เชื่อกันว่าเมืองที่เก่าที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติคือซาตาล ฮูยุค (Çatal Hüyük) เมืองโบราณมีอายุย้อนกลับไปราว 8,000 – 9,000 ปี ตั้งอยู่ในพื้นที่ของประเทศตุรกีในปัจจุบัน และคงไม่ใช่เรื่องเกินคาดหากเราจะบอกว่า บันทึกที่เป็นรายลักษณ์อักษรครั้งแรกเกี่ยวกับการโจมตีปิดล้อมเมืองก็ถูกค้นพบในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เราอาจเคยได้ยินเรื่องสงครามกรุงทรอย มหากาพย์โบราณของโฮเมอร์ที่จบลงด้วยการล่มสลายของเมือง แต่เชื่อหรือไม่ว่าบันทึกเกี่ยวกับสงครามยึดเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมีอายุเก่ายิ่งกว่า คาดกันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วง 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช (หรือราว 3,500 ปีที่แล้ว) โดยเป็นการปิดล้อมเมืองเมกิดโด (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิสราเอล) ของกองทหารจากอียิปต์
ความสัมพันธ์อันเก่าแก่ระหว่างสงครามและพื้นที่เมืองเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ บางครั้งเมืองต่างๆ ก็เข้าสู่สงครามนองเลือดเพื่อทำลายล้างเมืองของอีกฝั่งให้สิ้นซาก แต่บ่อยครั้งที่การรุกรานไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำลายแต่เป็นการยึดครองเพื่อแสดงความเหนือกว่าผ่านการพิชิต ในเมื่อการต่อสู้เพื่อยึดครองเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เทคโนโลยีในการปิดล้อม และแม้แต่ยุทธวิธีในการป้องกันก็ถูกคิดค้นขึ้นตามมา หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับกลยุทธ์การต่อสู้ประเภทนี้มีอายุย้อนกลับไปถึง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช (ประมาณ 2400 ปีมาแล้ว) โดยมีการค้นพบบันทึกจากประเทศกรีซ
การพัฒนาเมืองให้เป็นเหมือนป้อมปราการและสถานที่หลบภัยของพลเรือน ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 18 แนวคิดในการสร้างเมืองแบบป้อมปราการที่มีกำแพงหนา เริ่มเสื่อมความสำคัญในศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการคิดค้นอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างและสามารถโจมตีได้จากที่ไกล เจนีวา เป็นตัวอย่างที่ดี เมืองที่ว่าเคยมีกำแพงและป้อมปราการล้อมรอบสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 แต่มีการรื้อถอนออกไปตั้งแต่ปี 1849 เป็นต้นมา
ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่เมืองต่างๆ เริ่มละทิ้งผลประโยชน์ด้านการทหาร และหันมาพัฒนาเพื่อการใช้สอยของพลเรือน หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมืองใหญ่กลายเป็นที่พักของแรงงานมากมายที่หลั่งไหลเข้ามาจากชนบทเพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ มากกว่าเพราะความปลอดภัยในมิติของสงคราม ภาพรวมของเมืองใหญ่ที่มักเป็นสถานที่อาศัยของพลเรือนจำนวนมากยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ในเมื่อเมืองยังคงเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและการเมือง รวมไปถึงการติดต่อสื่อสารต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่าทำไมเมืองต่างๆ ในปัจจุบัน ยิ่งมีขนาดใหญ่และมีความสำคัญมากเท่าไร ก็ยิ่งตกเป็นเป้าโจมตีของผู้ไม่หวังดีได้มากเท่านั้น การโจมตีเมืองใหญ่แน่นอนว่ามีรูปแบบเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากการเผาเมืองในยุคโรมัน ไปจนถึงการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดในช่วงสงครามมโลกครั้งที่ 2 หรือการใช้อาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงอย่างระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ
นอกจากการโจมตีเมืองจากภายนอก เรายังพบรูปแบบการทำสงครามจากภายในเมืองเช่นการต่อสู้ที่เบอร์ลิน สตาลินกราด(ปัจจุบันคือวอลโกกราด) หรือนานกิงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การโจมตีเมืองเหล่านี้ไม่ใช่การบินมาทิ้งระเบิดเป็นช่วงเวลา แต่เป็นการใช้กำลังทหารบุกโจมตีถึงภายใน มีการใช้อาวุธหนักในทุกช่วงตึก อาคารบ้านเรือนของประชาชนถูกทำลาย สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน การต่อสู้ในรูปแบบนี้ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่นเมืองจำนวนมากในตะวันออกกลาง
การบุกยึดและทำลายเมืองนั้น ในมุมหนึ่งมีผลประโยชน์ต่อการรบเพราะถือเป็นการทำลายฐานที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีผลมากด้านกำลังใจ เพราะเป็นการทำลายความภาคภูมิใจและประวัติศาสตร์ของผู้คน บ่อยครั้งเมื่อผู้ชนะสามารถยึดเมืองไว้ได้ ก็มักจะกวาดต้อนพลเรือนของศัตรูไปเป็นเชลย ทุบทำลายและแย่งชิงทรัพย์สินต่างๆ รวมไปถึงมรดกทางวัฒนธรรมและศาสนสถาน พลเรือนบางส่วนทีไม่ได้ถูกกวาดต้อนก็จะต้องหลบหนีละทิ้งถิ่นที่อยู่ของตน พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ( The Old Testament ) เคยระบุเหตุการณ์ทึ่คล้ายกันเกี่ยวกับกษัตริย์อาบีเมเลคที่หลังจากยึดเมืองเชเคมได้ก็ทำการไล่ฆ่าผู้อาศัย ทำลายสิ่งก่อสร้างลงทั้งหมด ถึงขั้นเทเกลือลงบนดินเพื่อไม่ให้สามารถทำการเพาะปลูก ป้องกันไม่ให้มีใครกลับมาอาศัยในพื้นที่นี้อีก
แต่ก็ใช่ว่าการโจมตีเมืองทุกครั้งจะประสบความสำเร็จ เพราะในบางครั้งการโจมตีเช่นนี้ก็ให้ผลตรงกันข้าม คือทำให้ประชาชนร่วมใจกันฝ่าฝันความยากลำบากจนการปิดล้อมที่ยาวนานนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่นการทิ้งระเบิดอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกกันในประวัติศาสตร์ว่า The Blitz กินเวลาทั้งสิ้นราว 9 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 1940 – 11 พฤษภาคม 1941) หรือการปิดล้อมเลนินกราด (ปัจจุบันคือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ซึ่งกินเวลายาวนานถึงกว่า 900 วัน ถือเป็นการปิดล้อมที่ยาวนานที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปฏิบัติการทั้งสองครั้งจบลงด้วยความล้มเหลวของนาซีเยอรมัน
แม้ในบางครั้งประชาชนในเมืองจะสามารถต่อสู้กับความยากลำบากได้อย่างกล้าหาญ แต่การที่สงครามกระจายตัวเข้าสู่ที่อยู่อาศัยมักให้ภาพจำที่เลวร้าย ประชาชนมากมายในเลนินกราดต้องอดตาย อาคารบ้านเรือนจำนวนมาก รวมไปถึงอาคารประวัติศาสตร์ของอังกฤษถูกทำลายในระหว่างการทิ้งระเบิด เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ย้ำเตือนให้เราเห็นว่า เมืองนั้นจะสามารถเติบโตหล่อเลี้ยงประชากรได้ก็ในยามสงบเท่านั้น เมืองที่ถูกกลืนกินโดยสงครามเป็นเพียงซากปรักหักพังที่ยังมีลมหายใจอยู่ได้ ก็ด้วยแรงใจของประชาชน
การปกป้องเมืองที่ได้ผลกระทบจากสงครามยังคงเป็นเรื่องท้าทายในปัจจุบัน มันเกี่ยวพันถึงชีวิตผู้อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ การติดต่อสื่อสาร ระบบสุขภาพ รวมไปถึงการปกป้องรักษามรดกทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นใจความสำคัญที่ได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law – IHL) การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจอดีตเช่นเดียวกับการสร้างกลไกเพื่อปกป้องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตถือเป็นหัวใจสำคัญของงานด้านมนุษยธรรม
แปลและเรียบเรียงจาก War and the city: a history