#รู้หรือไม่ ระเบิดตกค้างและการใช้อาวุธทำลายล้างประเภทต่างๆ สามารถสร้างผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือนได้อย่างยาวนานแม้ว่าสงครามนั้นจะจบลงไปแล้วเป็นเวลาหลายปี ทำความรู้จัก อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด (Convention on Certain Conventional Weapons: CCW) อนุสัญญาน่าสนใจที่กล่าวถึงการจำกัดการใช้อาวุธที่ร้ายแรงโดยไม่จำเป็นต่อพลรบ และก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่แบ่งแยกต่อพลเรือน
อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด ได้รับการรับรองในปี 1980 มีผลบังคับใช้ในปี 1983 ความน่าสนใจในอนุสัญญาฉบับนี้ คือส่วนประกอบที่แยกเป็นสองส่วน ได้แก่ อนุสัญญาแม่บท ทำหน้าที่กำหนดขอบเขตและสถานการณ์ที่อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ ร่วมไปถึงการเข้าเป็นภาคี ในขณะที่ส่วนที่สอง เป็นพิธีสารแนบท้ายโดยแต่ละฉบับกำหนดข้อห้ามและข้อจำกัดในการใช้อาวุธแต่ละชนิด การมีพิธีสารแยกตามชนิดของอาวุธดังที่กล่าวมา เป็นจุดเด่นที่ทำให้อนุสัญญาฯ มีความยืดหยุน เปิดโอกาสในการปรับปรุง ถกเถียง และพัฒนาข้อกำหนดตามพิธีสารให้มีความสอดคล้องต่อการพัฒนาอาวุธที่ก้าวหน้า และวิธีการทำสงครามที่ปรับเปลี่ยนไปตามแต่ยุคสมัย
การปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจยกตัวอย่างเช่น ในปี 1980 อนุสัญญาแม่บทของ CCW ระบุให้อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับใช้แค่ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ในอีก 16 ปีหลังมีการนำไปใช้จริง ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาแม่บทเพื่อให้ข้อกำหนดจากอนุสัญญาฯ มีผลครอบคลุมในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ไม่ได้มีลักษณะระหว่างประเทศด้วย และยังมีการเพิ่มเติมพิธีสารอีกสองฉบับคือฉบับที่ 4 ในปี 1995 และ ฉบับที่ 5 ในปี 2003
ทุกวันนี้ อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธทุกประเภท และแม้ว่าข้อกำหนดส่วนใหญ่จะถูกใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมระหว่างการสู้รบ อนุสัญญาฯ ก็ยังมีข้อกำหนดหลายๆ ด้าน ที่กำหนดวิธีปฏิบัติหลังการการสู้รบได้จบสิ้นไปแล้ว โดยเฉพาะในส่วนพิธีสารฉบับที่ 2 ห้ามหรือจำกัดการใช้ทุ่นระเบิด และพิธีสารฉบับที่ 5 กำหนดแนวทางการเก็บกู้และกำจัดวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามและส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน
ปัจจุบันพิธีสารแนบท้ายของอนุสัญญาฉบับนี้มีอยู่ด้วยกัน 5 ฉบับ
♦ พิธีสารฉบับที่ 1 (Protocol on Non-Detectable Fragments) ห้ามการใช้อาวุธใดก็ตามที่มีผลเบื้องต้นทำให้บุคคลได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดซึ่งหากอยู่ในร่างกายจะไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการเอ็กซ์เรย์
♦ พิธีสารฉบับที่ 2 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Mines, Booby-Traps and Other Devices) จำกัดการใช้ทุ่นระเบิด (ทั้งทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และทุ่นระเบิดต่อต้านยานพาหนะจำกัดการใช้กับดัก (booby trap) หมายถึง อุปกรณ์ใดๆ ที่ออกแบบหรือดัดแปลงเพื่อฆ่าหรือทำให้บาดเจ็บโดยถูกติดตั้งไว้กับสิ่งของที่ดูไม่เป็นอันตราย (เช่นประตู) และทำงานในทันทีเมื่อเกิดการรบกวน รวมไปถึงจำกัดการใช้อาวุธระเบิดอื่นๆ ที่วางด้วยมือ หรือระเบิดแสวงเครื่อง ซึ่งออกแบบมาเพื่อการสังหาร/ทำให้บาดเจ็บ ซึ่งสามารถทำให้ระเบิดได้ไม่ว่าจะด้วยคำสั่งหรือการตั้งเวลา ในพิธีสารนี้ ยังมีการระบุให้รัฐภาคีต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมทั้งหมด รวมทั้งด้านนิติบัญญัติ และมาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดพิธีสารโดยบุคคลของรัฐ หรือภายใต้ดินแดนเขตอำนาจของรัฐ
