คืนวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 การพังลงของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ทำให้มวลน้ำกว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตรทะลักเข้าท่วม 6 หมู่บ้าน ในแขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว จนถึงตอนนี้มีรายงานผู้เสียชีวิต 39 ราย และยังสูญหายอีก 97 ราย
ในขณะที่ฤดูฝนยังดำเนินต่อไป การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจึงเต็มไปด้วยความท้าทาย ถนนบางสายรวมไปถึงสะพานหลายแห่งยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ประชาชนในพื้นที่หลายพันต้องอาศัยร่วมกันอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราว ส่วนกาชาดลาว (กาแดงลาว) ก็ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อจัดหาสิ่งของบรรเทาทุกข์ และจัดส่งความช่วยเหลือ รวมไปถึงน้ำสะอาดวันละ 15,000 ลิตร ให้กับผู้คนหลายพันในเขตสนามไซ (Sanamxay)– พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด
ภาพถ่ายต่อไปนี้ บอกเล่าเรื่องราวของพี่น้องชาวลาวแต่ละท่าน กับชีวิตปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความหวังและกำลังใจ
วันที่ 23 กรกฎาคมไม่ต่างจากวันทั่วๆไป ในชีวิตของ Kauy เด็กหนุ่มอายุ 14 ช่วงปิดเทอมแบบนี้ เขามักเข้านอนตอน 1 ทุ่มตรง แต่แล้วหนึ่งชั่วโมงให้หลัง Kauy ถูกปลุกด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝัน – น้ำกำลังไหลมาถึงหมู่บ้านและชีวิตของเขาและพ่อ กำลังตกอยู่ในอันตราย ‘พ่อปลุกผมก่อน แล้วถึงวิ่งไปที่บ้านของพี่ชายผม’ เขาเล่า ‘พวกเราตามมาทีหลัง นำเรือของบ้านมาด้วย มันน่ากลัวมากในตอนนั้น ตอนนี้ผมคิดถึงบ้าน และสัตว์เลี้ยงของพวกเรา บ้านเรามีทั้งหมู่ ไก่ และเป็ด พวกมันตายหมดแล้ว’
เช่นเดียวกับครอบครัวส่วนใหญ่ที่สูญเสียบ้าน Kauy และครอบครัวอาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวที่โรงเรียนสนามไซ ตอนนั้นเองที่ Kauy ตัดสินใจสมัครเป็นอาสาสมัครกาชาด ‘เราคิดว่าอาจไม่รอดชีวิตด้วยซ้ำ ฉันดีใจที่ตอนนี้ลูกชายได้ทำประโยชน์ให้กับกาชาดลาว เขาช่วยแจกจ่ายสิ่งของจำเป็นตั้งแต่มุ้งกันยุง ผ้าห่ม ไปจนถึงน้ำสะอาด พวกเรายังได้รับเต็นท์ ข้าว และเครื่องมือสำหรับประกอบอาหารอีกด้วย’ Nang แม่ของ kauy กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
Khamla ไม่โชคดีเหมือน Kauy ชายวัย 30 ปีที่อยู่ตรงหน้า เสียภรรยาและลูกสาวทั้งสองไปกับเหตุภัยพิบัติ จนถึงวันนี้มีเพียงร่างของภรรยาเท่านั้น ที่ถูกพบโดยหน่วยกู้ภัย ‘ผมได้ยินว่าน้ำกำลังมา เลยรีบนำเรือกลับบ้าน แต่ถูกขวางด้วยกระแสน้ำที่ไหลท่วมหลายพื้นที่ ผมพยายามตามหาพวกเขาในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราด ผมถามเพื่อนบ้านว่าเห็นภรรยากับลูกๆ บ้างไหม พวกเขาบอกว่าได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ท้ายที่สุด ผมเจอแค่ลูกชายที่กำลังเกาะขอนไม้อยู่’
Khien ในวัย 63 เป็นหญิงชราที่ร่าเริง ดูเผินๆ คงไม่ทราบว่าเธอเพิ่งเสียทุกอย่างไปในคืนน้ำท่วม
‘บ้านของฉันถูกพัดหายไปกับสายน้ำ’ เธอกล่าวระหว่างสูบบุหรี่ม้วน ‘มันแย่มาก ฉันไม่เหลืออะไรเลยตอนนี้ มีแค่กระเป๋าสตางค์และกระโปรงที่หยิบติดมาจากบ้าน ตอนน้ำมาถึง ฉันรีบขึ้นเรือและออกจากบริเวณน้ำท่วมหนัก ฉันอยู่บนหลังคาบ้านเป็นเวลาหนึ่งวันเต็มๆ โดยที่ไม่มีอาหาร’
ห้องเรียนแห่งนี้ กลายเป็นบ้านชั่วคราวของ Phonesi เธอเล่าให้ฟังว่าการเตือนภัยน้ำท่วมมาไม่ถึง เธอมารู้เรื่องนี้ตอนที่ระดับน้ำขึ้นสูงมาก และเริ่มจะพัดบ้านเธอไปไกล ในตอนนั้นเธอและครอบครัวอีก 6 ชีวิต ตัดสินใจขึ้นไปอยู่บนต้นมะพร้าว รออยู่อย่างนั้นจนรุ่งสาง กระทั่งเรือกู้ภัยผ่านมาพบ
สองไมล์จากโรงเรียนเป็นที่ตั้งศูนย์พักพิงอีกแห่งที่ Phoukhong ประจำการอยู่ ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พักของเขามักมีผู้คนมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาตามข่าวของสามชิกครอบครัวที่สูญหาย แม้ข่าวที่ได้ส่วนใหญ่ จะเป็นข่าวร้ายจากเจ้าหน้าที่ทหารที่นำภาพร่างผู้เสียชีวิตมาติดตามหาญาติ
Nhian เสียลูกสาวและหลานทั้งสองไปในเหตุน้ำท่วม คุณตาวัย 69 มาเยี่ยมที่เก็บศพทุกวันหวังได้พบร่างของหลานๆ ‘ผมคิดว่าร่างของพวกเขาถูกฝังลึกอยู่ใต้ดินโคลน’ คุณตากล่าว ‘ผมต้องหาพวกเขาให้เจอ’ จนถึงตอนนี้มีเพียงร่างของลูกสาวเท่านั้นที่ถูกพบ
ไม่ไกลกันนั้น Sonesavanh กำลังจัดสิ่งของบรรเทาทุกข์ขึ้นบนเฮลิคอปเตอร์ นี่เป็นครั้งที่สองที่ชายหนุ่มวัย 26 ปี มีโอกาสเดินทางไปสนามไซ ย้อนกลับไปช่วง 4 วันแรกหลังเขื่อนแตก Sonesavanh เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมกู้ภัยทางน้ำของกาชาดลาว ทีมของเขาเดินทางไปตามหมู่บ้าน พาชาวบ้านมายังโรงเรียนสนามไซ ที่แปรสภาพไปเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตอนนี้เขาทำงานร่วมกับหน่วยสุขาภิบาลและน้ำดื่มเพื่อจัดหาน้ำสะอาดให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ปัจจุบันมีผู้ประสบภัย 1,632 คน ในศูนย์ช่วยเหลือ 3 แห่ง ความช่วยเหลือบางส่วนยังต้องอาศัยเฮลิคอปเตอร์เพราะถนนหลายสายยังได้รับผลกระทบหนักจากภัยพิบัติเมื่อเดือนกรกฎาคม
ภาพและบทความต้นฉบับจาก Matthew Carter, IFRC – In Pictures: After the Laos floods