สงครามและศาสนา – ว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

บทความ / บล็อค

สงครามและศาสนา – ว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

“แม้ในสนามรบเขาจักพิชิตนักรบนับพัน แต่เขาจักเป็นผู้พิชิตสูงส่งหากเขาพิชิตใจตนได้”
-พระธรรมบท ข้อ 103

แม้ศาสนาพุทธจะไม่สนับสนุนการมีอยู่ของสงคราม (ไม่มีสงครามใดที่เป็นธรรม) ถึงอย่างนั้นพุทธศาสนาก็ยอมรับความเป็นจริงของการสู้รบและความทุกข์ทรมานที่สงครามก่อให้เกิด พระพุทธเจ้าทรงใช้ชีวิตในยุคที่เต็มไปด้วยสงคราม หลักธรรมหลายอย่างที่ทรงได้แสดงไว้ สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และมุมมองต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องใกล้เคียงกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International humanitarian law – IHL) อันเป็นกฎหมายที่ถูกใช้ในยามสงครามซึ่งถูกเขียนขึ้นหลังสมัยพุทธกาลเป็นเวลากว่าพันปี

กฎหมายกับศาสนา ความเหมือนที่แตกต่าง

แม้ว่าศาสนาและกฎหมายจะไม่ได้มีข้อกำหนดและบทลงโทษที่ตรงกันทุกประการ หนึ่งในข้อแตกต่างระหว่างกฎหมายกับศาสนา คือกฎหมายนั้นมีสภาพบังคับที่เกิดขึ้นในทันที แต่ศีลธรรมนั้นไม่ได้มีสภาพบังคับไว้แน่นอน ผู้ทำผิดกฎหมายฆ่าคนตายต้องติดคุก แต่ผู้ทำผิดศีลอาจถูกรังเกียจ กีดกัน ไม่สามารถอยู่ร่วมกันกับสังคมที่มีความเชื่อในศีลธรรมนั้นๆ ได้

อย่างไรก็ดี ศาสนามีอิทธิพลอย่างมากต่อกฎหมายทั้งในเชิงวัฒนธรรมและโครงสร้าง ยกตัวอย่างเช่น ศาสนามีส่วนเติมเต็ม ขัดเกลาให้คนอยู่ในกรอบของกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็สร้างความชอบธรรม กำหนดพฤติกรรมของผู้ปกครองและพลเมือง ศาสนาสร้างค่านิยมของ “ความดี” ที่ควรได้รับการชื่นชม และการฝ่าฝืนที่นำไปสู่ความชั่วและการไม่ถูกยอมรับ ดังนั้นความเกี่ยวข้องระหว่างกฎหมายและศาสนา จึงเป็นสองสิ่งที่เหมือนจะต่างแต่ก็ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้

สำหรับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศซึ่งกำหนดข้อบังคับชัดเจนต่อการกระทำใดๆ ที่ผิดไปจากที่ตกลงกันไว้ ก็ได้รับแรงบันดาลใจหลายประการที่สืบทอดมาจากแนวคิดทางศาสนา หลักสำคัญของพระพุทธศาสนาคือการไม่ใช้ความรุนแรง เพราะความรุนแรงถูกมองว่าจะนำมาซึ่งผลกรรม ดังนั้นนักรบที่นับถือพุทธศาสนาจึงมีความระมัดระวังต่อผลกระทบของความรุนแรงที่มากเกินความจำเป็นซึ่งตรงกับแนวคิดของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในเรื่องการใช้กำลังอย่างเหมาะสม ไม่ใช้อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างมากเกินไป และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ที่ไม่มีส่วนร่วมในการรบอย่างพลเรือนหรือผู้ปฎิบัติหน้าที่ทางการแพทย์

พุทธศาสนาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ มุ่งหวังที่จะลดความอันตรายและความทุกข์ทรมานให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เห็นได้จากเรื่องราวเกี่ยวกับท้าวสักกะผู้นับถือพุทธ แม้จะทำการสู้รบกับอสูร แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงการฆ่าฟันที่ไม่จำเป็นเช่นการทำร้ายนกในรังอย่างไม่ตั้งใจ

ภาพพระสงฆ์กำลังประกอบศาสนกิจ

หากการฆ่าสัตว์คือการผิดศีล แล้วการทำสงครามได้รับการยอมรับมากแค่ไหนในศาสนาพุทธ

หากเรามองถึงความเป็นจริงในการสงคราม การเข้าเป็นทหารของกองทัพย่อมนำไปสู่การผิดศีลข้อที่หนึ่ง (การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี หากหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายขัดต่อศีลธรรม พลรบก็มีความจำเป็นที่จะปฎิบัติตามศีลข้อนี้เท่าที่จะเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ใช้ความรุนแรงเท่าที่จำเป็นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการทหารเท่านั้น เน้นการใช้กำลังอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงความเสียหายและการบาดเจ็บที่ไม่จำเป็น

