พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่หลายคนรู้จักและเข้าใจว่าเป็นศาสนาแห่งอหิงสา (ความไม่เบียดเบียนและการเว้นจากการทำร้าย) และบ่อยครั้งมีการนำพุทธศาสนามาใช้ในบริบทของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการป้องกัน การเจรจา รวมถึงแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่ที่ผ่านมา มีการวิจัยค่อนข้างน้อยเกี่ยวกับทัศนคติของพุทธศาสนาที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจป้องกันได้หรือยังเกิดขึ้นอยู่ ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) จึงพยายามเชื่อมประสานและสัมพันธ์กับวงการพุทธศาสนาทั้งในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่น เพื่อบุกเบิกริเริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติของพุทธศาสนาและหลักธรรมคำสอนที่มีต่อการทำสงคราม รวมถึงความสอดคล้องเชื่อมโยงกันของพุทธศาสนากับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) ในการบรรเทาอันตรายและความทุกข์ทรมานจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
แอนดรูว์ บาร์เทิล-สมิธ ผู้จัดการฝ่ายงานด้านมนุษยธรรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ICRC ได้ร่วมนำเสนอผลการศึกษาของโครงการวิจัยที่ ICRC ได้ค้นคว้าภายใต้หัวข้อเรื่องพุทธศาสนาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศระหว่างการบรรยายอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลักสูตร “ความขัดแย้ง ความรุนแรง และงานด้านมนุษยธรรม” ซึ่งสถาบันพระปกเกล้า จัดขึ้นร่วมกับ ICRC และมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ.)
แอนดรูว์ได้บรรยายให้ผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในระดับผู้นำจากภาคธุรกิจ ตำรวจ ทหาร องค์กรศาสนา และหน่วยงานวิชาการได้รับทราบถึงการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง ICRC กับคณะสงฆ์ ฆราวาส และนักวิชาการทางศาสนาในช่วงที่ผ่านมา โดยในการนำเสนอครั้งนี้ แอนดรูว์ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวความคิดของพุทธศาสนาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและการขัดกันทางอาวุธว่ามีความสอดคล้องเหมือนกันอย่างไรบ้าง พร้อมกับยกตัวอย่างแนวความคิดทางพุทธศาสนาที่มีความสำคัญต่อการปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานเมื่อเกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นหลักของความเมตตากรุณา การยับยั้งชั่งใจ ความรับผิดชอบของบุคคล รวมถึงการใช้กำลังรุนแรงขั้นถึงชีวิต เป็นต้น