ICRC ทำอะไรในสงครามโลกครั้งที่สอง? : เกิดอะไรในระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

บทความ / บล็อค

ICRC ทำอะไรในสงครามโลกครั้งที่สอง? : เกิดอะไรในระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

ทางเข้าค่ายกักกัน Auschwitz-Birkenau ในโปแลนด์

วันที่ 27 มกราคม เป็นวันครบรอบการปลดปล่อยเชลยศึกในค่ายกักกันอาชวิทซ์-เบียร์เคเนาโดยฝ่ายสัมพันธมิตร (Auschwitz-Birkenau 1943-1945) ในสายตาคนทั่วไป ค่ายกักกันนาซีเป็นหลักฐานความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ สำหรับผู้ต้องขังและครอบครัว สิ่งนี้เป็นรอยแผลที่เน้นย้ำความเกลียดชังของมนุษย์ต่อสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจ แต่สำหรับ ICRC เหตุการณ์นี้คือความผิดพลาดยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การปฎิบัติงานด้านมนุษยธรรมที่ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และ ไม่อาจปฏิเสธได้

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวยิวประสบเคราะห์กรรมอย่างหนักใต้การปกครองของฮิตเลอร์ การริดรอนสิทธิและการเข้ายึดทรัพย์สิน เป็นเรื่องปกติที่พบเจอกันทุกวัน ชาวยิวถูกบังคับให้อาศัยรวมกันใน ghetto หรือชุมชนแออัดที่รัฐจัดหาไว้ให้ ทุกคนต้องติดสัญลักษณ์ดาวหกแฉกสีเหลือเพื่อบ่งบอกและแบ่งแยกชาวยิวออกจากผู้ต้องขังและพลเมืองอื่นๆ ชาวยิว ยิปซี และผู้ต้องขังนับล้านเสียชีวิตในค่ายกักกันเนื่องจากการทำทารุณโดยเจตนา โรคระบาด การอดอาหาร และการใช้แรงงานหนัก หรือถูกประหารชีวิตเนื่องจากไม่สามารถใช้แรงงานได้

ความผิดพลาดและเหตุการณ์ที่ตามมา เกิดจากความจริงที่ว่า ICRC ไม่ได้ทำทุกอย่างตามกำลังที่มีเพื่อยุติการข่มเหงและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพราะยังติดอยู่ในกรอบขั้นตอนการทำงานที่ต้องพี่งหลักกฎหมายและการตัดสินใจที่ช้าและแคบเกินกว่าจะสามารถยับยั้งเหตุ

ในค่าย Auschwitz กำแพงไม่ได้มีไว้แค่จำกัดอาณาเขต แต่ยังใช้เป็นที่ยิงเป้าเหล่าผู้ต้องขังอีกด้วย

ICRC ในตอนนั้นเชื่อว่าการตอบโต้ที่รุนแรงไม่สามารถเปลี่ยนความตั้งใจของนาซีเยอรมัน ซ้ำยังทำให้ความช่วยเหลืองที่ดำเนินอยู่อาจต้องชะงักและได้รับการพิจรณาใหม่ เพราะฝ่ายกาชาดเยอรมัน ประกาศชัดว่าจะให้ความร่วมมือในกรณีนักโทษสงครามที่เป็น ‘ชาวอารยัน’ เท่านั้น

ความสนใจในตอนนั้นนอกจากจะมุ่งไปยังความปลอดภัยของนักโทษสงคราม ICRC ยังมีความกังวลถึงความเป็นกลางและความสัมพันธ์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศที่คู่สงครามอื่น

เมื่อมีแนวคิดเช่นนี้ ICRC จึงฝากความหวังส่วนใหญ่ไว้กับผู้แทนในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในเยอรมนีและเขตยึดครอง ให้ต่อรองกับผู้มีอำนาจในแต่ละท้องที่ ตามกำลังความสามารถที่พอจะมี การพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเยอรมันและผู้บริหารระดับสูงของ ICRC เพิ่งมาเริ่มมีเมื่อสงครามใกล้จะทราบผล

