ICRC สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ ได้จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการ เรื่อง การสืบค้นติดตามญาติ (Restoring Family Links – RFL) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากสภากาชาดจากห้าประเทศคือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย และ เวียดนาม
วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ตัวแทนสภากาชาดจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งได้แสดงทรรศนะถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งกล่าวถึงความคาดหวังจากการเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฎิบัติการนี้ ไว้อย่างน่าสนใจ
คุณมาม ดาโร สภากาชาดกัมพูชา:
ผมรู้สึกยินดีที่เราได้มารียนรู้กิจกรรม RFL ในวันนี้ ซึ่งทางเราเองก็ดีใจที่ได้แบ่งปันความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ ระหว่างกัน ทั้งเราก็ยังหวังว่าจะได้รับทราบเพิ่มเติมถึงกิจกรรมการเยี่ยมเรือนจำของ ICRC ที่กรุงเทพฯ ผมคิดว่าในครั้งนี้เราจะได้มีโอกาสค้นพบความคล้ายคลึงต่าง ๆ ที่เราจะได้นำมาปรับใช้ และสัมมนาครั้งนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้สภากาชาดจากประเทศต่าง ๆ ได้มาพบพูดคุยเพื่อกระชับความร่วมมือกันต่อไปอีกด้วย
คุณคำหล้า พมภักดี สภากาชาดลาว:
การมาครั้งนี้ ผมก็อยากที่จะมาเรียนรู้ และถอดบทเรียนการทำงานของสภากาชาดประเทศต่าง ๆ และนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาปรับใช้กับงาน RFL ของเราที่สภากาชาดลาว คุณซู ซู ลิน สภากาชาดเมียนมาร์:ฉันเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้เพื่อ อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับความร่วมมือ และงาน RFL ของกาชาดในประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ก็ยังสนใจเพิ่มเติมในส่วนของกิจกรรมการเยี่ยมคุกของ ICRC การมาครั้งนี้ฉันรู้สึกยินดีมากที่ได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์จากทั้งเพื่อนสภากาชาดประเทศต่าง ๆ และจาก ICRC เกี่ยวกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ
คุณสุนิสา นิเวศน์รังสรรค์ สภากาชาดไทย:
สัมมนาครั้งนี้มีประโยชน์มากกับสภากาชาดไทย ซึ่งเราได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานด้าน RFL ของประเทศอื่น ๆ เราสามารถนำมาใช้พัฒนางาน RFL ของเราซึ่งยังมีขนาดเล็กอยู่เมื่อเทียบกับงานของประเทศต่าง ๆ ที่มาในวันนี้ เราก็หวังว่าจะได้เข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้อีกครั้งในอนาคต
คุณดวง ทิ ไม สภากาชาดเวียดนาม:
ฉันดีใจมากที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทั้งยังได้มีโอกาสมาพบปะกับทุก ๆ คนในวันนี้ การได้รับทราบข้อมูลกิจกรรม RFL ของ ICRC ก็นับว่ามีประโยชน์มากทีเดียว
—–
จากนั้น เรามาลองฟังทรรศนะเกี่ยวกับสัมมนา RFL ครั้งนี้จากทางฝั่งเทรนเนอร์ของ ICRC กัน
คุณเบอร์นัวต์ ชาวาซ กล่าวว่า ความมุ่งหวังของเราในการจัดกิจกรรมสัมมนาครั้งนี้ ก็เพื่อให้สภากาชาดจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้มาร่วมแลกเปลี่ยนตัวอย่างการทำงานที่มีประสิทธิภาพในเรื่องของ RFL พร้อมทั้งได้แบ่งปันประสบการณ์ ความท้าทาย ปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน ทั้งนี้ เรายังตั้งเป้าเพื่อให้เหล่าสภากาชาดได้มาร่วมพัฒนางานเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของภารกิจ RFL และการตอบสนองความจำเป็นต่าง ๆ ของบรรดาผู้ต้องขัง และสมาชิกในครอบครัวผู้มีอันต้องพลัดพรากจากไปตามประเทศต่าง ๆ ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
คุณเบญจมาส จันทิวาสน์ อีกหนึ่งเทรนเนอร์ของเรา กล่าวต่อว่า ครั้งนี้ก็เป็นสัมมนา RFL ในระดับภูมิภาคซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยครั้งนี้มีตัวแทนจากเมียนมาร์เข้ามาร่วมด้วย รวมแล้วเป็น 5 ประเทศด้วยกัน “จริง ๆ แล้วการทำงานกับกาชาด จะรู้สึกสนุกทุกครั้ง เพราะแต่ละคนมีจิตอาสาจริง ๆ จากการนำเสนอผลงานของหนึ่งปีที่ผ่านมา ก็รู้สึกว่า ทุกกาชาดตั้งใจที่จะทำงาน ตั้งใจที่จะส่ง จดหมายกาชาด (Red Cross Message – RCM) ให้ถึงมือผู้รับจริง ๆ” คุณเบญจมาสกล่าวด้วยสีหน้าอันยิ้มแย้ม สำหรับเป้าหมายอีกประการของการสัมมนา คุณเบญจมาส บอกกับเราว่าอยากให้สัมมนาในครั้งนี้ได้ช่วยให้เกิดการสื่อสารที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถส่งจดหมายจากครอบครัวถึงผู้ต้องขัง และจดหมายตอบกลับจากผู้ต้องขังถึงครอบครัวได้เร็วยิ่งขึ้น เธอกล่าวต่อว่า ในวันนี้ทางสภากาชาดต่าง ๆ และ ICRC ก็เข้าใจกันมากขึ้น รวมไปถึงความเข้าใจต่อความท้าทายของงาน RFL และระบบที่แตกต่างกัน ทั้งในส่วนของกระบวนการที่อาจมีหลายขั้นตอนในบางประเทศ อันอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าบ้างในการรับส่งจดหมายกาชาด คุณเบญจมาสกล่าวทิ้งท้ายว่า โดยรวมแล้วรู้สึกพอใจมากต่อความเข้าใจที่มีมากขึ้น สำหรับปัญหาใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งสภากาชาดและ ICRC ก็จะร่วมกันทำงานและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป