หลังจากที่เราได้เล่าถึงความแตกต่างระหว่างกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฏหมายสิทธิมนุษยชน หลายคนอาจสงสัยว่าหากมีการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศขึ้นมา จะมีการจัดการสอบสวน ลงโทษ หรือมีมาตรการอย่างไร และใครเป็นผู้เข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ บทความของเราจะมาไขข้อสงสัยในโพสต์เดียว

อาญชากรรมสงครามคืออะไร?

อาชญากรรมสงคราม คือ อาชญากรรมที่กระทำในบริบทของสงคราม กล่าวคือ อาชญากรรมที่เกิดขี้นที่เกี่ยวข้องกับการทำสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างประเทศหรือไม่ โดยที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) นิยามอาชญากรรมสงครามไว้ว่าเป็น
.
“การละเมิดกฎหมายและจารีตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันทางอาวุธที่มีลักษณะระหว่างประเทศ (และไม่ระหว่างประเทศ)อย่างร้ายแรง”
.
อาชญากรรมสงครามนั้นมีตัวอย่างเช่น ทรมาน ตัดอวัยวะ ลงโทษทางร่างกาย จับเป็นตัวประกัน และการก่อการร้าย และยังรวมไปถึงการละเมิดศักดิ์สรีความเป็นมนุษย์เช่นการข่มขืนหรือบังคับค้าประเวณี ปล้นสะดม และการประหารโดยไม่ขึ้นศาล ทั้งนี้อาชญากรรมสงคราม ต่างจากอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ตรงที่อาชญากรรมสงครามสามารถเกิดขี้นได้เมื่อมีสงครามเท่านั้น

ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หากมีการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ(International Humanitarian Law – IHL) หรือที่เราเรียกกันว่าเป็น กฎหมายสงคราม

.
รัฐที่เข้ารบเป็นหน่วยหลักในการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่และการกระทำตนของทหารภายใต้การบังคับบัญชา โดยที่กองทัพต่างๆ ต้องพยายามปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบของกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL), อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และพันธะทางกฎหมายอื่นๆ อย่างเต็มที่และไม่ยกเว้น ทั้งนี้ต้องมีการรักษาวินัยและการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพ ป้องกันพฤติกรรมอันเป็นอาชญากรในหมู่กำลังพล และต้องรายงาน ยับยั้งขัดขวางหรือดำเนินการเกี่ยวกับการปฎิบัติที่ผิดหรือการละเมิดกฎหมาย IHL และเน้นย้ำถึงการไม่ออกและรับคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
ในส่วนของกระบวนการหลังความรุนแรงยุติ อาจมีการจัดตั้งศาลเฉพาะกิจเพื่อดำเนินคดีกับอาชญากรสงคราม หรืออาจจะมีการนำเรื่องขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยอาจผ่านช่องทางทางพันธะจากสนธิสัญญากรุงโรม หรือผ่านช่องทางอื่น เช่น สำนักงานอัยการของ ICC เอง หรือรับเรื่องผ่านมติสหประชาชาติเป็นต้น
.

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรสงครามด้วยหรือไม่ และได้ทำการแชร์ข้อมูลกับ ICC ด้วยหรือเปล่า

.

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) มีการเก็บข้อมูลหรือหลักฐานในบริบทของสงครามแต่ข้อมูลดังกล่าวจะไม่ถูกเปิดเผยสู่ภายนอกโดยเด็ดขาด และ ICRC เองไม่มีพันธะหรือหน้าที่ที่ต้องให้ข้อมูลแก่ผู้ใด แม้แต่ศาลเองก็ตาม เพราะว่า ICRC ต้องปฏิบัติหน้าที่บนหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่าย และการเก็บรักษาความลับ เพื่อรักษาความเชื่อใจและเป็นกลาง เพื่อให้ ICRC สามารถทำงานได้กับทุกฝ่าย ในการให้ความช่วยเหลือ แนะนำและเป็นช่องทางในการเจรจาและสร้างความเคารพต่อหลักกฎหมายสงครามในทุกๆ ฝ่าย หมายความว่าเจ้าหน้าที่ของ ICRC จะไม่เปิดเผยข้อมูลในทุกกรณี

ICC เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากอนุสัญญาเจนีวาด้วยหรือเปล่า ICC และ ICRC มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่

.

ICC เป็นองค์กรที่แยกต่างหาก เกิดขึ้นจากการลงนามในสนธิสัญญากรุงโรม ดังนั้น การจะให้ ICC มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องในทางคดีกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศที่ว่านั้นจะต้องเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญากรุงโรม โดย ICC มีอำนาจดำเนินคดี 4 ประเภท คือ 1. อาชญากรรมสงคราม 2. การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ 3.อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ 4.การรุกราน

.
ICC เป็นศาลที่เรียกว่าเป็นศาลที่เข้ามาเสริม complementarity คือไม่ได้แทนที่ศาลภายใน เพราะการนำเรื่องสู่ ICC ได้จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับความผิดภายใต้เขตอำนาจศาล จากภายในประเทศจนหมดหนทางก่อน และ/หรือ เมื่อปรากฏว่ากระบวนการภายในไม่สามารถหรือไม่ยินยอมให้ความเป็นธรรม ICC จึงจะสามารถเข้ามาเสริมและเกี่ยวข้องได้
.
ข้อเกาะเกี่ยวระหว่าง ICC และ ICRC คืออนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปรับใช้โดยตรงในสงคราม โดย ICC อาศัยหลักต่างๆที่ปรากฎใน Geneva Conventions และสนธิสัญญากรุงโรม ในการพิจารณาและตัดสินคดี เปรียบได้ทำนองว่า ICRC เป็นกรรมการที่คอยดูแลให้ทุกคนทำตามกฎ ในขณะที่ ICC คือผู้จัดการ ลงโทษนักกีฬาที่ทำผิดกฎ