ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า อิรัก คงไม่ใช่จุดหมายหลักของคนทั่วไป เมื่อทราบว่ามีเพื่อนร่วมงานจากแผนกน้ำและที่อยู่อาศัย (Water and Habitat) เคยไปใช้ชีวิตอยู่ในอิรัก เราก็ชักอยากทำความรู้จักขึ้นมา การทำงานสามเดือนในประเทศที่อยู่บนหน้าข่าวสงครามยาวนานร่วมสิบปี มีความสนุกและท้าทายอย่างไร? ข้างล่างนี้มีพื้นที่มากพอให้ กานต์ ตุ้มศรี วิศวกรของ ICRC ส่งต่อเรื่องราวของเขาให้เราฟัง
พอรู้ว่าจะได้ไปอิรัก เราเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง
อันดับแรกเลยคือ ต้องอธิบายกับครอบครัวให้เข้าใจก่อน เพราะเวลาเอ่ยถึงอิรัก คนที่บ้านจะเข้าใจว่าเป็นประเทศที่มีสงครามและยังอันตรายอยู่ (ซึ่งก็จริงแต่ไม่ใช่ทุกส่วนของประเทศ) เราต้องอธิบายว่าการทำงานของ ICRC ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่และมีเพื่อนร่วมงานจากแผนกต่างๆ ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างดี เช่น WEC (Weapon Contamination หรือ หน่วยตรวจสอบอาวุธที่ตกค้าง ในภาษาไทย) จะทำการสำรวจพื้นที่ว่ามีกับระเบิดหรือวัตถุอันตรายในพื้นที่ทำงานของเราหรือเปล่า ส่วนออฟฟิศที่เราไปอยู่ก็จะคอยประสานงานและติดตามข่าวสำคัญ ระหว่าง NGO/INGO (Non-governmental organization/ International non-governmental organizations) ภายในพื้นที่เมืองโมซูล (Mosul)
เมื่อตัดสินใจว่าจะไปอิรัก เราก็เสิร์ช Youtube ก่อนเลย หาว่าเมืองโมซูลที่เราจะไปอยู่มีลักษณะเป็นยังไงภาพที่พบก็มักเป็นอาคารที่เสียหายจากสงคราม โครงเหล็ก ผนัง กองอยู่กับพื้น อาหารเขากินอะไรกัน รวมไปถึงวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การกินอาหารด้วยมือ (แต่พอไปจริงก็พบว่า เขาใช้ช้อนกันเป็นหลัก แค่เราต้องขอส้อมเพิ่มเอง) มาม่า อาหารแห้ง โดยเฉพาะผงปรุงรสอาหารไทยนี่จัดไปเต็มมากๆ ส่วนของฝากเลือกซื้อลูกอมกล้วยกวนไป เพราะคิดว่าจะแปลกดีสำหรับคนที่นั่น
โมซูลในความจริงเป็นยังไง อยู่ส่วนไหนของอิรัก
โมซูลมีความสำคัญเพราะเป็นเมืองที่อิรักเพิ่งได้คืนจากกลุ่ม Islamic State group ถ้าเทียบกับเมืองใหญ่ๆ โมซูลอาจจะมีสภาพความเป็นอยู่ลำบากกว่าเมืองอื่นๆ เพราะอยู่ติดชายแดนซีเรียและได้รับผลกระทบจากสงครามอยู่มาก ทั้งเรื่องระบบสาธารณูปโภคที่ถูกทำลายจากการสู้รบ และระบบเรือนจำที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง
ตอนไปถึงเราต้องนั่งเครื่องบินไปลงแบกแดด (Baghdad) เมืองหลวงของอิรักก่อน แล้วต่อเครื่องของ ICRC ไปเออร์บิล (Erbil) จากเมืองเออร์บิลนั่งรถออกไปอีก 2 ชั่วโมง จึงจะถึงโมซูล ความเป็นอยู่ของคนที่นั่นเอาจริงๆ ปรากฎว่าคล้ายต่างจังหวัดของเรา เพราะเขามีตลาด มีร้านขายของ คนท้องที่ออกไปไหนมาไหนได้แทบจะปกติ
แล้วความเป็นอยู่จริงๆ เหมือนต่างจังหวัดมั้ย คนที่นั่นเขาทำงานอะไรกัน
คนที่โมซูลส่วนใหญ่จะไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่เวลาเราไปตลาด เขาก็จะพยายามช่วยเหลือเราเป็นอย่างดี ใช้ภาษากายจนเข้าใจกัน เวลาเราออกไปข้างนอกก็จะต้องมีคนขับรถหรือเพื่อนร่วมงานที่พูดอารบิคไปด้วย แต่ถ้าที่เออร์บิลคนท้องถิ่นจะพูดอังกฤษกันได้มากกว่า เพราะเป็นเมืองใหญ่ ความรู้สึกเหมือนได้เข้าไปกรุงเทพฯ
