‘ตอนพบกันครั้งสุดท้าย เธอแค่มีไข้’ – บันทึกใจสลายในพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้ออีโบล่า

บทความ / บล็อค

‘ตอนพบกันครั้งสุดท้าย เธอแค่มีไข้’ – บันทึกใจสลายในพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้ออีโบล่า

เสียงร้องของซาวาดีทำฉันใจสลาย ในทุกๆ ลมหายใจเหมือนเธอกำลังต่อสู้ด้วยพลังเฮือกสุดท้ายเพื่อยื้อชีวิตไว้ได้นานที่สุด ร่างมนุษย์ในชุดพลาสติกสีเหลืองขาวเพิ่งมาถึง พวกเขามาพร้อมถุงพลาสติกอีกใบ สำหรับใส่ร่างที่กำลังหมดลมของซาวาดี – แม่ของลูกๆ พี่สาวผู้เป็นที่รัก และคุณป้าของหลานๆ อีกมากมาย

ฉันอยู่ในศูนย์รักษาอีโบล่าในคองโก ทุกอย่างสะอาด ผ่านการล้างด้วยคลอรีน เหมือนว่าทุกอย่างจากข้างนอกจะถูกชำระล้างก่อนก้าวเข้ามา ทุกอย่าง ยกเว้นความเจ็บปวด หนึ่งในร่างชุดเหลืองขาวเปิดถุงบรรจุศพเพื่อมองหน้าบุคคลอันเป็นที่รักอีกครั้ง ตอนนั้นเองที่ความอดทนพังทลาย เสียงร้องไห้กระหึ่มดัง น้ำตาไหลนองหน้าเหมือนเขื่อนที่ถูกทลาย พวกเราออกจากห้องเพื่อให้เวลาครอบครัวของซาวาดีบอกลาเธออีกครั้ง เพื่อนร่วมงานหันมาพูดกับฉัน

‘มันเป็นสิ่งที่…พวกเราไม่มีวันทำใจให้ชินได้’ คำพูดของเขาบาดลึกไปถึงใจ ร่างกายของฉันเริ่มเย็นและน้ำตาก็เริ่มอาบหน้า

ฉันทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยกับ ICRC มาได้หกปีกว่า ได้เห็นความทุกข์ยากของผู้อพยพจำนวนมาก ได้ฝังร่างมากมายที่ไม่รู้จัก และได้ยิเสียงร้องบาดใจของความหิวโหย

แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้สัมผัสสิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่โรคระบาด

เมื่อฉันได้ยินเสียงร้องไห้ของซาวาดิ ฉันถึงเข้าใจความเจ็บปวดมากมายที่อยู่หลังตัวเลขทางสถิติ หัวใจฉันเจ็บขึ้นมาในทันที

อีโบลาระบาดขึ้นในเมืองนอร์-กีวู ประเทศคองโกเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ถือเป็นการตอกย้ำความลำบากของประชาชนที่เดือดร้อนจากทั้งความรุนแรงในพื้นที่และการลักพาตัวที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี

มาตราการรับมือขนานใหญ่ขององค์การอนามัยโลกถูกทำมาปฎิบัติเพื่อควบคุมไวรัสในขณะที่ประชากร 1 ล้านดำเนินชีวิตตามปกติ – เว้นแต่คุณจะมองเข้าไปให้ลึกกว่านั้น

โรงแรมทั้งหมดถูกจองเต็มและสถานีล้างมือก็โผล่ขึ้นมาในทุก ๆ แห่ง หลังจากล้างมือด้วยน้ำคลอรีนคุณจะได้รับการตรวจสอบอุณหภูมิด้วย “Thermoflash” มือของฉันแห้งและมีกลิ่นเหมือนสระว่ายน้ำในวัยเด็ก นอกจากนี้ เรายังต้องฉีดสเปรย์เคลือบรองเท้า และพกเจลทำความสะอาดมือตลอดเวลา

สภาพแวดล้อมแบบปลอดเชื้อมาพร้อมต้นทุนทางสังคม: นโยบาย “ห้ามสัมผัส” กลายเป็นที่แพร่หลาย เชื้ออีโบล่าสามารถแพร่กระจายได้ทางของเหลว ตั้งแต่ น้ำตา, เหงื่อ, น้ำอสุจิ, ไปจนถึงเลือด ดังนั้นวิธีหลีกเลียงการสัมผัสเชื้อที่ดี คือการไม่สัมผัสใครเลย เราไม่จับมือกัน ไม่ต้องพูดถึงการจูบหรือกอด คนที่กล้าที่สุดอาจสัมผัสตัวด้วยการแตะข้อศอกทักทาย นี่เป็นการกระทำมากมายที่สุดที่คุณจะได้รับ

ฉันไม่ได้สัมผัสมนุษย์มานานถึง 25 วัน มันเป็นความรู้สึกที่ประหลาด เหมือว่าเศษเสี้ยวของฉันเป็นคนถูกทำลายจากข้างใน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าครอบครัวของผู้ป่วยจะรู้สึกแย่กว่านี้กี่เท่าตัว

ไม่ใช่แค่การใช้ชีวิต อีโบล่าเปลี่ยนกระทั้งวิธีแสดงความเศร้าของผู้คน

โดยปกติแล้วการไว้อาลัยให้ผู้วายชนม์ประกอบไปด้วยการร้องไห้เหนือร่างผู้เสียชีวิต, การเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ผู้ตาย รวมไปถึงพิธีการมากมายที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวได้สัมผัสเพื่อบอกลา ครอบครัวของซาวาดีไม่มีโอกาสได้กระทำสิ่งเหล่านี้ ในทางกลับกัน พวกเขากล่าวคำอำลาผ่านแผ่นพลาสติกใสก่อนร่างของเธอจะถูกสเปรย์ทับด้วยคลอรีน และนำไปบรรจุในถุงบรรจุศพ ร่างของเธอถูกบรรจุในโลงศพอย่างง่ายๆ ก่อนได้รับการฝังโดยคนแปลกหน้าส่วมชุดน่ากลัว

ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาเห็นเธอ ซาวาดีแค่มีไข้ ครอบครัวของเธอเข้าใจว่าซาวาดีน่าจะเป็นมาลาเรีย จากนั้นไม่นานผู้ป่วยก็ถูกเคลื่อนย้ายมาศูนย์รักษาอีโบล่า ก่อนกลับมาในถุงพลาสติก เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง รับไม่ได้ และรุนแรงเกินทำใจ

– – – –

ไม่ใช่ว่าโรคนี้รักษาไม่ได้ มีผู้ป่วยหลายรายที่มาถึงศูนย์และกลับไปอย่างปลอดภัย หากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันทีมีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะหายขาด ผู้คนเหล่านั้นถูกเรียกว่า “ผู้ได้รับผลประโยชน์” หรือ “ผู้ชนะ” มาโชซี่เป็นหนึ่งในนั้น เขารอดชีวิตจากอีโบล่า ตอนนี้กลายมาเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าถึงประชากรส่วนใหญ่ บอกให้พวกระวังและตระหนักถึงความอันตรายของอีโบล่า

มาโซซี่ร่วมงานกับกาชาดคองโกเป็นเวลาหลายวันต่อสัปดาห์ ปฎิบัติหน้าที่ทั้งในโบสถ์ โรงเรียน และตลาด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับศูนย์ของเรา มันไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยความกล้าอย่างยิ่งใหญ่เพื่อพูดในที่สาธารณะเกี่ยวกับความเป็นจริงของโรคร้าย ทำลายข่าวลือและความเชื่อผิดๆ ในสังคม

‘ชาวต่างชาติไม่ได้มาเพื่อโขมยอวัยวะ’

‘พวกเขาไม่ได้เงินจากจำนวนศพที่เพิ่มขึ้น’

‘อีโบล่าไม่สามารถรักษาได้ด้วยการแพทย์แบบดั้งเดิม’

‘คุณควรมาที่ศูนย์ในทันทีหากมีอาการ’

เหล่านี้คือข้อมูลที่มาโซซี่พยายามบอกกล่าวกับชุมชน

พวกเราทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน นักจิตวิทยา และนักสื่อสารหลายสำนัก เพื่อแก้ไขความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับอีโบล่า โน้มน้าวให้ชุมชนเห็นว่าการต่อสู้กับอีโบล่าต้องเริ่มจากการทำลายข่าวลือและอคติ อีโบล่าเป็นเรื่องจริงที่ต้องได้รับการแก้ไข

แม้ว่าภัยจากโรคระบาดจะไม่ได้อยู่ในภารกิจของ ICRC แต่เราอยู่ในพื้นที่นี้เป็นเวลานานกว่า 8 ปีเพราะความขัดแย้งและความรุนแรง เมื่ออีโบล่าระบาดขึ้น ทั้งสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies – IFRC) และกาชาดคองโก เริ่มให้ความช่วยเหลือชุมชนด้วยการจัดการร่างของผู้เสียชีวิตอย่างมีเกียรติและถูกวิธีเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ICRC ให้ความช่วยเหลือผ่านสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเพื่อให้แน่ใจว่าทีมงานทั้งหมดสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย

ฉันมองรถของ ICRC พาร่างไร้วิญญานของซาวาดีออกไปไกลลับตา ครอบครัวของเธอเดินออกจากอาคารไปทั้งน้ำตา

รถอีกคันหนึ่งเคลื่อนตัวเข้ามา ข้างในนั้น ฉันเห็นโรงศพขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ ทารกวัย 2 สัปดาห์เพิ่งหมดลมหายใจลงเมื่อวานหลังถูกคุณยายซ่อนตัวไว้นานถึง 3 วัน

แม่ของทารกน้อยเสียชีวิต 4 วันก่อนหน้า ครอบครัวของเธอไม่เชื่อว่าอีโบล่าเป็นต้นเหตุ ฉันมองร่างไร้วิญญานของเด็กน้อย แม้แต่ถุงบรรจุศพที่เล็กที่สุดก็ดูจะใหญ่เกินไป ทันใดนั้นฉันนึงถึงครอบครัวและเพื่อน
เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ฉันคิดถึงบ้าน คิดถึงชีวิตที่รายล้อมไปด้วยเกราะคุ้มกัน สร้างจากความรัก ไม่ใช่พลาสติก

แปลจากบทความต้นฉบับ: “The last time they saw her, she just had a fever”

แบ่งปันบทความนี้