♦ พิธีสารฉบับที่ 3 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Incendiary Weapons) ควบคุมการใช้อาวุธเพลิง ในพิธีสารนี้ระบุว่าอาวุธเพลิงเป็นอาวุธที่ออกแบบมาเพื่อจุดไฟเผาสิ่งของหรือเผาบุคคลผ่านการกระทำของเปลวไฟหรือความร้อน เช่น เพลิงและเครื่องพ่นไฟ อาวุธที่ว่านี้ถูกห้ามไม่ให้นำไปใช้กับพลเรือนในทุกกรณี นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้ใช้อาวุธเพลิงโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายทางทหารที่ตั้งอยู่ใกล้กับกลุ่มของพลเรือน และยังห้ามใช้อาวุธเพลิงโจมตีเป้าหมายที่เป็นป่าหรือสิ่งปกคลุมที่เป็นพืช เว้นแต่สิ่งนั้นจะถูกใช้เพื่ออำพรางพลรบ เป้าหมายทางทหาร หรือสิ่งนั้นมีลักษณะเป็นเป้าหมายทางทหารเอง
♦ พิธีสารฉบับที่ 4 (Protocol on Blinding Laser Weapons) ห้ามการใช้อาวุธแสงเลเซอร์ (laser weapons) ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อทำให้ตาบอดถาวร อนุสัญญาฯ กำหนดให้ฝ่ายที่มีความขัดแย้งห้ามการใช้และห้ามถ่ายโอนอาวุธแสงเลเซอร์ ประเภทนี้ไปยังรัฐ หรือกองกำลังที่ไม่ใช่รัฐ นอกจากนี้หากมีการใช้อาวุธแสงเลเซอร์ จะต้องมีมาตรการป้องกันที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการตาบอดถาวร ยกตัวอย่างเช่น การฝึกกองทัพและมาตรการเชิงปฏิบัติอื่น ๆ ปัจจุบัน การใช้อาวุธแสงเลเซอร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อทำให้ตาบอดถาวรจัดเป็นอาชญากรรมสงครามตามธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ
♦ พิธีสารฉบับที่ 5 (Protocol on Explosive Remnants of War) กำหนดแนวทางการเก็บกู้และกำจัดวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามและส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน โดยมีการระบุให้คู่ขัดแย้งจะต้อง
1.ระบุจุดที่มีระเบิดตกค้างและทำการเก็บกู้ระเบิดทั้งหมดในพื้นที่ครอบครองของตัวเอง
2.ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค วัสดุ และการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการเก็บกู้และกำจัดระเบิดตกค้างที่ฝ่ายตนเองใช้ และหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้ครอบครอง ความช่วยเหลือนี้อาจมอบให้โดยตรงหรือผ่านบุคคลที่สามเช่น สหประชาชาติ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ รวมไปถึงองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ
3.ใช้มาตรการป้องกันที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อปกป้องพลเรือนจากผลกระทบของระเบิดตกค้างยกตัวอย่างเช่นการล้อมรั้วและติดตามอาณาเขตที่ได้รับผลกระทบ ให้คำเตือนแก่พลเรือนรวมไปถึงการให้ความรู้แก่ประชาชน
4.บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ใช้โดยกองทัพในทุกครั้งและเมื่อหลังจากการสู้รบสิ้นสุดลง ข้อมูลเหล่านี้จะต้องถูกแบ่งปันกับฝ่ายอื่นๆ เพื่อทำการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่อาจหลงเหลือ ซึ่งรวมไปถึงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของวัตถุระเบิดให้กับพลเรือนในพื้นที่
ปัจจุบันอนุสัญญาห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด (CCW) มีการประชุมระหว่างรัฐภาคีเป็นประจำทุกปีเพื่อทบทวนสถานะและการบังคับใช้ และได้มีการพิจารณาประเด็นใหม่ๆ ที่อาจควรบรรจุไว้ในอนุสัญญาฯ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ทุ่นระเบิดต่อต้านยานพาหนะ ระเบิดลูกปราย และระบบอาวุธสังหารอัตโนมัติ