ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างเห็นถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครนที่ต้องมีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยเร่งด่วน ผู้อ่านหลายคนได้ติดต่อเข้ามาหาเราพร้อมกับคำถามต่าง ๆ ว่าด้วยการนำกฎแห่งสงคราม หรือ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ไปใช้กับสถานการณ์ความขัดแย้งได้อย่างไรบ้าง

ในบทความนี้ คอร์ดูลา โดรเก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของเรา ได้สรุปกฎเกณฑ์สำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่บังคับควบคุมความขัดแย้ง และเน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องของ ICRC ให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามภาระผูกพันทางกฎหมายของตนในการหลีกเลี่ยงไม่ให้พลเรือนต้องเดือดร้อนและเสียชีวิตไปมากกว่านี้

ก่อนสถานการณ์การสู้รบในประเทศยูเครนจะปะทุรุนแรงจนเป็นวงกว้างนั้น สิ่งที่ประจักษ์ชัดคือ การสู้รบครั้งนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองและนำมาสู่การสูญเสียชีวิต ทำลายล้าง และความบาดเจ็บของผู้คนเป็นวงกว้าง ตลอดจนภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการที่พลเรือนจะต้องแบกรับต่อผลที่ตามมาอันเลวร้าย เหมือนกับการสู้รบทุกหนแห่งบนโลกใบนี้

ขณะนี้ เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้อีกแล้ว สถานการณ์ที่เราจะต้องพยายามให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีมากเกินขอบขีดความสามารถของเราและหน่วยงานอื่น ๆ ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือได้ วิธีการดำเนินงานที่เรายึดมั่นอยู่เสมอคือการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เป็นกลางและไม่ลำเอียงและมีกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติ เราต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แม้ทั้งสองสิ่งจะช่วยชีวิตผู้คนได้เฉกเช่นที่เคยช่วยมาแล้วในเหตุความขัดแย้งจำนวนมากทั่วโลก ดังนั้น เราจึงต้องการตอบคำถามบางส่วนที่ผู้อ่านส่งเข้ามาเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยการกล่าวสรุปโดยย่อถึงกฎเกณฑ์หลักของ IHL พร้อมกับสิ่งเป็นดาวเหนือคอยนำทาง นั่นคือ การจำกัดขอบเขตความเดือดร้อนทุกข์ทรมานที่เกิดจากสงคราม

การขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศ

แม้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลกในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นการขัดกันทางอาวุธที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ บางครั้งเรียกว่าเป็นสงครามกลางเมือง สิ่งที่เราเห็นที่เกิดขึ้นอยู่ในยูเครนขณะนี้จัดประเภทตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศ อันเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ เนื่องจากการสู้รบปะทุขึ้นกันระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ หมายความว่า อนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 จะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศตามจารีตประเพณีและสนธิสัญญาอาวุธอีกหลายฉบับ นอกจากนี้ กฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยยังเป็นกรอบการทำงานที่สำคัญที่ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ประสบภัยจากสถานการณ์ความขัดแย้งด้วย

การขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้กำลังระหว่างรัฐจำนวนสองรัฐขึ้นไป ที่สำคัญ สิ่งนี้เป็นการประเมินตามข้อเท็จจริง โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถูกต้องตามกฎหมายของการใช้กำลังระหว่างรัฐดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ วัตถุประสงค์ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศคือการคุ้มครองผู้คนเมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง และพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ของอนุสัญญาเจนีวาก็ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้นไม่อาจตีความอนุมานได้ว่าเป็นการทำให้การฝ่าฝืนกฎบัตรสหประชาชาติมีความชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมไม่อาจนำมาชดเชยหรือชดใช้ความจำเป็นที่ต้องมีการรักษาสันติภาพและบรรลุสันติภาพอีกครั้งได้หลังสถานการณ์ความขัดแย้งปะทุขึ้น หนึ่งในคติพจน์ของกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงคือ มนุษยธรรมนำพาซึ่งสันติภาพ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความหวังที่ว่า การรักษาระดับของความมีมนุษยธรรมในการขัดกันทางอาวุธนั้นจะช่วยปูทางไปสู่สันติภาพได้ นี่คือสิ่งที่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมุ่งร่วมก่อให้เกิดขึ้น