จากประสบการณ์ที่ไปอยู่ 3 เดือน และไม่ค่อยได้ออกไปนอกออฟฟิศเท่าไร แต่เคยไปเยี่ยมชาวบ้านเพื่อสำรวจสภาพน้ำในหมู่บ้าน ก็เข้าใจว่าคนที่นั่นเป็นมิตรมากๆ เวลาเราไปเยี่ยมบ้านเค้า ก็จะมีน้ำชามาเสริฟก่อนเลย เด็กๆ จะเตรียมพรมให้นั่งและคอยเก็บแก้วชา และเสิร์ฟน้ำเปล่าต่อในทันที ช่วงแรกๆ รู้สึกเกรงใจมากๆ (เราควรดื่มชาที่เค้านำมาเสริฟให้หมด ไม่งั้นจะถือว่าไม่สุภาพ) ผู้ใหญ่จะได้รับความเคารพเป็นอย่างสูงและคนมุสลิมจะเคร่งครัดในการทำละหมาดมาก
ในบางครั้งที่อยู่เออร์บิลและออกไปไหนคนเดียว App Google translate ช่วยได้มากในการซื้อของหรือถามคำถามทั่วๆ ไป เราพิมพ์อังกฤษเข้าไปแล้วโชว์ให้คนท้องที่อ่านภาษาอารบิคที่แปลจากโทรศัพท์
ในส่วนของอาชีพ ที่พบเห็นทั่วไปก็จะเป็นการเปิดแผงขายผักผลไม้ตามแนวถนน ร้านขายของใช้และร้านอาหาร เพื่อนร่วมงานบอกว่า ผักและผลไม้ที่โมซูลจะมีราคาถูกกว่าเมืองข้างเคียง เวลาใครจะจัดงานแต่งงานก็มักจะขับรถมาซื้อที่เมืองนี้ จะช่วยประหยัดเงินได้มาก
ตอนที่เราออกไปทำงานนอกสถานที่ มีถึงสามครั้งที่มีคนเข้ามาถามว่า ถ้าอยากสมัครงานกับ ICRC ต้องทำยังไง เขายินดีจะทำงานในตำแหน่งงานอะไรก็ได้เพราะชื่นชอบในงานของเรา และจะรู้สึกเป็นเกียรติมากหากได้ทำงานร่วมกัน (หนึ่งในนั้นคือเจ้าหน้าที่เรือนจำอยากมาสมัครเป็นคนขับรถของ ICRC) นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้รู้ว่าเราได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากคนในพื้นที่
**เงิน- ที่โมซูลจะต้องใช้เงินของอิรัก (Iraqi dinar) เท่านั้นในการซื้อของ แต่ถ้าอยู่เออร์บิลสามารถใช้ US Dollar ในการซื้อของได้เลยและได้เงินทอนเป็น US Dollar และ Iraqi dinar เป็นเงินทอน (1 iraqi dinar เท่ากับ 0.00084 US Dollar หรือประมาณ 0.026 บาท)**
การเป็นคนไทยในอิรักรู้สึกยังไง เคยไปร่วมงานฉลองหรือเทศกาลของที่นั่นบ้างหรือเปล่า
กับเพื่อนร่วมงาน ICRC ก็ปกติ แต่ถ้าไปเดินข้างนอกจะรู้เลยว่า คนเอเชียที่นั่นคงหายาก ทุกคนอยากเข้ามาขอถ่ายรูป มาชวนคุย ฝรั่งเขาไม่สนใจนะ เพื่อนบอกว่าที่เขาถ่ายรูปเราจะเอาเราไปขึ้น Facebook ให้ญาติ ให้เพื่อนดูว่าได้เจอเอเชีย
ส่วนเรื่องงานฉลองไม่เคยไปร่วมงานแต่งงานหรือปีใหม่ตามวัฒนธรรมของอิรัก เข้าใจว่าวันปีใหม่ก็คือวันธรรมดาของคนพื้นที่วันนึง เคยได้คุยกับเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นคนอิรัก เขาบอกว่าไม่ได้มีกิจกรรมพิเศษอะไรในวันปีใหม่ (1 ม.ค.) แต่จะไปฉลองกันในวันอีด (วันเฉลิมฉลองในศาสนาอิสลาม) แทน
ตอนไปถึงโมซูลวันแรก มีเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนอิรักได้แต่งงาน เลยเอาอาหารพื้นบ้านมาให้ชิมกันที่ออฟฟิศ เป็นแป้งกลมๆ หลายๆแผ่น ใส่ในจานขนาดใหญ่ มีผักปรุงรสด้วยเครื่องเทศและเนื้ออยู่ตรงกลาง นี่เป็นอาหารมื้อแรกที่ได้ใช้มือกินกันตอนไปอยู่ที่โมซูล
สนใจเรื่องอาหาร ถ้าไม่นับงานเทศกาล มื้ออาหารปกติของที่นี่เป็นยังไง
