“เราเริ่มจากการเป็นแม่บ้าน ทำงานสองครั้งต่อสัปดาห์ ตอนนั้นภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แค่กล่าวคำทักทายยังฟังไม่เข้าใจ แต่เราคิดว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราทำงานในองค์กรที่มีคนหลายเชื้อชาติ หลายภาษา บางทีออฟฟิศไม่มีคนอยู่ แต่มีสายโทรเข้ามา เราก็ต้องรับโทรศัพท์ และถ้าคนที่ติดต่อมาเขาเดือดร้อนอยู่ แต่เราพูดกับเขาไม่ได้ คงทำให้เขาเสียโอกาส

“ตอนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ แค่นิทานสั้นๆ คนในคลาสเขาหัวเราะสนุกกัน แต่เราฟังไม่เข้าใจ เราเลยคิดว่า ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น เราฟัง YouTube ดูทีวี ฟังวิทยุเป็นภาษาอังกฤษ เวลาทำงาน เราพยายามใช้ภาษา ถูกผิดไม่ว่า หัวหน้าก็พยายามแก้ให้ เราก็จำไว้ การเรียนภาษาต้องอาศัยความกล้าแสดงออก อย่าไปคิดว่าเขาจะฟังไม่เข้าใจ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าที่เราคิดมันถูกหรือเปล่า กลับกันพอเขาเห็นว่าเราตั้งใจอยากพูด เขากลับรู้สึกดี เห็นว่าเรามีความตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเอง

“ต่อมาออฟฟิศที่แม่สอดยุบ หัวหน้าเลยเสนอให้เราย้ายมาเชียงใหม่ แต่ไม่ต้องเป็นแม่บ้าน ให้ลองมาทำงานส่วนเลขาที่ต้องใช้ความรู้เรื่องการเงิน เพราะเขาเห็นว่าเราหนักเอาเบาสู้ พอมาทำงานด้านนี้เราต้องเรียนรู้หลายอย่าง ทั้งเรื่องภาษาอังกฤษที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับความรู้เรื่องตัวเลขที่เป็นเรื่องใหม่ เราได้รับคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานและยังฝึกใช้ภาษาอยู่ตลอด

“ล่าสุดเราได้รับเลือกให้เข้าคลาส Effective Presentation เป็นการฝึกนำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษ ถือเป็นก้าวใหม่ที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเองสามารถพัฒนาต่อยอดจากการสนทนาพื้นฐานไปได้อีกขั้น

“ถ้านับตั้งแต่ย้ายมาเชียงใหม่ เราทำงานกับ ICRC มาเป็นปีที่ 10 ย่างเข้าปี 11 ความกล้าทำให้โอกาสของเรามีมากขึ้น ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด อยากจะบอกว่ามันไม่เป็นไรหรอก ทุกคนมีเรื่องที่ทำไม่ได้หรือไม่ถนัดกันทั้งนั้น แต่ต้องลองก่อนถึงจะบอกได้ ถ้าอยากทำอะไร อยากรู้อะไร ให้ทำเลย เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ เราไปได้ไกลแค่ไหนไม่รู้ แต่อย่ายอมแพ้ก่อนได้ลงมือทำ”

คุณเกสรา โชครฐากุล เลขาประจำสำนักงานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ที่จังหวัดเชียงใหม่ #WomensDay #IWD2019

“ตอนหัวหน้ามาเสนอให้รับตำแหน่งหัวหน้าแม่บ้านครั้งแรก เรานี่ปฎิเสธทันทีเลย พอไปบอกเพื่อนๆ ถึงกับโดนเอ็ดใหญ่ ทำไมไม่ลองล่ะ ลองดูๆ มีอะไรจะช่วยเต็มที่ เราทำงานเป็นแม่บ้านให้ ICRC มาได้ 6 ปีกว่า เพิ่งได้มาเป็นหัวหน้าไม่ถึงปี มีเรื่องท้าทายเยอะมาก จากที่เคยดูแลจัดระเบียบบ้าน ตอนนี้ต้องดูแลจัดระเบียบคน จากที่เคยทำงานของเราคนเดียว ตอนนี้ต้องดูแลรับผิดชอบแม่บ้าน 20 กว่าชีวิต

