อาวุธเคมี : ฆาตกรร้าย ความหมาย และความสำคัญ

บทความ / เรื่องเล่าจากภาคสนาม

อาวุธเคมี : ฆาตกรร้าย ความหมาย และความสำคัญ

ข่าวการใช้อาวุธเคมีโจมตีผลเรือนในเมืองดูมาของซีเรีย และข่าวการใช้สารเคมีทำลายประสาทเพื่อลอบสังหารอดีตสายลับรัสเซียในอังกฤษ กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้การใช้อาวุธเคมี กลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง มาฟัง  Johnny Nehme ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธเคมี ชีวภาพ รังสี และนิวเคลียร์ ของ ICRC ตอบคำถาม 5 ข้อ ที่จะทำให้มุมมองในเรื่องนี้ ชัดขึ้นกว่าที่เคย

  1. ในมุมมองของคุณ อะไรคือเหตุผลที่อาวุธเคมีควรถูกยับยั้ง?

ลักษณะตามธรรมชาติของอาวุธเคมีคือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการฆ่า หรือยังยั้งการทำงานของระบบร่างกายโดยไม่เลือกเป้าหมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นพลรบ พลเรือน หรือผู้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อาวุธเคมีนั้นมีอานุภาพทำร้ายใครก็ตามที่อยู่ในรัศมี นอกจากนี้ ผลกระทบจากสารที่ตกค้าง ยังไม่สามารถกำจัดให้หมดไปเมื่อสงครามสงบ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอาจต้องทุกข์ทรมานจากการปนเปื้อของอาวุธสงครามไปอีกหลายสิบปี สารเคมีเหล่านี้ลอยอยู่ในอากาศ และทำให้แม้แต่การหายใจกลายเป็นเรื่องอันตราย

  1. เมื่อเห็นภาพผู้ได้รับผลกระทบจากอาวุธเคมี ในใจคุณคิดอะไร

ทุกครั้งที่ได้เห็นภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว ใจผมมักเกิดข้อสงสัยมากมาย เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าผลกระทบจากสารเคมีจะเลวร้ายมากแค่ไหน สิ่งนี้ต่างกันไปตามแต่ละบุคคล อาการที่ปรากฎก็ยากจะคาดเดา เพราะบางโรคสามารถเกิดได้ตามธรรมชาติ ผู้ป่วยบางรายกว่าจะแสดงอาการก็อีกนานหลายสิบปี สิ่งเดียวที่ช่วยยืนยันการปนเปื้อนของสารเคมี คือการนำตัวอย่างไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

3. ความเป็นมาของอาวุธเคมีจากอดีตถึงปัจจุบันถูกพัฒนาไปในทิศทางใด

เป็นเวลาหลายพันปี มนุษย์เราใช้ยาพิษอาบหัวลูกศร หรือปนเปื้อนแหล่งน้ำด้วยสารเคมีเพื่อทำร้ายคู่ต่อสู้และข่มขวัญประชาชนฝ่ายตรงข้าม สารหนู (Arsenic) คือหนึ่งในบรรดาสารพิษซึ่งเป็นที่รู้จักและถูกใช้มากที่สุด ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย การใช้อาวุธเคมีในระดับกว้างที่สร้างความเสียหายเป็นที่ประจักษ์เกิดขึ้นในเมืองอีพร์ ประเทศ เบลเยี่ยม ในปี 1915 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

สารพิษที่ใช้ในตอนนั้นคือคลอรีน (Chlorine) เป็นสารทําลายระบบทางเดินหายใจ (Choking agent) จากนั้นเป็นต้นมา อาวุธเคมีก็ถูกพัฒนาและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และแม้จะมีข้อตกลงเกิดขึ้นมากมาย ก็ยังไม่สามารถยับยั้งการใช้อาวุธเคมีได้หมด หนึ่งข้อตกลงที่ระบุชัดในเรื่องนี้ คือ อนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยการใช้ก๊าซพิษหรือสารเคมีที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ (Geneva Protocol on Asphyxiating or Poisonous Gases. )

4. อาวุธเคมีแต่ละชนิด ส่งผลกระทบต่อร่างกายต่างไปอย่างไรบ้าง

สารตัวแรกที่อยากจะพูดถึงคือคลอรีน แรกเริ่มเดิมทีสิ่งนี้้ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อใช้ในการสู้รบ คลอรีนมีประโยชน์ สามารถใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและจุลินทรีย์ในน้ำดื่มและสระว่ายน้ำ ใช้ในอุตสาหกรรมตั้งแต่การผลิตกระดาษ ไปจนถึงการทำยาฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ อย่างไรก็ดี คลอรีนมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินหายใจ เมือคลอรีนผสมกับน้ำจะเกิดกรดไฮโดรคลอริก ยิ่งถ้าใช้คลอรีนในสถานะก๊าซ จะทำให้ความรุนแรงสูงขึ้นมาก เป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย

ที่จริงแล้ว อาวุธเคมีถูกแบ่งและจัดประเภทตามระดับผลกระทบ เริ่มตั้งแต่อาวุธเคมีที่มีความรุนแรงน้อยอย่างแก๊สมัสตาร์ด (mustard agent) มีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองผิวหนังและเกิดแผลพุพอง ส่วนมากสารเคมีในระดับนี้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคร่าชีวิต เพียงต้องการให้เหยื่อพิการหรือสูญเสียการควบคุมร่ายกายในบางส่วน (เช่นทำให้ตาบอด) แต่หากสารเหล่านี้ตกค้างไปถึงอวัยวะภายใน อาจทำให้ปอดหยุดการเคลื่อนไหว ทำให้เหยื่อเสียชีวิตได้เหมือนกันเนื่องจากอาวุธเคมีในกลุ่มนี้มีอัตราการคร่าชีวิตน้อย คือราว 5% จึงมักถูกใช้เพื่อสร้างความวุ่นวายในสนามรบเท่านั้น

กลุ่มที่สองคือเหล่าสารเคมีที่มีผลต่อระบบประสาท เช่น ซาริน (sarin), VX ฯลฯ อาวุธเคมีเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อยับยั้งการทำงานของระบบกล้ามเนื้อทั้งหลาย ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตนำไปสู่ภาวะระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เหยื่อจะเสียชีวิตจากการขาดอากาศ และเนื่องจากอัตราการตายของเหยือมีอยู่สูงมาก จึงเป็นสารที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีในครอบครอง

นอกจากนี้เรายังมีกลุ่มสารเคมีที่มีผลต่อเลือดเช่น ไซยาไนด์ (cyanide) สารตัวนี้เป็นนักฆ่าที่มีประสิทธิภาพ เข้าไปหยุดยั้งการทำงานของเซลล์ เมื่อเซลล์ไม่สามารถหายใจ เหยื่อจึงมีโอกาสเสียชีวิตสูง

ความน่ากลัวของอาวุธเคมีคือเราไม่สามารถมองเห็นหรือรู้สึกผ่านประสาทสัมผัสทั่วไป มันไม่มีกลิ่น ไม่มีรส และคาดการณ์ไม่ได้ อาวุธเคมีที่มีความเข้มข้นสูงอาจสร้างผลกระทบให้ระบบร่างกายโดยที่เราไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ พวกมันมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศทำให้สามารถแทรกซึมไปได้ทั้งบนดินและใต้ดิน สารบางชนิดสามารถเกาะติดตามเสื้อผ้า เส้นผม หรือผิวหนัง และแพร่กระจายจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่ผ่านการสัมผัส ทำให้หน่วยพยาบาลที่พยายามช่วยเหลือเหยื่อได้รับอันตรายตามไปด้วย

  1. คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์ด้านอาวุธเคมีในปัจจุบัน เหมือนหรือต่างจากเหตุการณ์เมือหนึ่งร้อยปีที่แล้วอย่างไรบ้าง

มันอาจจะฟังดูเศร้า แต่ผมมองว่าการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้อาวุธเคมีกลายเป็นเรื่องธรรมดาและยอมรับได้มากกว่าแต่ก่อน กองทัพสามารถใช้ประโยชน์จากสารเคมีในการผลิตอาวุธเคมี – รังสี – และ ชีวภาพ เพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ อาวุธเคมีบางชนิด เช่น คลอรีน อาจไม่มีผลทำให้เสียชีวิตก็จริง แต่สามารถสร้างความกลัวในระยะยาว ความกลัวนี่เองคือผลพวงที่น่ากลัวที่สุดของการสู้รบ สิ่งที่ผมจะบอกก็คือไม่ว่าจะเป็นตอนนี้ ก่อนหน้า หรืออนาคต อาวุธเคมีก็เป็นสิ่งที่สมควรถูกยับยั้ง ยิ่งในยุคปัจจุบัน การเข้าถึงอาวุธเคมีทำได้ง่ายกว่าก่อน เรามีทรัพยากรบุคคลที่สามารถผลิตอาวุธแบบนี้ได้แทบทุกมุมโลก ประเด็นนี้จึงยิ่งควรได้รับการผลักดันและพูดถึงต่อไปในวงกว้าง

 

Johnny Nehme สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้าน biomedical science จาก the University of Paris. เคยร่วมงานกับ Atomic Energy Commission เพื่อศึกษาผลกระทบของรังสีที่มีต่อเม็ดเลืิอด และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับหน่วยแพทย์ในสภากาชาดฝรั้งเศส 

แบ่งปันบทความนี้