The Face of ICRC: ภารกิจตามรักคืนใจในซูดานใต้

บทความ / บล็อค / เรื่องเล่าจากภาคสนาม

The Face of ICRC: ภารกิจตามรักคืนใจในซูดานใต้
‘ลูกคือดวงใจของพ่อแม่’ ไม่ว่าจะในชาติใด วัฒนธรรมไหน ประโยคนี้ก็ยังเป็นจริงอยู่เสมอ ทุกวันนี้ยังมีครอบครัวอีกมาก ที่ต้องพลัดพรากจากกันเพราะภัยสงครามหรือความยากลำบาก การพาสมาชิกครอบครัวที่สูญหายให้ได้กลับมาเจอกัน เป็นหนึ่งในงานที่พวกเราชาว ICRC ภูมิใจ และนี่คือบทสนทนาระหว่างเรากับ พี่แอร์ – รัตนาภรณ์ พุ่มมั่น เพื่อนร่วมงานที่อยู่ในศูนย์กลางงานสานสัมพันธ์ครอบครัวและเคยฝ่าฟันทำภารกิจในประเทศซูดานใต้มาแล้ว แนะนำตัวหน่อยค่ะ รู้จัก ICRC ได้ยังไงแล้วตอนนี้ทำอะไรอยู่ สมัยเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่รามฯ ตอนปริญญาตรี อาจารย์เคยพูดถึง ICRC ว่ามีบทบาทยังไง ก็จำได้ตั้งแต่ตอนนั้น แต่พอดีว่าพี่จบแล้วไปทำงานสายท่องเที่ยวมาอีก 10 ปี พอเรียนโทจบก็มาสมัครงานตำแหน่ง Detention field officer ทำเกี่ยวกับการไปเยี่ยมเรือนจำ สานสัมพันธ์ครอบครัวให้ผู้ต้องขัง ช่วงประมาณ 2 ปีแรก เราไปเยี่ยมเรือนจำมาหลายแห่ง ที่ไหนมีความต้องการของผู้คุมขังที่จะส่งข่าวให้ญาติ แต่ติดต่อไม่ได้เพราะปัญหาด้านภาษา มีปัญหาเรื่องค่าจ่าย หรือส่งไปแล้วไม่ได้รับการตอบกลับเพราะจำที่อยู่ได้ไม่แน่ชัด ทางเราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยให้เขาเขียนข้อความถึงญาติลงบน จดหมายกาชาด (Red Cross Message) หลังจากนั้น เราก็จะส่งไปตามประเทศต่างๆ ที่มีเครือข่ายสภากาชาด กับ สภาเสี้ยววงเดือนแดงของเรา จริงๆ แล้วงานสานสัมพันธ์ครอบครัวเป็น หนึ่งในงานหลายๆด้านของ ICRC เราแบ่งผู้ได้รับประโยชน์เป็นสองแบบคือผู้คุมขังกับบุคคลทั่วไป อย่างกรณีทั่วไปคือการตามหาญาติที่พลัดพรากไปจากความไม่สงบ สงคราม ความยากลำบาก ภัยธรรมชาติ หรืออะไรที่เป็น ความต้องการด้านมนุษยธรรม