คนโมซูลชื่นชอบการดื่มชามากๆ เสริฟพร้อมน้ำตาลในแก้วที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ ทรงสูง ทุกครั้งหลังจากกินอาหารเสร็จ (เช้า กลางวัน พักเบรค อาหารเย็น) และทุกครั้งที่มีการพูดคุยกันหรือพักผ่อน ชาก็เป็นชาปกติลักษณะเดียวกันกับที่ตุรกี (black tea)
มื้อเช้าจะมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของเค้าเอง จะเป็นขนมปังกรอบ (Kahi) จิ้มกับน้ำเชื่อม กินคู่กับผลิตภัณฑ์จากนมควาย เป็นครีมข้นๆ (Geymar)
อาหารมื้ออื่นๆ ก็จะเป็นข้าวหรือขนมปัง (Samoon) เสริฟพร้อมเนื้อวัว แพะ แกะ และผักปรุงรส อาหารทะเลไม่ได้รับความนิยมที่นั่น อยู่สามเดือนได้กินกุ้งไปแค่ 4 ตัว เนื้อหมูเคยพยายามหาที่อิรัก แต่หาไม่ได้เลย มีร้านอาหารไทยอยู่ร้านนึงที่เออร์บิลแต่อยู่นอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ไปเที่ยว ก็เลยไปกินไม่ได้
ส่วนผลไม้ ผลทับทิมที่นั่นราคาถูกมากๆ กิโลละประมาณ 1$ อย่างอื่นก็คล้ายๆ ยุโรป กีวี่ องุ่น แอปเปิล สตอเบอรี่ ส่วนใหญ่ของพวกนี้นำเข้าจากต่างประเทศ
ในฐานะที่เชี่ยวชาญด้านน้ำ เล่าให้เราฟังหน่อยว่าสิ่งนี้ที่โมซูลเป็นอย่างไรบ้าง
ระบบน้ำประปาส่วนใหญ่ในเมืองโมซูลได้รับความเสียหายจากสงคราม และกำลังได้รับการซ่อมแซมจาก ICRC วิศวกรของเราจะทำงานร่วมกับผู้รับเหมาในท้องที่ ซึ่งก็ยังไม่สามารถเดินระบบได้อย่างเต็มที่ทำให้การกระจายน้ำภายในเมืองโมซูลยังไม่สามารถผลิตได้ตลอดเวลา อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือระบบไฟฟ้าที่ไม่เสถียร ซึ่งในการปรับปรุงคุณภาพน้ำต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจ่ายให้เครื่องสูบน้ำและเครื่องจ่ายสารเคมีเป็นจำนวนมาก
ระบบกรองน้ำที่ใช้ เป็นแบบมาตรฐานทั่วไป มีสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำ ถังกรองทราย ถังตกตะกอน เครื่องเติมสารเคมีเพื่อช่วยในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและคลอรีน แหล่งน้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำไทกริส ซึ่งขณะที่เราไปอยู่เป็นช่วงฤดูหนาว คุณภาพน้ำจึงมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการทำประปาเป็นอย่างมาก ใส แต่ในทางกลับกันหากเป็นช่วงฤดูฝน น้ำในแม่น้ำจะขุ่นมาก ส่งผลให้ระบบกรองน้ำต้องทำงานอย่างหนักหรือในบางครั้ง อาจต้องปิดระบบเลย เนื่องจากแม่น้ำมีความขุ่นสูงเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้
ในหลายๆ หมู่บ้าน มีการเจาะบ่อน้ำบาดาล แต่มักประสบปัญหาน้ำมีค่าความเค็มสูง แต่ชาวบ้านก็มีความจำเป็นต้องใช้เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำอื่นๆ ทดแทน บางกรณีมีการใช้รถบรรทุกน้ำจากแม่น้ำหรือโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำมาแจกจ่าย
ตามปกติ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะใช้น้ำประมาณวันละ 200 ลิตร/คน/วัน แต่คนที่นั่นจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด และหาถังสำรองน้ำมาติดตั้งตามบ้านเรือน เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในกรณีที่ไฟฟ้าของเมืองดับหรือไม่มีการจ่ายน้ำประปา ผู้คนที่โมซูลใช้ไฟฟ้าและน้ำโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (ไม่มีมิเตอร์) จึงเป็นการยากในการวัดปริมาณการใช้น้ำที่แน่นอน
มีโปรเจกต์ไหนที่เราเข้าไปรับผิดชอบเป็นพิเศษหรือเปล่า
มีงานนึงที่เราเข้าไปช่วยในการออกแบบ คือการเปลี่ยนอาคารโรงเรียนเก่าที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากระเบิดจนใช้การไม่ได้ ให้กลายเป็นเรือนจำสำหรับรองรับผู้ต้องขังในเมือง เราเข้าไปสำรวจร่วมกับทีมวิศวกรของกระทรวงมหาดไทยอิรัก (Iraq’s Ministry of Interior) ให้คำปรึกษาเรื่องมาตรฐานเรือนจำ แต่ละห้องควรมีขนาดเท่าไหร่ จุได้กี่คน ห้องน้ำอยู่ตรงไหน ส่วนตัวมองว่าเรือนจำก็เหมือนบ้าน ถ้าเราสร้างบ้านให้น่าอยู่ มีมาตรฐานการออกแบบเริ่มต้นมาดี มีระบบน้ำและสุขาภิบาลเพียงพอ ห้องครัวสะอาด ไฟฟ้าทั่วถึง ก็น่าจะช่วยลดปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคตไปได้เยอะ
ถ้าจัดลำดับความเครียด ทำงานในอิรักหนักระดับไหน
ที่ ICRC เรามีการจัด Hardship (ความยากลำบาก) ของแต่ละมิชชั่น ลำดับตั้งแต่ 0-3 ที่กรุงเทพฯ คือเลเวล 0 ส่วนที่นี่คือเลเวล 3 ซึ่งสูงสุดแล้ว ถามว่าเหนื่อยไหมกดดันไหม ก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง เอาเป็นว่าถ้าทำงานที่นี่ครบ 1 ปี เขาจะให้วันหยุดพิเศษเพิ่ม 56 วัน นี่คือไม่นับวันหยุดปกตินะ เพราะความเป็นอยู่ที่นี่ค่อนข้างไม่สะดวกสบาย ยกตัวอย่างเช่นระบบประปา แค่เราไปซ่อมสถานีสูบน้ำที่นึง ก็เป็นงานที่รับผิดชอบชีวิตคนกว่า 6 แสน ซึ่งเราเข้าซ่อมแซมโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำในอีกหลายๆ จุด เป็นงานที่ไม่มีวันหยุดจริงๆ
หลังจากที่เรากลับมา มองว่างานของ ICRC ที่นี่จะเป็นไปในทิศทางไหน แล้วประสบการณ์ที่เราเห็นตรงนั้นมันมีประโยชน์กับการทำงานที่กรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง
แม้ว่าตอนที่ไปจะได้รับผิดชอบงานด้านเรือนจำเป็นหลัก ซึ่งเป็นงานลักษณะเดียวกับที่กรุงเทพฯ แต่สภาพเรือนจำ สิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบสาธารณูปโภคที่จำกัดของโมซูล ทำให้การทำงานในเรือนจำมีความท้าทายมาก ปัญหาต่างๆ ภายในเรือนจำก็แตกต่างกันออกไปจากเรือนจำของไทย เนื่องด้วยการจัดการเรือนจำและสภาพอากาศที่แตกต่างกัน
ปัจจุบัน ICRC ยังคงให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องแก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในอิรักทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตั้งแต่ระดับกระทรวงจนถึงเรือนจำประจำเมืองเล็กๆ
มองย้อนไปจากตอนนี้ คำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานชาวอิรัก ถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ภารกิจของเราลุล่วงเป็นอย่างดี การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันและลงมือทำจริง ทำให้เกิดการต่อยอดความรู้ มองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นว่า เมื่อกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากภารกิจที่อิรัก จะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเรือนจำของไทยอย่างแน่นอน