ชุดของกฎเกณฑ์ที่ภาคีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครนมีภาระหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนั้นอาจแบ่งวัตถุประสงค์ออกเป็น 2 วัตถุประสงค์ที่ครอบคลุมกัน ได้แก่ 1) เพื่อลดความเดือดร้อนทุกข์ทรมานของผู้คนอันเป็นผลที่เกิดจากการสู้รบที่รวมถึงการจำกัดทางเลือกของการใช้อาวุธ และ 2) เพื่อคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือยุติการมีส่วนร่วมในการสู้รบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรพลเรือนและผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต หรือผู้ที่ตกอยู่ในการควบคุมของฝ่ายศัตรู ในบทความนี้ เราจะอธิบายแต่ละหมวดหมู่ตามลำดับไป

กฎเกณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสู้รบ

ภายใต้กฎแห่งสงครามนั้นมีหลักการสำคัญ 3 ประการที่กำหนดวิธีการดำเนินปฏิบัติการทางทหาร กล่าวคือ การดำเนินการสู้รบสงคราม ที่ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการขัดกันทางอาวุธอาจต้องดำเนินการตาม หลักการดังกล่าว ได้แก่ การจำแนก ความได้สัดส่วน และการระมัดระวังล่วงหน้า ทั้งหมดนี้ได้รับการประมวลไว้ในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศทุกฉบับ หลักการทุกหลักการต่างมุ่งหมายคุ้มครองพลเรือนจากผลที่เกิดจากการสู้รบ

การโจมตีที่ดำเนินเกิดขึ้นโดยมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และปัจจัยทางไซเบอร์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

การจำแนก หลักการของการจำแนกกำหนดให้ภาคีการขัดกันทางอาวุธจะต้องจำแนกพลเรือนและทรัพย์สิ่งของพลเรือนกับพลรบออกจากเป้าหมายทางการทหารอยู่ตลอดเวลา ปฏิบัติการทางการทหารจะต้องมุ่งเป้าไปที่เป้าหมายประสงค์ทางการทหารเท่านั้น การจงใจมุ่งเป้าไปที่พลเรือนจึงถือเป็นอาชญากรรมสงครามอย่างหนึ่ง

พลเรือนไม่อาจถูกโจมตีได้ เว้นแต่หรือเนื่องจากพลเรือนดังกล่าวจะเข้าร่วมในการสู้รบโดยตรงในขณะนั้น มีรายงานว่าพลเรือนในประเทศยูเครนได้พากันจับอาวุธลุกขึ้นสู้ พลเรือนบางส่วนเข้าร่วมกับหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพ บางส่วนไม่ได้เข้าร่วม บางคนหยิบอาวุธขึ้นมาสู้เป็นระยะ ๆ ดังนั้น ในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้นั้น กฎเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ต้องจำไว้คือ การอนุมานสถานภาพความเป็นพลเรือน พลเรือนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงจะต้องได้รับการคุ้มครองจากการโจมตีโดยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

การโจมตีจะต้องห้ามมุ่งเป้าไปที่ทรัพย์สิ่งของพลเรือน เช่น บ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานพยาบาลของพลเรือน เว้นแต่สถานที่ดังกล่าวจะมีส่วนร่วมในการดำเนินการทางการทหารในลักษณะที่ก่อให้เกิดผล และการโจมตีทรัพย์สิ่งของเหล่านี้จะก่อให้เกิดความได้เปรียบทางทหารอย่างชัดเจน ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของพลเรือน โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจำเป็นจะต้องได้รับการยกเว้น ได้แก่ โรงพยาบาล ระบบน้ำ ก๊าซ และไฟฟ้าที่เป็นแหล่งโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำและไฟฟ้าที่จำเป็นของพลเรือน

ทรัพย์สิ่งของหลายอย่าง เช่น โรงพยาบาล สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการอยู่รอดของประชากร ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม หรือสิ่งติดตั้งที่บรรจุพลังงานอันตราย จะต้องได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติม ห้ามไม่ให้ทำสงครามด้วยปัจจัยการก่อให้เกิดความอดอยากในหมู่พลเรือน และห้ามไม่ให้ทำการจงใจสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชากรพลเรือน

ความได้สัดส่วน การโจมตีที่มุ่งเป้าไปที่พลรบหรือเป้าหมายทางการทหารอื่นจะต้องปฏิบัติตามหลักการความได้สัดส่วน หมายความว่า ห้ามไม่ให้มีการโจมตีซึ่งอาจคาดได้ว่าจะยังผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตของพลเรือน การบาดเจ็บของพลเรือน และ/หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิ่งของพลเรือนที่อาจพลอยเกิดขึ้นมากเกินกว่าความได้เปรียบทางการทหารที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมและโดยตรงอันได้คาดหมายไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วัตถุประสงค์ทางการทหารอาจถูกโจมตีได้ก็ต่อเมื่อมีการประเมินจนได้ข้อสรุปว่า การสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพลเรือนไม่ได้คาดว่าจะเกินกว่าความได้เปรียบทางทหารที่คาดหมายไว้ การโจมตีจะต้องยุติด้วยเช่นกันหากเห็นได้ชัดว่าสภาวะการณ์ที่อยู่ภายใต้การประเมินนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

การระมัดระวังล่วงหน้า ในการปฏิบัติการทางทหารนั้น ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการขัดกันทางอาวุจะต้องใช้ความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ประชากรพลเรือนและทรัพย์สิ่งของพลเรือนต้องถูกกระทบกระเทือน ทุกฝ่ายจะต้องดำเนินการทั้งปวงเพื่อการระมัดระวังล่วงหน้าที่เป็นไปได้ ทั้งในการเลือกปัจจัยและวิธีการเข้าโจมตี เพื่อหลีกเลี่ยง หรืออย่างน้อยนั้น เพื่อลดอันตรายที่อาจพลอยเกิดขึ้นต่อพลเรือนและทรัพย์สิ่งของพลเรือน ทุกฝ่ายจึงจะต้องดำเนินการทั้งปวงที่เป็นไปได้ในการหลีกเลี่ยงการจัดตั้งเป้าหมายทางทหารที่อยู่ภายในหรือใกล้เคียงบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

ICRC มีความกังวลต่อสถานการณ์การสู้รบในประเทศยูเครนและความเสี่ยงร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองและพื้นที่อาศัยแห่งอื่น ทุกวันนี้ การใช้อาวุธประเภทระเบิดที่ส่งผลกระทบที่มีลักษณะเป็นวงกว้างเป็นต้นเหตุหลักของความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพลเรือนดังที่เราได้พบเห็นกัน สิ่งที่มีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งคือ โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ระบบน้ำและไฟฟ้า จะต้องได้รับการคุ้มครองอยู่เสมอและจะต้องไม่ถูกโจมตี เป้าหมายที่ชอบด้วยกฎหมายในบริเวณใกล้เคียงนั้นไม่อาจโจมตีได้ เว้นแต่จะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้ และเว้นแต่จะมีการจำกัดอันตรายที่จะเกิดต่อพลเรือน รวมถึงผลกระทบจากความเสียหาย อย่างสมสัดส่วน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพลเรือนดังที่เราเห็นเกิดขึ้นที่เมืองมารีอูโพล เหมือนกับที่เกิดขึ้นที่เมืองอเลปโป รักกา ตริโปลี หรือโมซูลในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น สิ่งที่เกิดขึ้นควรกระตุ้นให้รัฐลุกขึ้นมาระบุให้ชัดเจนมากกว่านี้ว่าตนได้นำหลักการของการจำแนกไปปฏิบัติใช้อย่างไรบ้าง รวมถึงทั้งในแง่ของการใช้อาวุธหนักด้วย ICRC และหน่วยงานอื่น ๆ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมากกว่านี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเมือง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญต่อหลักการของการจำแนะในลักษณะที่จริงจังมากกว่านี้ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการสู้รบในเขตพื้นที่เมืองทั่วโลกก่อให้เกิดการตั้งคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับการตีความของรัฐต่อการห้ามไม่ให้มีการโจมตีตามอำเภอใจ สิ่งที่ยากคือการได้เห็นว่า การใช้ปืนใหญ่ยิงแบบไร้วิถี ปืนครกหรือระเบิดขนาดใหญ่ ระเบิดพวง และเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องนั้นยังคงถูกมองว่าจำแนกพลเรือนออกจากพลรบกับทรัพย์สิ่งของพลเรือนออกจากทรัพย์สิ่งของทางการทหารในเมืองต่าง ๆ ได้และจำกัดผลจากการใช้อาวุธเหล่านี้ได้ตามที่ IHL กำหนด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ ICRC ออกมาเรียกร้องให้รัฐทุกรัฐจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธระเบิดหนักในพื้นที่เขตเมือง กล่าวคือ อาวุธดังกล่าวไม่ควรถูกนำมาใช้ เว้นแต่จะมีการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงของอันตรายที่จะเกิดต่อพลเรือนแล้ว

ขั้นตอนเร่งด่วนที่ฝ่ายต่าง ๆ ควรดำเนินการบนภาคพื้นดินในประเทศยูเครนในปัจจุบัน เพื่อเป็นการยึดมั่นตามหลักการการจำแนก ความได้สัดส่วน และการระมัดระวังล่วงหน้า มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรก จะต้องงดเว้นจากการใช้อาวุธที่ไม่มีความเหมาะสมต่อพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่และก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวง ขั้นตอนที่สอง จะต้องอนุญาตให้พลเรือนออกจากพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมหรือล้อมรอบด้วยวิธีการของความตกลงที่จะหยุดยิง การอนุญาตให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมพาพลเรือนเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย หรือผ่านความตกลงรูปแบบอื่น โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มพลเรือนที่มีความเสี่ยงจำเพาะ เช่น ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ตั้งครรภ์ และขั้นตอนที่สาม จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการกำหนดเป้าหมายทางการทหารและทำการสู้รบจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในหรือใกล้เคียงพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น

เรื่องสุดท้ายคือ การจำกัดทางเลือกของการใช้อาวุธนั้นถือเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยการสู้รบ โดยทั่วไปแล้วนั้น IHL ห้ามไม่ให้ใช้อาวุธ ที่มีลักษณะก่อให้เกิดการบาดเจ็บเกินสมควรหรือความทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น และอาวุธใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติ

กฎหมายด้านมนุษยธรรมและสนธิสัญญาห้ามอาวุธที่มีความจำเพาะได้ห้ามไม่ให้มีการใช้ ผลิต สะสม หรือจำหน่ายอาวุธบางประเภท กฎหมายด้านมนุษยธรรมได้ห้ามไม่ให้มีการใช้อาวุธบางประเภทผ่านสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธชีวภาพ เคมี และนิวเคลียร์ อาวุธแสงเลเซอร์ที่มีผลทำให้ตาบอด ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และระเบิดพวง แม้ว่าภาคีต่าง ๆ จะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง และรัสเซียก็ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล แต่ ICRC ประณามการใช้อาวุธดังกล่าวของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งใดก็ตาม

บุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง ได้แก่ เชลยศึกและผู้ถูกคุมขัง

ในกฎหมายด้านมนุษยธรรมนั้นมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดรายละเอียดอย่างชัดเจนและหนักแน่นในการคุ้มครองผู้ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายปฏิปักษ์ แรงจูงใจหลักของกฎเกณฑ์ทั้งหมดนี้คือ การปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม และเคารพในศักดิ์ศรีของผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ ผู้เสียชีวิตและผู้ถูกคุมขัง โดยปราศจากการจำแนกอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ และเกณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน กฎเกณฑ์เหล่านี้ให้ความคุ้มครองอย่างหนักแน่นในกรณีที่มีการตีความและนำไปใช้โดยสุจริต

