นำศพออกจากที่เกิดเหตุ วิเคราะห์หลักฐาน พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ทั้งหมดนี้เป็นชีวิตจริงของคนทำงานด้านนิติวิทยาศาตร์ แน่นอนว่าการทำงานไขปริศนาเป็นเรื่องน่าสนใจ หลายปีที่ผ่านมาสื่อภาพยนต์และซีรีย์นำเสนอภาพลักษณ์ของอาชีพนี้ในฐานะบุคคลสำคัญในการไขคดีต่างๆ นั่นอาจเป็นเหตุลให้นิติวิทยาศาสตร์เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ผู้หญิง (อันที่จริงนิติวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในไม่กี่สาขาของสายงานวิทยาศาตร์ ที่มีผู้หญิงลงเรียนมากกว่าผู้ชาย) อะไรทำให้สายงานนี้น่าสนใจ นิติวิทยาศาสตร์ในความเป็นจริงทำงานแบบไหน มาไขข้อสงสัยไปกับดร.เชอรี่ ซี ฟอกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ของ ICRC

ทุกวันนี้นิติวิทยาศาตร์เหมือนจะเป็นสาขาของผู้หญิง ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา มีผู้หญิงเข้าศึกษาในสาขานี้มากถึง 70% ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

ต้องบอกก่อนว่าเมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ ย้อนกลับไปตอนฉันยังเป็นนักศึกษา สาขานิติวิทยาศาสตร์ยังมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จริงอยู่ทุกวันนี้งานนิติวิทยาศาสตร์มีนักศึกษาและผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น แต่ใน America Academy of Forensic Science ตำแหน่งใหญ่ๆ ในระดับผู้บริหารก็ยังเป็นของผู้ชาย – มีผู้หญิงได้เป็นคณะบริหารแค่ประมาณ 10% รางวัลสำคัญด้านวิชาการต่างๆ ส่วนมากก็ยังมอบให้แต่ผู้ชาย (ผู้หญิงมีได้บ้างแต่เป็นส่วนน้อย) มันเลยเป็นเรื่องน่าสนใจว่าอนาคตของสายงานนี้จะมีอันต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ในปัจจุบันเราได้เห็นผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสายงานนี้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นใน ICRC แม้ว่าหัวหน้าใหญ่สุดในสายงานจะเป็นผู้ชาย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในจำนวนสิบกว่าคนมีผู้ชายอยู่แค่สองคนเท่านั้น

ได้ยินมาว่างานนิติวิทยาศาสตร์เป็นส่วนผสมสองอย่างระหว่างวิทยาศาสตร์และกฎหมาย?

ใช่ การทำงานด้านนี้นอกจากวิทยาศาสตร์และความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เรายังต้องมีความรู้ด้านกฎหมายด้วยโดยเฉพาะกฎหมายอาญาเพราะต้องทำงานเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมบ่อย อาจารย์ของฉันสมัยเรียนก็เคยทำงานให้หลายคดี ส่วนคนที่ทำงานในองค์กรมนุษยธรรมอย่าง ICRC ก็แน่นอนว่าต้องเข้าใจกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการร่างผู้เสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี การให้เกียรติกับผู้ตาย และการส่งคืนร่างผู้เสียชีวิตให้กับครอบครัว ฯลฯ

หลายคนอาจสงสัยว่านิติวิทยาศาสตร์มาทำอะไรที่ ICRC จริงๆ ตำแหน่งนี้ในเอเชียแปซิฟิกทำงานอะไรกัน?

งานในภูมิภาคนี้ต่างจากที่อื่น เพราะส่วนมากงานนิติวิทยาศาสตร์ในเอเชีย-แปซิฟิกจะเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ เพราะพื้นที่ตรงนี้มีความเสี่ยงกับภัยพิบัติต่างๆ ค่อนข้างมาก ดังนั้นการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในแถบนี้จึงต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกู้ภัยเพื่อเตรียมการป้องกันล่วงหน้า ซึ่งต่างจากที่อื่น

พอพูดถึงงานกู้ภัย เราอาจติดภาพว่าต้องเป็นงานของผู้ชาย ในความเป็นจริงแล้วเป็นแบบนั้นหรือไม่?

แล้วแต่พื้นที่เลย ฉันเคยทำงานในประเทศที่งานเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตเป็นงานของผู้หญิง แต่ที่ประเทศไทยเราอาจคุ้นว่างานนี้น่าจะเป็นของผู้ชาย ไม่ใช่ว่าผู้หญิงไม่ทำงานจิตอาสานะ แต่พวกเธอรับหน้าที่อื่นๆ ไม่ใช่คนออกพื้นที่ไปเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งเอาเข้าจริงสายงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในไทยมีผู้หญิงทำงานอยู่เยอะเหมือนกัน เช่นในกรมตำรวจ เราจะเห็นได้ว่าคนดังด้านนิติวิทยาศาสตร์ของไทยก็เป็นผู้หญิง

แล้วแบบนี้การทำงานในชีวิตจริงต่างกับในหนังหรือในซีรีย์มากน้อยแค่ไหน?

มันก็มีความเหนือจริงอยู่บ้างสำหรับหนัง ยกตัวอย่างเช่น เราไม่สามารถไขคดีได้ในเวลาหนึ่งชั่วโมง ข้อมูลต่างๆ ไม่ได้เปิดเผยง่ายขนาดนั้น งานนิติวิทยาศาตร์เป็นงานละเอียดที่ต้องใช้เวลามาก หลายเคสปิดไม่ได้ ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราสามารถระบุอัตลักษณ์คนตายจากหลักฐานแวดล้อมที่มี ต้องยอมรับว่าอิทธิพลของหนังและซีรีย์ทำให้คนสนใจมากขึ้นว่างานของพวกเราทำอะไร จากที่ไม่รู้อะไรเลย คนเริ่มเห็นภาพการทำงานและสนใจงานด้านนี้กันมากขึ้น

พูดถึงการทำงานเพื่อกู้อัตลักษณ์ให้คนตาย มีบ้างไหมที่คนตายมาเข้าฝัน หรือเคยมีประสบการณ์เหนือจริงเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานสายนี้บ้างหรือเปล่า?

ไม่เลย อย่างน้อยก็กับฉันนะ บางทีฉันอาจจะยุ่งเกินไปจนลืมคิดเรื่องนี้ แต่ฉันไม่เคยได้ยินเสียงอะไร

คุณคิดว่างานด้านนิติวิทยาศาสตร์มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนในการไขคดี?

สำคัญมาก ฉันเคยทำคดีหนึ่งที่แอริโซนา ตำรวจพบร่างผู้เสียชีวิตที่ย่อยสลายไปมากแล้วจนไม่สามารถระบุสาเหตุการตาย พอเราเข้าไปทำงานก็พบว่ามีรอยกระสุนทะลุตรงกระดูกซี่โครงใกล้ทรวงอก ทำให้รูปคดีสามารถสรุปได้ว่าเป็นเหตุฆาตกรรม ส่วนในงานของ ICRC เราทำงานกับเคสคนหาย เมื่อมีการเจอร่างผู้เสียชีวิต งานของเราคือการระบุตัวตน ดูแลร่างผู้เสียชีวิตอย่างสมเกียรติ ก่อนส่งคืนร่างให้กับครอบครัวเพื่อให้พวกเขาได้จัดงานศพในแบบที่ต้องการ การหาให้เจอว่าผู้ตายเป็นใครเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งกับความรู้สึกของสมาชิกครอบครัว และในทางกฎหมาย เพราะหากเราไม่เจอร่างผู้เสียชีวิต ก็จะไม่สามารถระบุได้ว่าเขาตายแล้ว

มาถึงคำถามสุดท้าย สำหรับสาวๆ หลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ คุณมีอะไรอยากจะแนะนำผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานด้านิติวิทยาศาสตร์?

มันเป็นสายงานที่ดีนะ แต่สำหรับคนที่สนใจ แนะนำว่าควรลองเข้าประชุม เจอคนในสายงานบ่อยๆ และลองถามคำถาม หลายคนอาจคิดว่าอยากทำแต่เวลาที่มีคดีภาคสนามเข้ามา ทั้งแมลงวัน ทั้งกลิ่น มันไม่ใช่งานที่ทุกคนจะทำได้ ดังนั้นก่อนที่คุณจะลงทุน ลงแรงอาจไปศึกษาดูงานจากคนที่ทำอยู่แล้วเพื่อดูว่าเราชอบงานด้านนี้จริงหรือไม่