ภาพยนตร์สงครามนิวเคลียร์: ประวัติความเป็นมาของการทำลายล้างทั้งหมดบนแผ่นฟิล์ม

บทความ / บล็อค

ภาพยนตร์สงครามนิวเคลียร์: ประวัติความเป็นมาของการทำลายล้างทั้งหมดบนแผ่นฟิล์ม

75 ปี ผ่านไปหลังระเบิดปรมาณูลูกแรกถูกใช้เพื่อถล่มเมืองฮิโรชิมะจนราบเป็นหน้ากลอง ทุกวันนี้ผลกระทบของระเบิดยังคงเป็นที่พูดถึง ความกลัวต่อสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นยังคงติดอยู่ในใจและไม่ว่าสงครามเย็นจะจบไปกว่า 20 ปี กำแพงเบอร์ลิน – สัญลักษณ์ของการต่อสู้ระหว่างสองขั้วอำนาจถูกทำลาย ตามมาด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ถึงอย่างนั้น โลกหลังสงครามนิวเคลียร์และผลกระทบอันเลวร้ายหากอาวุธที่ว่าถูกนำมาใช้ ยังคงได้รับการเล่าขานและตีความต่อไปผ่านแผ่นฟิล์ม วันนี้เราได้ลองรวมรวมภาพยนต์ที่เล่าถึงหายนะของโลกหลังสงครามนิวเคลียร์ การตีความของผู้กำกับแต่ละท่านอาจให้ภาพต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกท่านเห็นร่วมกัน คือวันโลกาวินาศคงมาถึงในทันทีหากมีการใช้ระเบิดที่ว่าระเบิดในสักวัน

Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb (1964)

หนังชื่อยาวของผู้กำกับ “สแตนลีย์ คูบริค” (Stanley Kubrick) บอกเล่าเรื่องราวสุดขั้ว หากอำนาจการใช้ระเบิดตกอยู่ในมือของชายเสียสติที่กลัวคอมมิวนิสต์จนขึ้นสมอง ตัวหนังถูกสร้างขึ้นหลังเกิดวิกฤตการคิวบาเพียงสองปี เหตุการณ์นี้ถือเป็นช่วงเวลาฝันร้ายที่ระเบิดนิวเคลียร์เกือบถูกนำมาใช้มากที่สุดในยุคสงครามเย็น Dr. Strangelove จึงเป็นการบอกเล่าความกลัวเรื่องวันสิ้นโลก โดยวิจารณ์นโยบายรัฐแบบตลกร้าย – ทั้งที่ปากบอกว่าต้องการสร้างสันติภาพ แต่มือยังเร่งพัฒนาอาวุธทำลายล้างไม่หยุดหย่อน แม้ตัวหนังจะเก่ามากแต่ก็ถือว่าเป็นผลงานคลาสสิกที่ตีความสภาวะตึงเครียดในยุคสงครามเย็นออกมาได้อย่างน่าสนใจ

Fail Safe (1964)

ออกฉายในปีเดียวกับ Dr. Strangelove หนังเรื่อง Fail Safe ถูกฟ้องร้องเรื่องเนื้อหาว่าตั้งลอกเลียนแบบ Dr. Strangelove เพราะเล่าเหตุการณ์คล้ายกันเกี่ยวกับการตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี แม้เนื้อหาจะคล้าย แต่วิธีการดำเนินเรื่องต่างกันมาก เพราะในขณะที่หนังเรื่องแรกดำเนินเนื้อหาแบบตลกขบขัน Fail Safe เป็นหนังเครียดที่กดดันคนดูด้วยการตัดสินใจเพียงครั้งเดียวที่ไม่อาจเรียกกลับได้ การมองโลกในแง่ร้ายของหนังยุคสงครามเย็นมาจากสภาพกดดันทางสังคมที่พร้อมปะทุขึ้นทุกเมื่อ  Fail Safe ได้ตั้งคำถามสำคัญกับการครอบครองอาวุธทำลายล้างที่อาจพรากชีวิตมากมายด้วยการกดปุ่มเดียวว่ามันมีความปลอดภัยแค่ไหน และไม่ใช่การนำโลกทั้งใบไปแขวนอยู่บนความเสี่ยงหรอกหรือ?

A  Boy and His Dog (1975)

เรื่องเล่าเกิดในปี 2024 หลังโลกถูกทำลายล้างเพราะสงครามนิวเคลียร์ เด็กหนุ่มวัย 18 และสุนัขคู่ใจต้องออกผจญภัยเพื่อเอาชีวิตรอด โลกในตอนนั้นมีผู้เหลือรอดชีวิตไม่มากและแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือผู้ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นดิน – เช่น พระเอกของเรื่อง ซึ่งต้องเผชิญกับฝุ่นพิษเพราะรังสีตกค้าง กับกลุ่มที่ซ่อนตัวอาศัยอยู่ใต้ดิน ผู้คนยังมีปัญหาเรื่องการสืบพันธุ์เพราะถูกรังสีทำให้เป็นหมั้นและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เข้าทุกที หนังเรื่องนี้ถูกดัดแปลงจากนิยายวิทยาศาสตร์ที่ตลก แปลกประหลาด และเต็มไปด้วยแนวคิดทางการเมืองของฮาร์แลน เอลลิสัน (Harlen Ellison)

The Atomic Cafe (1982)

หนังสารคดีที่ใช้ภาพเหตุการณ์จริงจากยุค ’40s, ’50s และ ’60s มาร้อยเรียงกัน โดยนำเรื่องราวมาจากสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์และเหตุการณ์จริงที่ถูกถ่ายไว้ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงช่วงกลางของสงครามเย็น ยกตัวอย่างเช่นการสอนเด็กนักเรียนให้หลบระเบิดนิวเคลียร์ด้วยการซ่อนตัวใต้โต๊ะ ฯลฯ ปีที่หนังออกฉายถือเป็นช่วงปลายของสงครามเย็นที่บรรยากาศเริ่มมีการคลายตัวลงบ้าง การได้ย้อนเวลากลับไปเพื่อสำรวจความตื่นกลัวของสังคมในยุคก่อน สามารถบอกเล่าความเลวร้ายของยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนได้เป็นอย่างดี

Testament (1983)

ความสิ้นหวังของชีวิตหลังการโดนถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์คือแก่นเรื่องหลักของ Testament เรื่องราวเริ่มต้นในบ้านของครอบครัวอเมริกันในเมืองแคลิฟอร์เนีย เมืองของพวกเขาไม่ได้โดนถล่มโดยระเบิด แต่การทิ้งระเบิดที่ซานฟรานซิสโกทำให้ผลกระทบของรังสีและความตายติดตามมาถึงเมืองของพวกเขาในท้ายสุด แม้ว่าสถานการณ์ในเรื่องจะถูกบอกเล่าด้วยน้ำเสียงและจังหวะที่สงบเยือกเย็น แต่ผลกระทบจากรังสีตกค้างและโรคร้ายที่ตามมากลายเป็นภัยเงียบที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกกลัวได้โดยไม่ต้องเห็นเลือด

War Games (1983)

ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อาจซับซ้อนขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ย้อนกลับไปในปี 1983 ‘เดวิด’ (Matthew Broderick) เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเกิดนึกสนุกลองแฮ็กโปรแกรมทางทหารจนไปเจอเกมส์จำลองสถานกาณ์สงครามที่ดูสมจริงอย่างไม่น่าเชื่อ ปรากฎว่าเกมส์ที่ว่านี้ดันสามารถควบคุมรหัสยิงนิวเคลียร์ยามฉุกเฉินได้อีก ซึ่งการเล่นสนุกของเดวิดทำให้โลกต้องหวุดหวิดเกือบเจอเข้ากับสงครามนิวเคลียร์ เพราะฝ่ายโซเวียตตรวจเจอและนึกว่าสหรัฐอเมริกาจะเริ่มก่อสงครามขึ้นจริงๆ

The Manhattan Project (1986)

เช่นเดียวกับ“ WarGames”“ The Manhattan Project” ส่งเสียงเตือนเรื่องความปลอภัยและผลกระทบที่อาจตามมาหากการเข้าถึงอาวุธนิวเคลียร์ตกอยู่ในมือของเด็ก หนังเล่าเรื่องของเด็กอัจฉริยะ (Christopher Collet)  ที่ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมห้องทดลองของนักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเป็นแฟนคนใหม่ของแม่ เขารู้ได้ในไม่ช้าว่าสิ่งที่แฟนใหม่แม่กำลังทำการทดลองอยู่คือการพัฒนาพลูโตเนียมซึ่งเป็นตัวจุดระเบิดนิวเคลียร์ เด็กหนุ่มรู้สึกสนุกจึงแอบนำพลูโตเนียมกลับบ้านเพื่อลองพัฒนาอาวุธของตัวเอง จริยธรรมและขอบเขตของงานวิทยาศาสตร์ถูกตั้งคำถามในหนังเรื่องนี้ หากเรามองว่าการสร้างระเบิดทำลายล้างเป็นไปเพื่อการทดลองเพื่อเรียนรู้ โลกจะสามารถแบกรับผลกระทบที่อาจตามมาจากความ ‘อยากรู้อยากเห็น’ ของมนุษย์ได้หรือไม่?

Miracle Mile (1989) 

คุณจะทำอย่างไรหากรู้ว่าระเบิดนิวเคลียร์จะถูกทิ้งในอีก 70 นาที? Miracle Mile บอกเล่าเรื่องราวที่คล้ายกับการ์ตูนดัง Chicken Little เมื่อตัวเอกของเรื่องบังเอิญรู้ว่าระเบิดกำลังจะถูกทิ้งในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เขาพยายามเตือนภัยให้มากที่สุดและได้เล่าเรื่องระเบิดกับทุกคนที่พบเจอ ทั้งคนรู้จัก คนสนิท และคนแปลกหน้า ซึ่งปฎิกริยาที่ตามมาก็มีทั้งคนที่เชื่อว่าเป็นความจริง และคนที่คิดว่าเป็นเรืองตลก หนังพาเราไปส่องดูความวุ่นวายและสับสนในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายที่อาจตัดสินทั้งชีวิตได้ในการตัดสินใจเพียงครั้งเดียว

The Road (2009) 

หนังวันสิ้นโลกที่ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์หากต้องอยู่ในโลกที่ถูกทำลายโดยอาวุธนิวเคลียร์ ไม่มีอาหาร ไม่มีความหวัง คนจำนวนมากห่ำหันกันเองเพื่อความอยู่รอดและออกล่าเนื้อมนุษย์ด้วยกัน สองพ่อลูกออกเดินทางบนถนนที่เต็มไปด้วยอันตรายเพื่อมองหาความหมายของการใช้ชีวิต ระหว่างพ่อที่เคยเห็นโลกก่อนถูกทำลายล้าง กับเด็กที่เกิดมาเห็นโลกถูกทำลายจนหมดสิ้น ใครจะสามารถทนดูความเป็นจริงและคงความศรัทธาในชีวิตได้มากกว่า? หนังเล่าการเดินทางที่เต็มไปด้วยคำถามที่ยากจะหาคำตอบ

แปลและเรียบเรียงจาก: 9 Movies About Nuclear War

แบ่งปันบทความนี้