ศาสนาพุทธมีความคาดหวังต่อพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส รวมไปถึงผู้ปกครองและเจ้าหน่าที่ทางการทหารที่ต่างกัน ทุกคนล้วนมีความจำเป็นและข้อจำกัด ดังนั้นจึงสามารถเลือกวิธีจัดการกับกรรมตามสถานการณ์ของตนเอง ประเด็นเรื่อง “เจตนา” มีความสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ ความรับผิดชอบส่วนบุคคล การแสวงหาสมดุลระหว่างความจำเป็นทางการทหารและการรักษาศีลในพระพุทธศาสนา ถือเป็นแนวคิดที่มีความคล้ายคลึงกับหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

นอกจากศีลข้อแรกที่เกี่ยวข้องกับการทำลายชีวิต พุทธศาสนายังมีหลักปฎิบัติเกี่ยวกับการไม่ลักขโมย ไม่ว่าสิ่งของนั้นจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เพราะมนุษย์นั้นมีจิตใจรับรู้ได้ว่าสิ่งใดเป็นของเรา สิ่งใดไม่ใช่ แนวคิดนี้มีความใกล้เคียงกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเรื่องการไม่ทำลายหรือสร้างความเสียหายที่ไม่จำเป็นกับทรัพย์สินของพลเรืองหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น พลรบยังควรหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรและเสบียงอาหาร รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการทำลายศาสนสถานและมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ เพราะถือเป็นการช่วงชิงความทรงจำ ความเชื่อ และความภาคภูมิใจของบุคคลในพื้นที่นั้นๆ

ภาพรถพยาบาลถูกโจมตี

ศีลที่สำคัญอีกข้อคือการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ซึ่งตรงกับหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในเรื่องของการใช้ความรุนแรงทางเพศ ประเด็นนี้ถูกกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าพลรบต้องละเว้นจากการข่มขืนและการประพฤติผิดในกามระหว่างทำการสู้รบ

นอกจากข้อกำหนดและหลักปฎิบัติต่างๆ จิตวิทยาแบบพุทธยังได้ลงลึกถึงการวิเคราะห์ว่าสงครามนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร มีเหตุและผลเป็นแบบไหน โดยได้มีการกล่าวเอาไว้ว่าความขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สภาพจิตใจที่เป็นอกุศลมีรากฐานมาจากความโลภ ความเกลียดชัง และความลุ่มหลง ดังนั้นเราจึงควรใช้หลักความเมตตาและกรุณามาเป็นแกนกลางเมื่อต้องข้อเกี่ยวกับความขัดแย้ง กล่าวคือ เราควรมีความเห็นอกเห็นใจต่อทุกฝ่ายที่ทำการสู้รบ ไม่เกี่ยงว่าเขาผู้นั้นเป็นมิตรหรือศัตรู ดังนั้นจึงต้องรู้จักที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีมนุษยธรรมต่อผู้อื่น ไม่ใช้การทรมานหรือการกระทำที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากโดยไม่จำเป็น แนวคิดเรื่องความเมตตา ตรงกับกรอบข้อตกลงในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่มีการกำหนดให้ผู้ทำการรบต้องให้การดูแลทหารของฝ่ายตรงข้ามที่บาดเจ็บและยอมจำนน, เคารพโรงพยาบาลและสถานพยาบาลอื่นๆ รวมไปถึงประเด็นด้านการจัดการร่างผู้เสียชีวิตอย่างสมเกียรติ และการคุ้มครองพลเรือนที่ถูกคุกคามและพลัดถิ่น รวมไปถึงสตรีและเด็ก

พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนากำลังสวดมนต์ทำสมาธิ

การฝึกตนตามหลักพุทธศาสนา สามารถลดการละเมิดกฎหมายสงครามได้อย่างไร

การใช้สมาธิเพื่อเป็นหลักในการพิจรณาและควบคุมตัวเอง ก็เป็นอีกแนวทางที่สามารถรักษาวินัยและสร้างการตระหนักรู้ในสนามรบ เมื่อเราเข้าใจเรื่องเจตนา การทำสมาธิจะช่วยให้พลรบรู้จักใช้ความอดทน ไม่กระทำการใดๆ ด้วยความโกรธหรือพยาบาท ทำให้สามารถจำกัดการกระทำที่ขัดต่อศีลข้อต่างๆ ได้ การมีสตินำมาซึ่งความสงบและความเข้าใจ หลักแนวคิดในพระพุทธศาสนาจึงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญให้พลรบสามารถตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม ตามหลักอิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และ วิมังสา

การยึดถือธรรมะและการมีสติสามารถป้องกันความหลงผิดซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แม้ว่าหลักธรรมในพุทธศาสนาและข้อกำหนดในกฎหมายมนุษยธรรมจะเกิดขึ้นช้ากว่ากันนับพันปี แต่สิ่งที่ทั้งสองหลักการกล่าวไว้ตรงกัน คือการลดความทุกข์ทรมานอันเกิดจากความขัดแย้ง มองหาหนทางที่จะนำมนุษยชาติไปสู่สันติ อันเป็นจุดหมายร่วมกันของทั้งหลักธรรมและข้อกฎหมาย และเป็นหัวใจหลักของการทำงานด้านมนุษยธรรม

อ่านบทความเพิ่มเติม พุทธวิธีสร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ บทความโดยศ.ปีเตอร์ ฮาร์วีย์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง the UK Association for Buddhist Studies (1996)

แบ่งปันบทความนี้