หอคอยเตือนภัยในค่าย Auschwitz

‘ICRC ไม่กล้าเสี่ยงใช้อำนาจทางจริยธรรมทั้งหมดถ่วงดุลกับชะตากรรมของเหยื่อสงคราม’

Jean-Claude Favez นักวิจัยที่ทำการศึกษางานของ ICRC ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ความเห็น

‘ขอบเขตอำนาจในที่นี้ หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ทางมนุษยธรรมและการใช้เสียงเพื่อกล่าวประณามการกระทำของนาซี สองสิ่งนี้ไม่ถูกผลักดันจนสุดทาง กระทั้งสงครามสงบ การให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์จากการกระทำของนาซีก็ยังมีอยู่น้อย แทบไม่สร้างแรงเสียดทานใดๆ ต่ออาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นซ้ำๆ การเจรจาทางการทูตระหว่างผู้นำระดับสูงของเยอรมัน (หรือประเทศที่ถือข้างกลุ่มอักษะในยุโรป) และ ICRC ไม่เกิดขึ้นกระทั่งเดือนท้ายๆ ของสงคราม’

ไม่มีใครทราบว่าหาก ICRC ดำเนินนโยบายต่างไป จะสามารถหยุดการฆ่าล้างชาวยิว และช่วยชีวิตผู้คนหลักล้านได้หรือไม่ แต่ในมุมมองของ Favez การสร้างแรงต้าน แม้แค่ทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ก็อาจดีกว่าการนิ่งเฉยและปล่อยให้กฎหมายมนุษยธรรมถูกละเลยและเหยียบซ้ำ

ห้องรมแก๊สในค่าย Auschwitz ถูกทำลายก่อนฝ่ายสัมพันธมิตรบุกมาถึง

-ในเมืองบูคาเรส Charles Kolb และ  Vladimir de Steiger ผู้แทนของ ICRC ประจำประเทศโรมาเนีย พยายามช่วยชาวยิวให้เดินทางไปยังตุรกี เพื่อลี้ภัยไปปาเลสไตน์หรือประเทศในแถบละตินอเมริกา  ผู้แทนทั้งสองส่งข้อเสนอมากมายให้รัฐบาลโรมาเนีย โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรชาวยิวอื่นๆ แต่ไม่เคยได้รับการตอบกลับ สิ่งที่ทั้งสองพอจะทำได้ในท้ายสุด คือให้ความช่วยเหลืออย่างลับๆ กับชาวยิวบางส่วนไม่ให้ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน

-ในวันที่ 23 มิถุนายน 1944 Dr. Maurice Rossel ผู้แทนของ ICRC เดินทางไปค่ายกักกัน Theresienstadt ในเชโกสโลวาเกียการเยี่ยมค่ายของเขาถูกจับตาอย่างเข้มงวด ทุกก้าวที่เดินไป ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วย SS (Schutzstaffel) เขาไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับชาวยิว ไม่ได้เข้าไปในเขตกักกันเสียด้วยซ้ำ

-ในวันที่ 27 กันยายน 1944 Dr Rossel went ผู้แทนของ ICRC เดินทางไปค่ายอาชวิทซ์ (Auschwitz) ในประเทศโปแลนด์เขาได้พูดคุยกับผู้บัญชาการค่ายแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป

ผู้แทน ICRC ที่ค่าย Auschwitz ในปี 1960

ทุกวันนี้ ICRC ทบทวนข้อผิดพลาดที่ผ่านมา ความล้มเหลวได้รับการจดจำ เช่นเดียวกับความกล้าหาญของผู้แทน ICRC ที่พยายามอย่างเต็มที่ในสถานการณ์ที่ยากที่ยากจะอดกลั้น

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ไม่สามารถเขียนใหม่ ICRC ตั้งใจใช้บทเรียนที่ผ่าน ระลึกถึงผู้เสียชีวิตในอดีต และต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนในปัจจุบัน

แปลและเรียบเรียงจาก

The ICRC in WW II: The Holocaust

The Nazi genocide and other persecutions

แบ่งปันบทความนี้