โครงการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากการสู้รบของไอซีอาร์ซีประเทศไทย

บทความ / บล็อค

โครงการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากการสู้รบของไอซีอาร์ซีประเทศไทย

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ มาตั้งแต่ปี 2545 โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา สถานะ หรือข้อจำกัดใด ๆ ตามกรอบภารกิจของเราในฐานะองค์กรไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มีความเป็นกลางและอิสระในการปฏิบัติงาน

 

คุณหนึ่งฤทัย แปลงลักขณา เจ้าหน้าที่ภาคสนามของไอซีอาร์ซี สำนักงานเชียงใหม่ ให้รายละเอียดว่า ผู้บาดเจ็บที่สามารถรับความช่วยเหลือภายใต้โครงการดังกล่าว คือผู้ได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิด การถูกยิง และผู้บาดเจ็บอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการต่อสู้หรือความขัดแย้ง ซึ่งรวมถึงการถูกทำร้าย และการทารุณกรรมทางเพศด้วย

สำหรับความช่วยเหลือ ผู้บาดเจ็บจะได้รับการส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งตั้งอยู่ตามบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์  ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เรื่อยลงมาถึงตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ไอซีอาร์ซีจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ครอบคลุมค่ารักษา การผ่าตัด ค่าใช้จ่ายห้องปฏิบัติการค่าห้อง ค่าอาหาร  ค่ายา อุปกรณ์ฟื้นฟูเช่น รถเข็น ไม้ค้ำยัน ขาเทียม แต่จะไม่ครอบคลุมถึงกรณี ค่ารักษาพยาบาลอันเกิดจากการตรวจพบเชื้อ   เอชไอวีเอดส์และวัณโรค  ตลอดระยะเวลา 12 ปี ไอซีอาร์ซี ได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งชาวบ้านและทหาร ภายใต้โครงการไปแล้วจำนวนทั้งหมด 979 ราย ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิด ถูกยิง และโดนสะเก็ดระเบิด

เซดริก พิรัลลา หัวหน้าสำนักงานไอซีอาร์ซี ประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ไอซีอาร์ซีดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากการสู้รบ และความไม่สงบตามบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์เป็นระยะเวลานานเนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ถือเป็นพันธกิจที่ไอซีอาร์ซียึดถือและปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 150 ปีก่อน

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีการลงนามหยุดยิงในเมียนมาร์เมื่อปี 2554  ยอดผู้บาดเจ็บที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือของไอซีอาร์ซีมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด  แต่ในความเป็นจริงยังคงมีผู้บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลกระทบจากความไม่สงบ และกับระเบิดที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์

คุณเซดริกยังกล่าวต่อไปว่า ไอซีอาร์ซี ซึ่งมีสำนักงานประจำอยู่ทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งได้มีโอกาสเข้าถึงงานบริการสาธารณสุข การเสริมศักยภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขภาคสนาม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของไอซีอาร์ซี ในการเป็นมีส่วนให้เกิดการร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมสิทธิ ศักดิ์ศรี และมนุษยธรรมต่อไป

แบ่งปันบทความนี้