เล่าเรื่องงานแต่ละวันให้เราฟังหน่อย เวลามีเคส ถ้าเขาตามหาญาติในประเทศไทยเราจะติดต่อไปที่สภากาชาดไทยในแผนกวิเทศสัมพันธ์ ซึ่งมีเหล่ากาชาดจังหวัดคอยลงพื้นที่ติดตามสืบหาให้ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีมาก หลายๆเคสก็จะประสบความสำเร็จ หาไม่ยาก แต่ถ้าเป็นเคสติดตามญาติในต่างประเทศ เราจะส่งเคสให้ประเทศปลายทางให้เขาไปสืบหามาให้ แต่ถ้าบางที่พื้นที่มีภาวะเสี่ยง สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ก็มีเหมือนกันที่เราจะพักเคส รอไปก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของทีมงาน ทีนี้พอได้รับการตอบรับ เราถึงแจ้งไปทางเจ้าตัว ซึ่งก็มีเหมือนกันที่บางเคสจะไม่ Happy Ending บางทีหาไม่เจอจริงๆ หรือเจอแล้วแต่เขารู้สึกโกรธเคือง ผิดหวัง เสียใจ ไม่อยากตอบ เราก็ต้องส่งไปบอกตามตรงว่าเขารู้แล้วว่าคุณอยู่ที่ไหน เขามีที่อยู่ของคุณแล้วนะ ถ้าเขาพร้อม เขาจะตอบกลับมา ก็ต้องให้เวลาเขาด้วย มีเคสนึงชื่อนามสุกลเหมือนเลย อายุก็ใกล้เคียง เพียงแต่เขายืนยันว่าเขาไม่ใช่คนๆ นั้น ซึ่งมันก็เป็นความท้าทายอีกว่าอาจจะใช่แต่ไม่อยากรับ หรืออาจจะไม่ใช่จริงๆ ก็ได้ เขาอาจจะมีการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในด้านใดด้านหนึ่งแล้ว ก็ต้องแล้วแต่ความปราถนาของเจ้าตัว เราจะไม่บังคับใครให้ตอบจดหมายถ้าไม่ต้องการ Feedback นี่สำคัญมาก จะเจอหรือไม่เจอก็ต้องบอก ผลเป็นยังไงก็ต้องบอก เราต้องไม่คิดแทนเขา รับฟังทั้งสองฝ่ายแล้วก็ให้เกียรติการตัดสินใจของเขา พี่คิดว่ากับงานตรงนี้ การเทรนจิตวิทยาเบื้องต้นเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะการบอกข่าวกับคนคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ทำงานแบบนี้น่าจะมีเคสน่าสนใจ อยากรู้ว่ามีเหตุการณ์ไหนที่น่าจดจำเป็นพิเศษ งานนี้ทำให้เราได้รับรู้ถึงความดีใจของคน มีเคสนึง เป็นลูกชายตามหาแม่ แม่ตอบกลับมาว่า ทุกคืนก่อนลูกนอนนะให้ลูกมองพระจันทร์ สามทุ่มของเวลาในประเทศที่ลูกอยู่ แล้วแม่ก็จะมองพระจันทร์เหมือนกันแล้วเราจะสวดมนต์พร้อมกัน เท่ากับว่าเราไม่ได้ห่างกัน เราก็อยู่ใต้พระจันทร์ดวงเดียวกัน บางคนเป็นผู้ชายตัวใหญ่ๆ ที่ได้รับจดหมายจากแม่แล้วเขาร้องไห้ด้วยความซาบซึ้ง ว่าเขาทำผิดแล้ว เขามาอยู่ในเรือนจำแล้ว ที่บ้านเขายังรักเขาอยู่ มันก็ส่งผลให้ พฤติกรรมของเขาไม่ก้าวร้าวไม่ดุดัน เพราะว่าเขา รู้สึกว่าที่บ้านให้โอกาส peace at heart การสื่อสารทำให้เขามีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ไม่สร้างปัญหา เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในเรือนจำด้วย กระดาษ A4 ใบเดียวมัน carry hope จริงๆ นะ เป็นความหวังสุดท้าย last hope ของบางคนที่ คิดว่า ไม่ เหลือ อะไรแล้วนอกจากข้อความในนี้ เรารู้เลยว่าเขาไม่มีหวังอื่นแล้วนอกจากจดหมายกาชาด เห็นว่าพี่มีโอกาสได้ไปทำ mission ที่ประเทศซูดานใต้ (South Sudan) ประเทศเกิดใหม่มีอะไรที่ทำให้เราอยากไปสัมผัส ตอนนั้นพี่เรียนป. โท อาจารย์พูดในคลาสว่า วันนี้วันที่ 9 กรกฎาคม 2011 เรามีประเทศเกิดใหม่คือประเทศ South Sudan พี่ก็รู้สึกอยากไปขึ้นมา อยากไปเฉยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าทำไม รู้แค่ว่าเขามีสถานการณ์ให้แยกประเทศ มีความไม่ปกติ ก็บอกที่บ้านว่า จะไป South Sudan จะหาทางไปให้ได้ พอมาทำงานที่นี่ก็รู้ว่าที่นี่มีการพลัดถิ่นของเด็กๆ เยอะ งานในส่วนครอบครัวสัมพันธ์เป็นที่ต้องการ เลยคิดว่าน่าจะเป็นที่ที่เราได้เรียนรู้หัวใจของงานนี้ เพราะที่ผ่านมาเราเป็นฝ่ายสนับสนุน ไม่ได้ลงพื้นที่ไปหาคนจริงๆ

แล้วการทำงานภาคสนามต่างจากการทำงานที่ผ่านมายังไง ต่างมากเลยเพราะเมื่อก่อนเราเป็นคนส่งเคสให้เขาไปตามหา มาตอนนี้พอรับเคสมา เราต้องไปเสาะหาตามหมู่บ้าน ถ้าตรงนั้นมีผู้นำทางศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาไหน เราก็จะไปเริ่มจากตรงนั้นเพราะว่าเป็นแหล่งรวมของชุมชน ไม่งั้นก็จะเป็นโรงเรียน เป็นคุณครู ถามว่ามีเด็กนามสกุลนี้มั้ย หรือพ่อแม่ที่คุ้นเคย ถ้าไม่มีบางทีทั้งหมู่บ้านมีร้านชาร้านเดียว ก็ถามเอาจากแม่ค้า ใครก็ตามที่สามารถจะบอกว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ และตอนนี้คิดว่า เขาไปไหนกัน direction ที่เขาจะหนี บางทีโชคดีก็ได้เจอ ถ้าไม่เจอก็ต้องหาต่อไป จนมันไม่ได้จริงๆ ไม่รู้จะไปหาที่ไหนแล้วเราถึงจะปิดเคส แต่เป็นการปิดแบบชั่วคราว ถ้ามีข้อมูลมากกว่านี้ก็ จะนำมาพิจารณากันใหม่

