การลดอาวุธในกรอบพหุภาคีนั้นเกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ สาเหตุก็เนื่องมาจากต้องดำเนินการอยู่ภายใต้แบบแผนในการจัดการที่ยุ่งยากมากเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่น และล่าช้าต่อการดำเนินงาน การเจรจาลดอาวุธภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด (Convention on Certain Conventional Weapons: CCW) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า กรอบการประชุมหลายฝ่ายเพื่อดำเนินการลดอาวุธนั้นไม่สามารถตอบสนองต่อรูปแบบการพัฒนาเทคโนโลยีทางอาวุธที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วได้ ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการประเมินอาวุธสมัยใหม่อย่างระบบอาวุธสังหารอัตโนมัติ (lethal autonomous weapon systems: LAWS) หรือหุ่นยนต์สังหาร ถูกนำไปเชื่อมโยงกับข้อถกเถียงในเชิงปรัชญา ทำให้ยากที่จะหาข้อสรุปและแปลความได้ อีกทั้งยังมีขั้นตอนในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังนั้นการบรรลุข้อตกลงลดอาวุธชนิดใหม่นี้จึงยังต้องอาศัยระยะเวลาในการพิจารณาหาข้อสรุปต่อไป

ในทำนองเดียวกัน ความพยายามในการกำกับดูแลและลดอาวุธชีวภาพ ภายใต้กรอบอนุสัญญาห้ามใช้อาวุธชีวภาพ (Biological Weapons Convention: BWC) ก็เผชิญกับปัญหาในทางปฏิบัติ แม้ว่าบทบัญญัติของอนุสัญญาจะวางข้อกำหนดไว้อย่างครอบคลุม อาทิ “การห้ามผลิตสารชีวภาพใด … ไม่ว่าจะผลิตจากแหล่งไหน หรือผลิตด้วยกรรมวิธีเช่นไร … ที่ไม่เป็นการใช้ในทางสันติ” แต่ในทางปฏิบัติ กลับมีความพยายามเลี่ยงบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ โดยโต้แย้งว่า “สารชีวภาพ” ดังกล่าวเป็นเพียง “เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดอันตรายอันอาจกลายเป็นอาวุธได้” แต่ไม่ใช่ “อาวุธ” จึงไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตกำกับดูแลของอนุสัญญา

นอกจากข้อจำกัดที่ได้กล่าวมาแล้วแล้ว ยังมีผลกระทบข้างเคียงอันเกิดขึ้นจากระบบ ( ซึ่งไม่มีใครสามารถประเมินหรือทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจน จนกว่าอาวุธชนิดใหม่เหล่านี้จะถูกนำออกใช้อย่างแพร่หลาย ประการสุดท้าย ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป องค์กรที่ไม่ใช่รัฐเข้ามามีบทบาทแทนรัฐ ซึ่งเดิมทีเป็นผู้ดำเนินบทบาทหลักในการคิดค้นพัฒนาอาวุธหรือเทคโนโลยีที่อาจนำมาใช้เป็นอาวุธ ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมการคิดค้นพัฒนาอาวุธที่ดำเนินการโดยองค์กรเหล่านั้นได้

มิติใหม่ในการกำกับดูแลอาวุธ: การใช้เครือข่ายเพื่อกำกับดูแล

วิธีการใหม่ในการกำกับดูแลอาวุธสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกลไกที่ใช้กำกับดูแลอาวุธที่มีอยู่เดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น วิธีการหนึ่งก็คือ การสร้างเครือข่ายขึ้นมาเพื่อกำกับดูแล โดยวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น รวดเร็ว อีกทั้งไม่ต้องอาศัยสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรือถูกจำกัดภายใต้ขอบเขตการตัดสินใจของรัฐบาล และเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับทรรศนะของแอนน์ มารีย์ สลอทเธอร์ (Anne-Marie Slaughter) ที่ว่า “หนทางเดียวในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ บนโลก คือ การก้าวข้ามกรอบกฎหมายและการเมืองในรูปแบบเก่าๆ ไปสู่การออกแบบ สร้างสรรค์ และบริหารจัดการเครือข่าย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยรวมเอารัฐบาล เอกชน และประชาสังคมเข้าไว้ด้วยกัน”รวมถึงจดหมายเปิดผนึกของสถาบัน Future of Life ที่ยกประเด็นเรื่องภยันตรายจากอาวุธอัตโนมัติขึ้นมา

สุดท้ายนี้ เรายังสามารถดึงศักยภาพร่วมระหว่างเครือข่ายและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำมาใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูลการใช้ระบบอาวุธชนิดใหม่ และยังพบอีกว่า Twitter หรือแอพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ได้ปฏิรูปวิธีการรายงานข่าวไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการรายงานประเด็นความขัดแย้ง เหตุการณ์ความไม่สงบ หรือแม้กระทั่งการสู้รบในยามสงคราม นอกจากนี้องค์กรเช่น Human Rights Watch และ Forensic Architecture ยังได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล สำหรับสอดส่องและประเมินสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน จริงอยู่ที่เทคโนโลยีอาจเป็นต้นตอของปัญหาใหม่ แต่เมื่อมองในมุมกลับ เราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีได้ด้วยเช่นกัน อาทิ การบันทึกภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยสามารถนำไปใช้ถ่ายทอด ประมวลและวิเคราะห์ผลได้ทันทีตามระยะเวลาที่เกิดขึ้นจริง

การปรับใช้วิธีการในการกำกับดูแลรูปแบบใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับอาวุธสมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆอาจยังไม่สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะนำมาปรับใช้ในสถานะเป็นกลไกหลักหรือกลไกเสริม ภายใต้มิติด้านอาวุธกับกฎหมายมนุษยธรรม เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากลไกการกำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถสนองต่อความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องเริ่มลงมือใช้วิธีการในการกำกับดูแลรูปแบบใหม่อย่างจริงจัง

แปลและเรียบเรีบยงจากบทความต้นฉบับ New types of weapons need new forms of governance

ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย