แม้ว่าการสู้รบจะยุติลงนานแล้ว แต่บ่อยครั้งที่ผลกระทบจากสงครามไม่ได้จบลงไปด้วย การปนเปื้อนของอาวุธร้ายแรงชนิดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นวัตถุระเบิดตกค้างซึ่งยังไม่ระเบิดในทันที ได้สร้างความเสียหายให้กับชุมชนทั่วโลก อันตรายที่ว่านี้แฝงตัวอยู่ใต้ผิวดิน และรอวันที่จะคร่าชีวิตหรือสร้างความเสียหายได้ทุกเมื่อ และนี่คือเรื่องที่เราอยากบอกให้คุณรู้เกี่ยวกับมรดกมรณะที่ยังคงคร่าชีวิตผู้คนอย่างต่อเนื่อง

1.วัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามคืออะไร

วัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม (Explosive remnants of war – ERW) สามารถแบ่งออกเป็นสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (unexploded ordnance : UXO) และอาวุธระเบิดที่ถูกทิ้งไว้ (abandoned explosive ordnance, AXO) สิ่งของเหล่านี้รวมถึงกระสุนปืนใหญ่ ระเบิดมือ กระสุนครก กระสุนคลัสเตอร์ จรวด มิสไซล์ และอาวุธระเบิดอื่นๆ รวมถึงระเบิดแสวงเครื่อง (IED) ขึ้นอยู่กับการออกแบบและการใช้งาน ทั้งหมดทั้งมวลอาจกลายเป็นวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามได้ทั้งสิ้น

อาวุธระเบิดทุกชนิดมีอัตราความล้มเหลวที่แตกต่างกัน ตั้งแต่หนึ่งถึงสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุของระเบิด วิธีการจัดเก็บและใช้งาน คุณภาพของการออกแบบและการผลิต ประเภทของวัสดุหรือแม้แต่ผิวดิน ณ จุดกระทบ สภาพบรรยากาศ และความสามารถของผู้ใช้ อย่างไรก็ดี เมื่อวัตถุเหล่านั้นไม่ระเบิดในทันที ก็ยังมีโอกาสที่จะระเบิดได้อีกในอนาคต ซึ่งการทำงานของมัน เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา

2.อะไรคือผลกระทบของอาวุธตกค้าง พวกมันสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และการดำเนินชีวิตอย่างไร

ทุกวันนี้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก วัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม ยังคงสร้างความเสียหายให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้การสู้รบจะจบลงไปนานแล้วก็ตาม บางรายงานกล่าวว่าประเทศกว่าครึ่งในโลกยังคงปนเปื้อนด้วยวัตถุอันตรายเหล่านี้ โดยนอกจากวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามจะทำให้การเข้าถึงสถานพยาบาลและบริการที่จำเป็นอื่น ๆ เป็นไปได้ยาก ยังปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทำให้เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งในบางครั้งกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องกล่าวว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากวัตถุระเบิดตกค้างจำนวนมากเป็นเด็ก

การมีอยู่ของวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามยังสร้างผลกระทบที่ยาวนานต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเดินทางกลับบ้าน หรือไม่อาจทำการเพาะปลูกและการค้าได้ เพราะกลัวอันตรายจากระเบิดที่ยังฝังตัวอยู่ในพื้นดิน การใช้อาวุธเหล่านี้ในพื้นที่เมืองหรือเขตเศรษฐกิจ สร้างผลเสียให้พลเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม แถมการเก็บกู้วัตถุระเบิดจากพื้นที่เหล่านี้ก็มีความซับซ้อน เราเห็นได้จากกรณีในตะวันออกกลาง หรือในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

3.กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีพันธะผูกพันอย่างไรต่อคู่พิพาทในประเด็นด้านวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม

ภายใต้กฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian law – IHL) คู่ขัดแย้งที่ใช้อาวุธระเบิดหรือควบคุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามจะต้อง:

📍 ใช้มาตรการเพื่อปกป้องประชากรพลเรือนจากความเสี่ยงและผลกระทบของวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามทั้งในระหว่างและหลังการสิ้นสุดของการรบ

📍 วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่กระสุนอาจไม่ระเบิดในทันทีรวมไปถึงผลกระทบสำคัญหากอาวุธเหล่านั้นปนเปื้อนในพื้นที่ซึ่งอาจมีผลต่อชีวิตและสุขภาพของพลเรือนเมื่อประเมินร่วมกันกับหลักสัดส่วนของการโจมตี

📍 ระบุ ทำเครื่องหมาย ตรวจสอบ และเคลียร์พื้นที่ที่มีวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม ให้คำเตือนที่มีประสิทธิภาพแก่พลเรือนเกี่ยวกับตำแหน่งและอันตรายของวัตถุระเบิดเหล่านี้

ข้อกำหนดดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในพิธีสารแนบท้ายฉบับที่ 5 (Protocol on Explosive Remnants of War) ของอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด (Convention on Certain Conventional Weapons: CCW) ภายใต้พิธีสารนี้ ฝ่ายที่มีการใช้หรือละทิ้งอาวุธระเบิด จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีหลักสามประการ:

📍 บันทึกข้อมูลที่ครอบคลุมและถูกต้องเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้หรือละทิ้งโดยกองกำลัง

📍 แบ่งปันข้อมูลกับฝ่ายที่กำลังเข้าควบคุมพื้นที่ และ/หรือ กับองค์กรใดๆ ที่จะดำเนินกิจกรรมเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดหรือให้ความรู้ด้านความเสี่ยงแก่ประชาชน

📍 ให้ความช่วยเหลือ (ด้านเทคนิค การเงิน วัสดุ หรืออื่น ๆ) หากเป็นไปได้แก่ฝ่ายที่ควบคุมอาณาเขตที่ได้รับผลกระทบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำเครื่องหมายและเก็บกู้ กำจัดหรือทำลายวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม

นอกเหนือไปจากนี้ รัฐและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐซึ่งควบคุมดินแดนที่ได้รับผลกระทบจากวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม ยังมีภาระหน้าที่เพิ่มเติมสองประการ:

📍 ใช้มาตรการป้องกันที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อปกป้องพลเรือนจากความเสี่ยงและผลกระทบของวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม รวมถึงทำคำเตือน ให้ความรู้ด้านความเสี่ยงแก่ประชาชน และทำเครื่องหมาย รั้วกั้น ไปจนถึงตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

📍 สำรวจและประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม ทำเครื่องหมายและเก็บกู้ หรือทำลายวัตถุระเบิดเหล่านี้

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด เห็นได้ว่าความรับผิดชอบในการปกป้องพลเรือนจากอันตรายของวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น รัฐภาคีแห่งพิธีสารก็มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ (หากอยู่ในฐานะที่จะกระทำได้) จนถึงปัจจุบัน พิธีสารฉบับนี้มีรัฐภาคี 97 รัฐ และมีส่วนสำคัญในการบรรเทาภัยคุกคามที่เกิดจากวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงครามทั่วโลก

4.ICRC และกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงจะสามารถปกป้องและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามได้อย่างไร

ทุกๆ ปี ICRC และสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงยังคงให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอาวุธเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เรายังมีโครงการเฉพาะเพื่อป้องกันและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามซึ่งยังคงคร่าชีวิตผู้คนอย่างต่อเนื่อง โครงการของเรารวมถึง

📍 การเก็บกู้วัตถุระเบิดออกจากพื้นที่

📍 การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวัตถุระเบิดประเภทดังกล่าว

📍 การฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม

📍 การให้ความสนับสนุนด้านสังคมและเศรษฐกิจต่อผู้ได้รับผลกระทบ

📍 รวมไปถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กาชาดในด้านดังกล่าว

โดยในปี 2021 เราดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชน รวมไปถึงให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิด ซึ่งรวมไปถึง การเก็บกู้วัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามในบริบทต่างๆ เช่น อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน โคลอมเบีย อิหร่าน อิรัก อิสราเอลและดินแดนยึดครอง ลิเบีย มาลี โมร็อกโก เมียนมาร์ นากอร์โน-คาราบัค ไนจีเรีย ปากีสถาน ซีเรีย ยูเครน เซเนกัล ซีเรีย เวียดนาม และเยเมน

5.รัฐจะสามารถทำอะไรได้อีกบ้างเพื่อปกป้องผู้ได้รับผลกระทบจากวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม

ปัจจุบันมีรัฐภาคีที่ยอมรับพิธีสารต่อท้ายอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 5 เพียงประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนรัฐทั้งหมดทั่วโลก ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนรัฐที่ยอมรับพิธีสารฉบับนี้ อันเป็นปัจจัยที่จะทำให้ข้อกำหนดเป็นที่ยอมรับได้ระดับสากลมีอัตราที่ลดลงอย่างน่าตกใจ เราขอเรียกร้องให้ทุกรัฐที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี ปฏิบัติตามพิธีสารต่อท้ายฉบับที่ 5 และสำหรับรัฐภาคีทุกรัฐ จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของตนอย่างซื่อสัตย์ เนื่องจากสิ่งนี้สามารถลดภัยคุกคามร้ายแรงที่เกิดจากวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามทั่วโลก

นอกจากนี้ เรายังเรียกร้องให้รัฐต่างๆ เปิดทางให้องค์กรมนุษยธรรมสามารถเข้าทำงานในพื้นที่ สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นในทางกฎหมายเพื่อให้องค์กรมนุษยธรรมสามารถนำอุปกรณ์ที่จำเป็นเข้าไปในพื้นที่ รวมไปถึงความปลอดภัยในการเก็บกู้วัตถุระเบิด ซึ่งเป็นงานซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากหากความขัดแย้งยังดำเนินอยู่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องลงมือปฏิบัติมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อปกป้องพลเรือนและชุมชนของพวกเขาจากอันตรายที่อาจเกิดได้จากอาวุธต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไป