“หากคุณไม่เข้าข้างเรา ถือว่าเป็นศัตรูกับเรา” (you’re either with us, or against us)

กล่าวกันว่าคิเคโร – นักปรัชญาชาวโรมัน ได้กล่าวประโยคนี้กับจูเลียต ซีซาร์ ต่อมาประโยคเดียวกันถูกหยิบมาใช้โดยนักการเมืองทั่วโลกจนกลายเป็นวรรคทองที่แบ่งแยกมนุษยชาติออกเป็นสองฝั่งมานานนับพันปี

ทุกวันนี้สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจและสภาพสงครามที่โหมกระหน่ำได้ทำให้ความคิดของการที่จะยืนอยู่ตรงกลางกลายเป็นเรื่องผิดยุคผิดสมัยและอาจถูกท้าทายว่าเข้าข่ายผิดศีลธรรม เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เรามักเลือกที่จะยืนอยู่กับฝั่งหนึ่งโดยตีตราฝั่งตรงข้ามด้วยคำว่าศัตรู แต่เราต้องไม่ลืมว่าความเป็นกลางยังคงเป็นพื้นที่จำเป็นสำหรับมนุษยชาติ เพราะหากไม่มีสิ่งนี้ ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่องค์กรของเรา (ICRC) จะสามารถเข้าถึงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทั่วโลก

ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือพลเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ไม่ว่าจะที่ยูเครน ซูดาน หรือซีเรีย ไม่ได้รับความช่วยเหลือที่พวกเขาสมควรจะได้รับ แย่กว่านั้นคือพวกเขาได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเพราะฝ่ายต่างๆ ของความขัดแย้งไม่เคารพต่อข้อตกลงในกฏหมายมนุษยธรรม

ความน่าสะพรึงกลัวของสงครามโลกครั้งที่สองเคยเป็นแรงผลัดให้ทุกประเทศยอมรับการคุ้มครองในช่วงสงครามอันเป็นผลมาจากอนุสัญญาเจนีวาซึ่งเป็นข้อตกลงเก่าแก่ และได้มีการสร้างข้อตกลงใหม่ๆ เพื่อลดทอนความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น การห้ามทรมาน ข่มขืน หรือประหารชีวิตเชลยสงคราม

กฎหมายสงครามที่ว่านี้ ระบุกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อปกป้องมนุษยชาติจากความสูญเสียเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น การป้องกันการกระทำอันโหดร้ายต่อฝ่ายตรงข้ามเป็นหนทางที่จะช่วยให้สันติภาพสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นหากการสู้รบได้จบลงไปแล้ว

ภายใต้ข้อตกลงของอนุสัญญาเจนีวา ICRC เป็นหน่วยงานที่รับหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง อย่างไรก็ดี หากคู่สงครามไม่ให้ความเคารพข้อกฎหมายสงคราม องค์กรของเราก็อาจประสบปัญหาในการเข้าถึงพลเมืองและเชลยสงครามที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

เมื่อมองในจุดนี้ ความเป็นกลางทางมนุษยธรรมจึงมีความจำเป็นและเป็นลักษณะเฉพาะของ ICRC หากไม่มีสิ่งนี้ กิจกรรมทั้งหมดก็ไม่อาจเกิดขึ้น อันจะส่งผลโดยตรงต่อระบบระหว่างประเทศ (international system)

หัวใจสำคัญที่ได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คือการคุ้มครองพลเรือน ทหาร และเชลยสงคราม ซึ่งได้รับการปฏิบัติมาแล้วกว่า 75 ปี หลักการเหล่านี้ยังได้รับการปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

หลายท่านอาจสงสัยว่าอะไรคือคุณค่าของความเป็นกลางและไม่เลือกข้าง หลักการเหล่านี้สามารถทำประโยชน์ให้พลเมืองและเชลยสงครามได้อย่างไร?

เราอาจตอบคำถามนี้ได้ด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ซึ่ง ICRC สามารถเข้าเยี่ยมเชลยสงครามหลายพันคนจากทั้งสองฝั่ง (แม้ว่าเราจะไม่อาจเข้าถึงเชลยได้ครบทุกคน แต่เรากำลังผลักดันให้หลักการนี้สามารถปฏิบัติได้จริง) ภารกิจนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการความมุ่งมั่นและรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลาง แสวงหาการเจรจาที่สร้างสรรค์กับทุกฝ่าย เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ที่ตกเป็นเหยือของความขัดแย้งทางอาวุธ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสร้างความเชื่อใจกับทุกฝั่ง และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ก็คือบรรดาเชลยสงครามและครอบครัวของทั้งสองฝ่ายที่สามารถทราบข่าวคราวของสมาชิกครอบครัวที่ตกอยู่ในการควบคุมของฝ่ายตรงข้าม

แม้ความเป็นกลางจะเป็นหลักการที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย แต่เราต้องอย่าลืมว่าความเป็นกลางยังคงเป็นพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับมนุษยชาติ

แปลและเรียบเรียงจากข้อเขียนของมีรยานา สปอลจาริก เอกเกอร์ ประธาน ICRC ลงใน New York Times เมื่อวันที่ 30 มิถุนยาน 2023