เมื่อวันที่  16-18 ธันวาคมที่ผ่านมา แผนกสุขภาพของ ICRC ได้ร่วมมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะทำงานอันประกอบไปด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), กองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข, กองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ และกรมพินิจและคุ้มครองเยาวชน จัดอบรมเชิงปฎิบัติการเรื่อง “การส่งเสริมระบบสาธารณสุขในเรือนจำ” รุ่นที่ 2 เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดูแล ส่งเสริมป้องกัน และฟื้นฟูสภาพผู้ต้องขังได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการส่งต่อในเครือข่ายอย่างยั่งยืนเพื่อรับมือกับประเด็นด้านสุขภาพต่างๆ ร่วมไปถึงสถานการณ์โควิด-19

นายนักรบ นาคพรหม ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม เรือนจำประธานเขต 7 ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานสุขภาพในเรือนจำว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ผู้ต้องขังต้องได้รับเพราะแม้ว่าผู้ต้องขังจะกระทำความผิดและได้รับการลงโทษโดยการจำกัดเสรีภาพ แต่สิทธิพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขายังคงมีอยู่ ความท้าทายของงานด้านสุขภาพในเรือนจำ คือทำอย่างไรให้ผู้ต้องขัง ซึ่งอยู่ในสภาวะควบคุมแน่นหนา และมักเผชิญหน้ากับความเครียดที่ตามมากับการจำกัดพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่ดีได้ไม่น้อยไปกว่าบุคคลทั่วไป นายนักรบ นาคพรหม เน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบบริการสุขภาพ เพราะมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การคืนคนดีสู่สังคม อันเป็นภาระกิจหลักของเรือนจำ จะสามารถบรรลุผลได้ หากไม่เริ่มจากการบำรุงรักษาสุขภาพของผู้ต้องขัง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ภายในการอบรมยังมีการนำเสนอและอภิปรายในประเด็นน่าสนใจอีกหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่นประเด็นด้านโภชนาการในเรือนจำ โดยคุณพนิดา วงศ์ศิริรังษี หัวหน้ากลุ่มงานรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพ จากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงความจำเป็นเรื่องโภชนาการว่าเป็นหนึ่งในเสาหลักของการมีสุขภาพที่ดี โรคและความเจ็บป่วยในเรือนจำหลายครั้งเป็นโรคเฉพาะที่พบยากในสถานการณ์ทั่วไป เรือนจำต้องทำอาหารให้คนหลายพัน ทำให้ระบบการสั่งซื้อและจัดเก็บวัตถุดิบแบบพิเศษ เช่นต้องใช้ห้องเย็นในการเก็บของสดแทนที่จะเป็นตู้เย็น และบางครั้งการซื้อเนื้อสัตว์จำนวนมาก อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อบางอย่างเช่น เนื้อสัตว์ที่มีเชื้อไทรอยด์ปนมา อาจส่งผลให้ผู้ต้องขังจำนวนมากป่วยเป็นไทรอยด์พร้อมๆ กัน

นอกจากเรื่องอาหาร อีกหนึ่งเสาหลักด้านสุขภาพที่มองข้ามไม่ได้คือเรื่องน้ำ สุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมในเรือนจำ WHO เคยกล่าวไว้ในปี 2005 ทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงทุนเพื่อพัฒนาระบบน้ำและสุขาภิบาล ซึ่งถือเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยที่ต้นเหตุ จะให้ผลลัพธ์เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค เมื่อผู้คนเจ็บป่วยถึง 6 ดอลลาร์

นายกานต์ ตุ้มศรี วิศวกรระบบน้ำและที่อยู่อาศัยของ ICRC ได้กล่าวถึงความจำเป็นของปริมาณน้ำสะอาดขั้นต่ำ ตามข้อแนะนำของกรมราชทัณฑ์ คือ 50 ลิตรต่อคนต่อวัน ในจำนวนนั้นแบ่งเป็นน้ำสำหรับดื่มและหุงต้ม 5 ลิตร และสำหรับใช้ 45 ลิตร ส่วนปัญหาที่ว่า หากเราต้องเลือกระหว่างการมีน้ำคุณภาพดีมากตามมาตรฐาน หรือการมีน้ำให้มากเพียงพอในแต่ละวัน สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการมีน้ำคุณภาพพอรับได้ แต่ให้มีปริมาณมากเพียงพอ เพราะปัญหาด้านสุขภาพส่วนมากมักเกิดจากการมีน้ำในการอุปโภค/บริโภคไม่เพียงพอในแต่ละวัน

ในส่วนของสถานการณ์เรือนจำไทยและเรือนจำโลก ทพญ. จุฑารัตน์ จินตการนนท์ นักทัณฑวิทยาเชี่ยวชาญ จากกรมราชทัณฑ์ กระทรงยุติธรรม กล่าวว่าจำนวนผู้ต้องขังในไทยส่วนใหญ่ (80%) มาจากคดียาเสพติด ซึ่งแม้ว่าจำนวนผู้ต้องขังของเราจะสูงมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แต่ความแออัดก็ยังน้อยกว่าเรือนจำในกัมพูชาและฟิลิปินส์ ผู้ต้องขังส่วนมากมักเป็นผู้กระทำผิดเป็นครั้งแรก ส่วนผู้ต้องขังที่กลับมาเรือนจำเป็นครั้งที่ 2 มักมาด้วยคดียาเสพติดซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญ

Dr. Rodger Doran อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปรียบเทียบสถานการณ์ทั่วไปในระดับสากลว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีเงินสำหรับดูแลผู้ต้องขังน้อยลงเพราะปัญหาด้านเศรฐกิจ ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้ต้องขังเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ยูโร ต่อคนต่อวัน ซึ่งถ้านำเงินจำนวนนี้มาเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในไทยจะเทียบได้คร่าวๆ ประมาณ 5 บาท  Dr. Doran กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในตอนนี้ว่าได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญกับงานด้านสุขภาพเรือนจำ เพราะทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการทำรีเสิร์จมากขึ้น เนื่องจากประเทศที่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลรีเสิร์จดี สามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีกว่า เขายังกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจในปัจจุบัน เช่นการผลักดันเรื่องความก้าวหน้าทางอาชีพให้กับผู้ปฎิบัติหน้าที่ด้านสุขภาพในเรือนจำ การให้ความสนใจกับประเด็นเพศทางเลือก ไม่ได้แบ่งผู้ต้องขังออกเป็นแค่ชาย-หญิงตามเพศสภาพ แต่ควรมีพื้นที่ให้ความหลากหลายมากขึ้น  นอกจากนี้ Dr. Doran ยังได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ เพื่อช่วยแบ่งเบางานในเรือนจำซึ่งถือว่าเป็นงานหนักและมีความกดดันสูง