“งานแม่บ้านของ ICRC แบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่ดูแลสำนักงาน กับส่วนที่ดูแลบ้านของผู้แทนชาวต่างชาติหรือที่เราเรียกกันว่า ‘ฝรั่ง’ ขึ้นชื่อว่าต่างชาติ ปัญหาที่มักตามมาคือเรื่องภาษา เราเป็นคนกลางบางครั้งก็ต้องเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสาร

“ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งบอกกางเกงตัวนี้ไม่ต้องรีดนะ แต่แม่บ้านเราฟังไม่ออก สรุปคือทำกางเกงเขาไหม้ เสียหาย เขาแจ้งเข้ามา เราก็ทำหน้าที่เป็นกันชน อธิบายให้แม่บ้านฟังว่าฝรั่งคิดยังไง มีตรงไหนควรปรับปรุง ส่วนเรื่องที่แม่บ้านไม่เห็นด้วย เราก็รับไว้ นำไปแจ้งหัวหน้าต่ออีกที

“ทำงานแบบนี้ฝึกให้เราเป็นคนอดทน เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก เป็นกลางกับทุกฝ่าย ได้หรือไม่ได้ต้องมีเหตุผล เราคิดแบบนี้นะ เขาคิดแบบไหน ต้องการอะไร ค่อยๆ พูดจา เพราะถ้าไม่พูดออกมาก็ยากจะเข้าใจกัน ขนาดคนพูดภาษาเดียวกันยังมีเรื่องขัดใจกันเลย ละประสาอะไรกับคนต่างวัฒนธรรมต่างภาษา

“เราว่างานแม่บ้านสำคัญนะ เคยรู้สึกมั้ย เวลาทำงานเหนื่อยกลับมาเจอบ้านสะอาด จานชามเรียบร้อย เสื้อผ้าวางเรียง เห็นแล้วมันมีกำลังใจ งานของเราสร้างความสุขใจพวกนี้ บางเรื่องอาจดูเล็กน้อย แต่มันสำคัญมากเลยล่ะ”

คุณเครือวัลย์ แสงอรุณ หัวหน้าแม่บ้าน #WomensDay #IWD2019

“เรามารู้ว่าต้องตัดขาตอนอยู่มหาวิทยาลัยปี 1 เราป่วยเป็นเนื้องอกที่กระดูก หมอบอกว่าเนื้องอกที่เราเป็นนี้เป็นประเภทที่เจอไม่ค่อยบ่อยนัก ประมาณว่าในใน 1,000 คน จะเจอสักสามคนได้ หมอบอกว่าเดี๋ยวรอมันโตอีกหน่อย จะผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกให้ แต่เนื้องอกเราโตไวมาก ไปหุ้มที่เส้นประสาทกับเส้นเลือดใหญ่ ตอนนั้นหมอบอกว่าเพื่อไม่ให้เชื้อมันลามเข้าสู่กระแสเลือด จึงจำเป็นต้องตัดขา หมอถามว่าจะเลือกขาหรือเลือกชีวิต ดังนั้นเราจึงขอเลือกชีวิตน้อยๆอันมีค่านี้ไว้เพราะการมีชิวิตต่อไป มันก็หมายถึงเรายังสามารถทำอะไรที่เราอยากทำได้อีกหลายอย่าง

“ถามว่าพอตัดขาแล้วชีวิตเปลี่ยนมั้ย ก็เปลี่ยนนะ เราเป็นคนชอบวิ่ง ชอบเล่นกีฬา แต่ตอนทราบข่าวร้ายครอบครัวก็เสียใจ เราเลยคิดว่าต้องเข้มแข็งเข้าไว้ ตอนนั้นเราเรียนภูมิศาสตร์ ที่จริงไม่ชอบวิชานี้เท่าไหร่ ใจก็คิดอยู่ว่าพอเรียนจบจะเปลี่ยนมาทำบัญชี เพราะชอบเรียนเลขมาตั้งแต่เด็ก แต่ปีนั้นสอบไม่ติด และไม่อยากรบกวนเงินที่บ้านมาเรียนเอกชน สมัยนั้นคนทำบัญชีจบอะไรมาก็ทำได้เลยไม่เห็นเป็นปัญหา ปรากฎว่าเรียนจบมาก็ได้ยินว่า เขาออกกฎหมายว่าผู้ทำบัญชีจะต้องจบปริญญาสายบัญชีเท่านั้น เราเลยคิดว่า ไหนๆ เรียนภูมิศาสตร์มาแล้ว น่าจะลองใช้ประโยชน์จากมันดูก่อน

