เจนีวา (ICRC) เกือบ 3 ใน 4 ของคนยุค millennials (กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี) ระบุผ่านแบบสอบถามใน 15 ประเทศ เห็นว่าสุขภาพจิตที่ดี มีความจำเป็นมากเท่าๆ กับ น้ำ อาหาร และที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามและความรุนแรง
อิปซอสส์ (Ipsos) บริษัทวิจัยชื่อดัง ร่วมกับ ICRC แจกแบบสอบถามในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 20-35 ปี จำนวน 15,000 คน เพื่อค้นหาความตระหนัก เกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตในพื้นที่ขัดแย้ง
ในจำนวน 15 ประเทศที่ตอบแบบสอบถาม ซีเรีย เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากที่สุด คิดเป็น 87% จาก จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 1 พันคน ในขณะที่อินโดนิเซียตามมาเป็นอันดับสอง (82%), ต่อด้วยยูเครน (81%) และสวิสเซอร์แลนด์ (80%)
“งานด้านสุขภาพจิตมักถูกคิดว่ารอได้ เมื่อบาดแผลทางใจเป็นสิ่งมองไม่เห็น ประเด็นที่ว่าจึงมักถูกละเลยและมองข้าม อย่างไรก็ตาม สงครามล้วนทิ้งความเจ็บปวดไว้ในก้นบึ้งของจิตใจ ในจำนวนผู้คนหลายล้าน ผลกระทบอาจต่างไปตามแต่ละบุคคล บาดแผลทางจิตอาจเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขและปัจจัยภายนอก หรือถูกกระตุ้นด้วยปมในใจที่มีอยู่ก่อนเดิม สำหรับผู้ป่วยบางคน อาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว” ปีเตอร์ เมาเร่อ ประธาน ICRC ให้ความเห็น
มากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง เป็นผู้ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต ตั้งแต่ภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงอาการวิตกกังวล ความเครียด และอาการทางจิตเรื้อรังหลังสงคราม ตัวเลขนี้ถือว่าสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 3 เท่า ความต้องการด้านสุขภาพจิตเป็นสิ่งเร่งด่วนและควรได้รับความสนใจในหมู่ประชาคมโลก
“ในภาวะสงคราม การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตอาจหมายถึงการช่วยชีวิต เช่นเดียวกับการห้ามเลือดหรือการเข้าถึงน้ำสะอาด แผลที่มองไม่สามารถพรากชีวิตได้ไม่ต่างกัน” เมาเร่อ เสริม
ในวาระวันสุขภาพจิตโลก (10 ตุลาคม) ที่เพิ่งจะผ่านไป ICRC อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายออกมาให้ความสำคัญกับงานด้านสุขภาพจิต และร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพจิต ให้สามารถปฎิบัติหน้าที่และเข้าถึงผู้ประสบภัยได้เช่นเดียวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ สอดคล้องกับนโยบายเพื่อตอบโต้และรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งภายในและระหว่างประเทศ
แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับ 73% of millennials in 15 countries say mental health is as important as water, food, shelter