จุดเริ่มต้นของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสมัยใหม่ คือการรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ รวมถึงผู้ที่มาจากฝ่ายศัตรู ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้จะต้องได้รับการรวบรวมและดูแลรักษาโดยไม่คำนึงถึงฝักฝ่ายของพวกเขา

ภาคีความขัดแย้งแต่ละฝ่ายต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการรับผิดชอบต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองที่อยู่ในอำนาจของตน เช่น บุคลากรทางทหารที่บาดเจ็บ ป่วยไข้ และเสียชีวิต เชลยศึก และพลเรือนที่ได้รับการคุ้มครองซึ่งสูญเสียเสรีภาพ ภาคีความขัดแย้งจะต้องรวบรวม รวมศูนย์ และส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นไปยังอีกฝ่ายผ่านสำนักงานกลางเพื่อสืบหาญาติ (Central Tracing Agency) ของ ICRC ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ดำเนินหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง การดำเนินการทุกประการในการป้องกันไม่ให้ผู้คนสูญหายหรือค้นหาพวกเขา จะใช้เรื่องสิทธิของครอบครัวในอันที่จะทราบถึงชะตากรรมของญาติเป็นแรงชักจูงเป็นหลัก

เชลยศึกและพลเรือนที่ถูกคุมขังจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีและได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่จากการถูกปฏิบัติที่โหดร้าย ดูหมิ่น และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนที่สนใจใคร่รู้ รวมถึงการเผยแพร่ภาพถ่ายสู่สาธารณะบนโซเชียลมีเดีย อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 มีกฎเกณฑ์จำเพาะที่ควบคุมกำกับเกี่ยวกับเงื่อนไขของการคุมขังและการให้ ICRC เข้าถึงผู้ถูกคุมขังที่เป็นทั้งเชลยศึกและพลเรือน

การดำเนินงานเพื่อให้มีการยึดมั่นตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ภาคีความขัดแย้งมีภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และมีภาระผูกพันที่จะต้องจัดหาให้ซึ่งปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชากรภายใต้การควบคุมของตน ในกรณีที่ไม่ได้มีการจัดหาปัจจัยพื้นฐาน รัฐทุกรัฐจะต้องอนุญาตและอำนวยความสะดวกให้มีการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม

ICRC มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการทุกหนทางที่กระทำได้เพื่อให้มีการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของทุกฝ่ายทำการสู้รบ เพื่อให้สามารถอพยพนำพาพลเรือนออกจากพื้นที่อันตรายจากการถูกยิงและถูกทิ้งระเบิด เพื่อให้สามารถบรรเทาทุกข์และให้การคุ้มครองพลเรือนและผู้ซึ่งได้ยุติการเข้าร่วมในการสู้รบ และเพื่อให้สามารถเยี่ยมเยือนผู้ถูกคุมขังและดำเนินการมีการคุ้มครองสิทธิของพวกเขา เพื่อให้มีการป้องกันไม่ให้ผู้คนสูญหาย เพื่อให้ครอบครัวที่พลัดพรากได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง

ในฐานะที่เป็นการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศที่มีการใช้กำลังความสามารถทางการทหารอันมหาศาล และที่มีผลที่ตามมาที่ทำให้ต้องมีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระดับที่ไม่เคยพบเห็นได้ในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้มานานหลายทศวรรษนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้อาจดูเหมือนว่าเป็นความขัดแย้งที่มีลำดับความสำคัญแตกต่างกันออกไป กระนั้นก็ตาม แม้ความขัดแย้งนี้อาจจะดูเหมือนไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่เมื่อพิจารณาในมุมของกฎหมายมนุษยธรรมแล้วนั้น ความขัดแย้งนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดตำราของกฎเกณฑ์ใหม่ แต่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้นก่อกำเนิดเกิดสร้างขึ้นมาเพื่อจำกัดผลที่ตามมาจากความขัดแย้งดังกล่าว

ดูเพิ่มเติม