ให้ผู้เสียหายและพยานกล้าเปิดเผยตัวตนและเข้ารับความช่วยเหลือที่ควรได้รับ

แม้ว่าหลักคำพิพากษาโดยศาลและคณะตุลาการระหว่างประเทศนั้นจะมีความสำคัญมาก แต่ก็ไม่สามารถละเลยถึงบทบาทของกระบวนการภายในประเทศในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ทั้งนี้ รัฐต้องดำเนินการบัญญัติกฎหมายให้รองรับการสอบสวน การดำเนินคดี และการลงโทษการกระทำความรุนแรงทางเพศ ในบางกรณีรัฐจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนควรดำเนินนโยบายเพื่อลดภาระของผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรม ด้วยการฝึกอบรมเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม การจัดกระบวนการพิจารณาให้เหมาะสม ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย เป็นต้น

แคมเปญรนรงค์เพื่อช่วยเหลือเหยื่อถูกคุกคามทางเพศให้สามารถกลับคืนสู่สังคมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

การรับมือกับความรุนแรงทางเพศ: แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ

ภายใต้แนวทางดังกล่าว ICRC มีพันธกิจในการป้องกันและรับมือกับการความรุนแรงทางเพศในยามสงคราม ICRC มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือรัฐในการนำมาตรฐานระหว่างประเทศมาปรับใช้ในนโยบายภายในประเทศ ICRC ยังได้วางยุทธศาสตร์ด้านความรุนแรงทางเพศสำหรับปี ค.ศ.2018-2022 ยุทธศาสตร์ได้วางหลักการในการดำเนินงานขององค์กร โดยมีหลักการหนึ่งคือ “ห้ามก่อภยันตราย (do no harm)” หลักการดังกล่าวตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่าเกิดการกระทำความรุนแรงทางเพศในยามสงคราม จนกว่าจะสามารถพิสูจน์เป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ให้ฝ่ายจำเลย นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังกำหนดพันธกิจในการให้ความช่วยเหลือแบบองค์รวมโดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชา ตลอดจนแนวทางต่อความรุนแรงทางเพศที่มองผ่านมิติทางด้านต่าง ๆ อาทิ เพศสภาพ เผ่าพันธุ์ ชนชั้น เชื้อชาติ ความพิการ สัญชาติ ศาสนา สถานะผู้ย้ายถิ่นฐาน และเพศวิถี ว่าส่งผลอย่างไรต่อความเปราะบาง ความต้องการ สถานภาพ และประสบการณ์กับความรุนแรงทางเพศ การประเมินผ่านมุมมองรอบด้านนั้นจำเป็นต่อการปรับปรุงบริการสำหรับผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ เพื่อให้ผู้เสียหายทุกคนสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้

เฮเลนได้กล่าวปิดท้ายถึงประสบการณ์ภาคสนามร่วมกับ ICRC ซึ่งเธอได้เล่าถึงพัฒนาการทางกฎหมายให้บรรดาสตรีที่เป็นผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศได้ฟัง สัมผัสได้ว่าพวกเขาคลายความกังวลใจภายหลังจากได้รับฟังเรื่องดังกล่าว (สตรีเหล่านั้นกล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นและศาลได้ตัดสินเช่นนั้นแล้ว”) สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้สตรีเหล่านั้นสามารถยืนหยัดในศักดิ์ศรีของตนเอง ดังเช่นความกล้าหาญและความมุ่งมั่นของมูเควเก และมูราด ที่แสดงให้เห็นว่าทุกคนสามารถก้าวผ่านอุปสรรคไปได้มากเพียงใด ถึงกระนั้นความพยายามจากนักรณรงค์ทั้งสองและจากหลายคนทั่วโลกผู้ทำหน้าที่ป้องกันความรุนแรงทางเพศก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างมากในเวลานี้ ทุกคนต้องไม่ย่อท้อและอุทิศตนให้กับมนุษย์ชาติที่ตกอยู่ท่ามกลางสงคราม

แคมเปญรนรงค์เพื่อช่วยเหลือเหยื่อถูกคุกคามทางเพศให้สามารถกลับคืนสู่สังคมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

แปลและเรียบเรีบยงจากบทความต้นฉบับ Shining a spotlight on sexual violence in war: The 2018 Nobel Peace Prize

ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย