จากเมียนมาสู่บังกลาเทศ: บ้านเกิดที่ไม่ปลอดภัยกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

บทความ

จากเมียนมาสู่บังกลาเทศ: บ้านเกิดที่ไม่ปลอดภัยกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

Nurjahan

ฉันอยู่ตามลำพังกับลูกชาย สามีของฉันเสียชีวิตไปในระหว่างเหตุความรุนแรงในเมียนมา ชีวิตที่นี่ยากลำบากและสุขภาพของฉันก็แย่ลงทุกวัน ฉันหายใจไม่ทันและปวดท้องอยู่ตลอด แต่เราไม่มีเงินพอสำหรับอะไรทั้งนั้น ข้าว และทุกสิ่งที่มี ล้วนมาจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตอนนี้หน้าฝนกำลังจะมาถึง ฉันกังวลว่าบ้านของเราจะทนไม่ไหว ถ้าน้ำเกิดท่วมขึ้นมาเมื่อไหร่ นั่นอาจทำให้เราต้องเสียบ้านไปอีกครั้งเหมือนปีก่อนหน้า

Jubaer

บ้านของเราไม่ได้ถูกสร้างมาให้แข็งแรงพอต่อสู้กับฤดูมรสุม ในฐานะที่ผมเป็น “majhi” หรือผู้นำชุมชม มันเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องทำให้แน่ใจว่าสมาชิกทุกคนได้รับอาหารและความช่วยเหลือที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

Setara

ฉันเคยมีบ้าน แต่ตอนนี้ไม่เหลืออะไรเลย ฝน พายุ ดินโคลน ฉันใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเหล่านี้ สามีของฉันอายุมากและอ่อนแอ ฉันได้ยินข่าวว่าลูกชายคนโตของเราตอนนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ พวกเราไม่มีรายได้ แต่มีปากท้องต้องเลี้ยงดูถึง 9 คน คุณจินตนาการออกหรือเปล่า? มันยากเหลือเกินที่จะใช้ชีวิตต่อไป แต่พวกเราไม่มีทางเลือก

Nur Kayat

ตอนนี้ฉันดูแลร้านบุหรี่ของพี่เขย ร้านของเรามักมีลูกค้าผู้ชายแวะเวียนมาตลอด ฉันรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องขายบุหรี่และใบยาสูบให้พวกผู้ชาย แต่รายได้ทางเดียวของเรามาจากร้านนี้ ตั้งแต่สามีของฉันล้มป่วยจนไม่สามารถทำงานได้เพราะโรคทางจิต ตอนนี้ฉันกลายเป็นเสาหลักของบ้านที่ต้องทำงานไปพร้อมๆ กับดูแลลูก ฉันไม่แน่ใจว่าอยากกลับบ้านหรือเปล่า เพราะจะตอนนี้หรือก่อนหน้า ทุกอย่างก็ไม่ต่างกัน

Mohammad Shifayet

ผมเคยมีชีวิตเรียบง่าย ไปโรงเรียน มีเพื่อน ได้เล่นสนุก แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเราย้ายมาที่นี่ ผมมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือครอบครัว โดยเฉพาะวันที่มีการแจกจ่ายอาหารเพราะพ่อของผมอายุมากและไม่สามารถทำทุกอย่างได้ตามลำพัง ผมต่อคิวยาวเป็นชั่วโมงเพื่อรับน้ำสะอาดวันละสองครั้ง แต่ละครั้งได้น้ำกลับมาแค่ 2 ถัง

Muhammad Anwar

ผมรู้สึกเหมือนถูกคุมขัง แต่นี่เป็นสถานที่เดียวที่ปลอดภัย ผมมาถึงค่ายลี้ภัยตั้งแต่ 8 เดือนที่แล้ว ในตอนนั้น มีครอบครัวแค่ไม่กี่ครัวเรือน แต่แล้วผู้คนมากมายก็เริ่มอพยพตามมา การเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นปัญหาประจำวัน มันน่าเบื่อหน่ายแต่ผมชินเสียแล้ว ผมตั้งใจจะเดินทางกลับบ้านทันทีที่ปลอดภัย

Mohammad Hossain

พวกเรามีกัน 9 คน มันเป็นการเดินทางที่ยาวนานและเหนื่อยยาก พวกเรารู้สึกตื้นตันใจเหลือเกินเมื่อมีครอบครัวชาวบังกลาเทศยอมแบ่งที่พักให้อาศัย ผมเคยมีธุระกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ความรุนแรงพรากทุกอย่าง ผมลำบากใจทุกครั้งเวลาลูกสาวถามถึงอาหารดีๆ เธอเพิ่ง 7 ขวบ และไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

Saikat – Red Crescent volunteer 

ผมบังเอิญเจอเด็กชายตัวน้อยวัย 3 ขวบกำลังหลงทางอยู่ในค่าย ผมอุ้มเขา เดินไปถามทุกบ้านเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง มีคนจำเด็กได้และแนะให้ผมไปหาแม่ของเขาที่บ้าน โชคไม่ดีแม่ของเขาเพิ่งออกไปตามหาเด็กชาย พวกเรารออยู่ตรงนั้นกระทั่งเธอกลับมา เมื่อทั้งสองโผเข้าสู่อ้อมกอดของกันและกัน วินาทีนั้นผมรู้สึกถึงความสุขที่เอ่อล้นในใจ แม้งานของเราจะยากลำบากแต่การช่วยให้ครอบครัวที่พลัดพรากได้กลับมาเจอกันเป็นสิ่งสำคัญที่เราภูมิใจ

Hasmat – Red Crescent volunteer

ระหว่างให้บริการโทรศัพท์กับครอบครัวในค่าย Kutupalong ฉันพบสาวน้อยคนหนึ่งที่ต้องพลัดพรากจากสามี ในตอนที่สายโทรศัพท์ต่อไปถึง และเธอได้ยินเสียงคนรักเป็นครั้งแรก เธอร้องไห้ออกมาด้วยความสุข การรอคอยที่ยาวนานจบลงตรงนั้น ฉันไม่เคยลืมช่วงเวลาที่ว่า การเป็นอาสาสมัครหญิงไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนคิดว่าฉันคงไปไม่รอด แต่เมื่อเวลาผ่านไปการทำงานของฉันกลับเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุด

แปลจากบทความ: Myanmar’s displaced in Cox’s Bazar: Torn between an unsafe homeland and a blurry future

แบ่งปันบทความนี้