กลัวมั้ย? และที่ผ่านมามีเหตุการณ์ไหนในซูดานใต้ ที่เราจำได้แบบประทับใจที่สุด ตัดสินใจว่าไป ก็ไม่กลัวแล้ว ถ้าเจออะไรก็คือ เราตัดสินใจแล้ว ก็ต้อง let it be แต่โชคดีที่เจอแต่คนดีๆ คนที่นู่นไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือใครก็ตาม คนที่เจอก็ค่อนข้างจะเป็นมิตรถึงแม้ชีวิตเขาจะลำบาก แต่เขาก็ยังยิ้ม ยัง welcome คนอื่น ไม่ทำให้เรารู้สึกอันตรายหรือระแวง เพราะเขาถือว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราตั้งใจมาเพื่อช่วยจริงๆ เหตุการณ์ที่ประทับใจคือมีเด็กจากประเทศหนึ่งพลัดหลงมาอยู่ที่ซูดานใต้ประมาณ 13-14 คน ด้วยการประสานงานของ ICRC กับกาชาดที่เกี่ยวข้องก็ทำเรื่องจนกระทั่งพร้อมให้เด็กกลับไปหาครอบครัว เราจะต้องมีการจัดเตรียมให้น้องๆ เขาพร้อม มีการจัดวัคซีนให้ฉีด เตรียมเอกสารการเดินทาง พาไปซื้อเสื้อผ้ากระเป๋า รองเท้าใหม่ ตัดผมใหม่ เพื่อให้พร้อมกลับไปเจอครอบครัว เราก็เป็นคนพาไปซื้อของ แล้วมันเป็นครั้งแรกของพวกเขาที่ได้เลือกของที่ตัวเองอยากได้จริงๆ ไม่ใช่แต่ว่ารอรับที่คนอื่นให้มา เราเลยรู้สึกว่างานของเรามันละเอียดอ่อนและหลากหลายมาก การพาเด็กๆ ไปซื้อของมันฟังดูธรรมดามาก แต่ในอีกหลายประเทศอีกเช่นกัน มันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะได้เลือกของที่เขาชอบเองจริงๆ

ในฐานะคนทำงานสายครอบครัว มีอะไรอยากบอกครอบครัวทางบ้านที่อ่านอยู่ ทุกวันนี้ใครๆ ก็คิดว่า เทคโนโลยีมันทำให้เราใกล้กันมากขึ้น แต่อยากจะบอกว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกที่ บางที่ไม่มีกระทั่งตู้จดหมาย การเขียนจดหมายกระดาษธรรมดาเป็นเรื่องเบสิก คลาสสิกมากๆ แต่ไม่มี ก็คือไม่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นเวลามีการช่วยเหลือให้คนเจอกันคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมล่ะ? มือถือก็มี เฟสบุ๊กก็มี อยากให้เข้าใจว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกที่ อย่างไรก็ควรจำ ที่อยู่ เบอร์ของคุณพ่อคุณแม่หรือข้อมูลของบ้านเราเอาไว้บ้าง เพราะถ้าวันนึงโทรศัพท์หาย หรือเกิดเหตุไม่ปกติ หรือ ภัยพิบัติจนสัญญานทุกอย่างล่ม ความจำของเราจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมาทันที อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของครอบครัวว่า เวลาที่เราได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ติดต่อกันเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นความโชคดีแล้ว อยากคุยกับแม่จะโทรเมื่อไหร่ก็ได้ ส่ง ข้อความ หาพ่อ หาพี่น้อง ญาติๆ เวลาไหนก็ได้ อยากบอกเด็กๆ ว่าอย่ารำคาญเลยเวลาครอบครัวถามว่าอยู่ไหนอะไรยังไง เพราะว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่เขาห่วงเขารัก สมัยนี้มันมีเหตุการณ์ที่ต้องระแวดระวังมากขึ้น ถ้าติดต่อครั้งนี้ได้ หลังจากนั้น แล้วติดต่อกันไม่ได้อีก จะทำยังไงดี ไม่ได้อยากให้มองโลกในแง่ลบนะคะ แต่อยากให้มองเผื่อไว้ ถ้าเกิดแบบนี้เราจะทำอย่างไร
ก็อยากให้เห็นความสำคัญของครอบครัวให้มากๆ เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่จะอยู่กับเราในทุกสถานการณ์ของชีวิตก็คือพวกเขาเท่านั้นค่ะ

 

 

แบ่งปันบทความนี้