“เราใช้เวลา 8 ปี กับงานที่เราไม่ชอบเพื่อตอบตัวเองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ เราเริ่มเรียนใหม่ในสาขาบัญชี ตอนนั้นก็สามสิบกว่าแล้ว โชคดีว่าบางวิชาสามารถเทียบโอนได้ เลยลดเวลาได้เหลือ 2 ปี หลังจากที่ได้เรียนบัญชีแล้ว เรารู้เลยว่ามันต่างกันมากระหว่างการที่เราได้ทำหรือได้เรียนในสิ่งที่ชอบกับสิ่งที่ไม่ชอบ การได้ทำในสิ่งที่ชอบ แม้ไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเราก็ยังทำได้ดี ในขณะที่เราต้องทำในสิ่งที่เราไม่ได้ชอบ แม้ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เราก็ยังทำมันได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นการเรียนบัญชีจึงเหมือนกลายเป็นเรื่องสนุก โจทย์ข้อไหนใครคิดไม่ถูกถ้าเราแก้ได้จะเป็นอะไรที่ฟินมาก

“พอจบมาเราก็อยากหาประสบการณ์ เริ่มทำงานที่สำนักงานบัญชีแม้ต้องลดเงินเดือน โชคดีว่าหัวหน้าคนแรกสนับสนุนเราดี ช่วยสอนงานหลายอย่าง ทำงานอยู่ได้ปีกว่า เรามาเจอตำแหน่งงานที่ ICRC กังวลเหมือนกันว่าเราใส่ขาเทียมแบบนี้จะมีผลกับกับการสัมภาษณ์หรือเปล่า แต่พอมาคุยจริงๆ พี่คนที่สัมภาษณ์บอกเราว่า อยากให้มาทำงานด้วยกัน เพราะอยากทำบัญชีให้มันถูกต้อง
“ถูกต้องในที่นี้ เรามองว่า ICRC นี่แหละคือที่ที่เราสามารถนำความรู้ทางบัญชีของเรามาทำประโยชน์ และ ICRC ก็ยังเป็นองค์กรมนุษยธรรม รับเงินบริจาคมาช่วยคนที่เดือดร้อน หากเราได้ทำงานที่นี่ ก็ถือว่าเราได้ช่วยเหลือผู้คนทางอ้อม โดยการที่เราทำงานอย่างซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง ทำให้เงินบริจาคที่ได้รับมา ถูกใช้จ่ายออกไปอย่างสมเหตุผล และยังสามารถช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนได้ ทำให้ช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้คนได้

“ทุกวันนี้ เราทำงานที่ ICRC มา 5 ปี มีคิดเหมือนกันว่าถ้าเราไม่ป่วยชีวิตจะเป็นยังไง อาจจะไปได้ไกลกว่านี้หรือได้ทำอะไรมากกว่านี้ เพราะมีความตั้งใจอยากเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีแต่มีข้อจำกัดเรื่องการออกภาคสนาม ถ้าไม่เสียเวลา 8 ปี กับงานแผนที่ ตอนนี้ตัวเองจะอยู่ตรงไหน ทำอะไรอยู่….

“ตัดภาพมาปัจจุบัน เรามีความสุขดีกับชีวิต แม้เส้นทางปัจจุบันจะเริ่มช้า หรือเคลื่อนไหวด้วยอัตราเร็วที่น้อยกว่าคนอื่น แต่เราได้เริ่มแล้ว และถ้าเราใจเย็นกับมัน ไม่คิดมาก ชีวิตก็ไม่มีอะไรให้ผิดหวัง”

คุณณัฐกานต์ เตชะงามวงศ์ นักบัญชี คณะกรรมการการชาดระหว่างประเทศ (ICRC) #WomensDay #IWD2019