เรื่องโดย เฮเลน เดอร์แฮม ผู้อำนวยการแผนกนโยบายและกฎหมายระหว่างประเทศ ไอซีอาร์ซี

เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่อนุสัญญาออตตาวาได้ถูกเขียนขึ้น เพื่อห้ามการใช้กับระเบิดสังหารบุคคล ปัจจุบันอนุสัญญาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศฉบับนี้และวัตถุประสงค์ที่มันถูกเขียนขึ้นแทบจะไม่ได้รับความสนใจแม้แต่น้อย

แต่มันไม่สมควรเป็นเช่นนั้นเหตุผลก็เพราะว่า กว่าที่อนุสัญญาออตตาวาจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ มันต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ และนั่นควรจะเป็นเครื่องเตือนความทรงจำ ให้เราเร่งเติมเต็มช่องว่างในการบังคับใช้อนุสัญญาฉบับนี้ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1990 ตอนที่ฉันยังเป็นทนายความด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศรุ่นเล็กของกลุ่มองค์กรกาชาด ฉันได้รับการทาบทามให้ขึ้นพูดในหัวข้อกับระเบิดสังหารบุคคล คนที่ขึ้นพูดคนอื่นๆส่วนใหญ่จะเป็นหมอที่มาอธิบายถึงอาการหรือผลกระทบจากการเหยียบกับระเบิดสังหารบุคคลเหล่านี้ นอกนั้นก็จะเป็นพวกวิศวกรที่อธิบายว่ามัจจุราชชนิดนี้ทำงานอย่างไร

ฉันรู้สึกประหลาดใจกับท่าทีไม่เห็นด้วยจากผู้ฟังตอนที่ฉันพูดถึงความเป็นไปได้ ในการร่างอนุสัญญาห้ามใช้กับระเบิดสังหารบุคคล “ทำไมกลุ่มองค์กรกาชาดจึงต้องจ่ายเงินเพื่อให้ทนายความมาพูดในสิ่งที่ทนายความด้วยกันฟังจึงจะเข้าใจ” ผู้เข้าร่วมงานคนนึงถาม “ทำไมไม่ใช้เงินก้อนนี้ไปกับการช่วยคนที่ได้รับบาดเจ็บ เราต้องการหมออีกหลายคน” ผู้เข้าร่วมงานคนที่สองเสริม

แผนที่1
ในปี 2540 อนุสัญญาออตตาวาก็ได้ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของหลายคน วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ก็เพื่อห้ามการใช้ ผลิต สะสม และโอนกับระเบิดสังหารบุคคลและระบุถึงความช่วยเหลือแก่ผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อของกับระเบิดสังหารบุคคลเหล่านี้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังอนุสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่เริ่มต้นก็คือกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ที่รวบรวมเอาประสบการณ์ภาคสนามและการวิเคราะห์ด้านกฎหมายมาผสมผสานกัน

อนุสัญญาฉบับนี้ได้ช่วยชีวิตผู้คนมากมาย เมื่อ 20 ปีที่แล้วคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) ประเมินว่าทุกปีจะมีผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ตกเป็นเหยื่อของกับระเบิดสังหารบุคคลประมาณ 20,000 คน แต่นับตั้งแต่ที่อนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็เห็นได้ชัดว่า จำนวนของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกับระเบิดสังหารบุคคลลดลงและทุกวันนี้มีจำนวนเพียง 3,500 คนเท่านั้น

การผลิตกับระเบิดสังหารบุคคลขึ้นมาใหม่และการถ่ายโอนได้สิ้นสุดลงและมีกลุ่มติดอาวุธ 48 กลุ่มได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาและยึดมั่นกับข้อตกลงอย่างจริงจัง

ช่วยชีวิตผู้คนและร่วมสร้างชุมชนใหม่

ด้วยเหตุผลที่การใช้กับระเบิดสังหารบุคคลจะทำให้ถูกประชาคมโลกโจมตีอย่างหนัก พลเรือนจำนวนมากจึงรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของมัจจุราชชนิดนี้ นอกจากนี้อนุสัญญาฉบับดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้มีการสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ ยุติการเพิ่มจำนวนของเด็กกำพร้า ทำให้หลายครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า และทำให้บุคลากรทางการแพทย์ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

แต่แน่นอนว่ายังมีสิ่งต่างๆอีกมากมายที่ต้องลงมือทำ เพื่อให้มีการกำจัดและยุติการใช้กับระเบิดสังหารบุคคลโดยสิ้นเชิง

เราต้องทำให้ประเทศที่ยังไม่ร่วมลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้เข้าเป็นภาคีโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันมี 30 ประเทศที่มีพันธะสัญญาตามที่ระบุไว้ ที่จะต้องทำลายหรือเก็บกู้กับระเบิดสังหารบุคคลที่ถูกฝังอยู่ในเขตแดนของตนและอีกหลายประเทศจะต้องปรับปรุงระบบการเข้าถึงบริการสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกับระเบิดสังหารบุคคล

บทบาทของไอซีอาร์ซีที่มีข้อกำหนดชัดเจนและทำงานอยู่ในแนวหน้าของหลายประเทศทั่วโลก จะเน้นการให้ความช่วยเหลือเหยื่อกับระเบิดสังหารบุคคลพร้อมกับให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องความเสี่ยงและทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆที่เชี่ยวชาญในการเก็บกู้หรือทำลายกับระเบิดสังหารบุคคล

หากสิ่งที่ระบุไว้ข้างต้นเป็นจริงเมื่อไหร่นั่นคือช่วงเวลาที่เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า อนุสัญญาห้ามการใช้กับระเบิดสังหารบุคคลบรรลุผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ อย่างไรก็ตามมันไม่ได้มีเพียงแค่อนุสัญญาฉบับนี้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการให้อีกหลายประเทศร่วมลงนามเป็นภาคีสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยการใช้ระเบิดพวงให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

สิ่งสำคัญที่ทำให้เราต้องเดินหน้าต่อสู้เพื่ออนุสัญญาเหล่านี้ ก็เพราะผู้คนนับหมื่นคนที่จะได้รอดชีวิตจากการตกเป็นเหยื่อของกับระเบิดสังหารบุคคลและครอบครัวที่จะได้กลับมาเจอหน้ากันอีกครั้งนั่นเอง

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในเวบไซด์ของสถานีโทรทัศน์อัล อาราบิย่า ซาอุดิอาระเบีย