‘Necessary Evil’ คือเครื่องบินโบอิ้ง B-29-45-MO Superfortress ที่ได้รับมอบหมายให้ถ่ายภาพผลกระทบจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาเมื่อปี 1945
คำให้การของบรรดาเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากอาวุธนิวเคลียร์กระตุ้นให้เราจินตนาการถึงสิ่งที่เรามิอาจจินตนาการได้ คิดถึงสิ่งที่ไม่อาจคาดคิดได้ และเป็นปากเป็นเสียงให้กับความทุกข์ทรมานที่เกิดจากการระเบิดปรมาณูที่ไม่อาจบอกกล่าวออกมาได้เอง และเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี นับตั้งแต่การทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ แมกนุส โลโวล์ด (Magnus Løvold) ที่ปรึกษาด้านนโยบายอาวุธประจำฝ่ายกฎหมายของ ICRC จึงออกมาเรียกร้องให้เราทุกคนร่วมกันให้เกียรติและระลึกถึงผู้รอดชีวิตที่สัมผัสกับอาวุธนิวเคลียร์เพื่อตระหนักถึงความเป็นจริงอันแสนโหดร้ายของระเบิดนิวเคลียร์ โดยมิต้องเสริมเพิ่มและลดทอนอะไรมากกว่าการห้ามและจำกัดเครื่องมือแห่งสงครามที่น่ากลัวและไม่ยุติธรรมนี้
ผมจำครั้งแรกที่ไปเยือนเมืองฮิโรชิม่าได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปี 2012 ซึ่งอากาศร้อนระอุตลอดทั้งสัปดาห์ บรรดาหน่วยงานรัฐ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้รอดชีวิตก็เพิ่งจัดงานครบรอบ 67 ปี ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำลายล้างเมืองเมื่อปี 1945 ผมเดินทางไปที่นั่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศแห่งแพทย์นานาชาติเพื่อการป้องกันสงครามนิวเคลียร์ (IPPNW) สหพันธ์กลุ่มการแพทย์ระดับโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 1985 ผลจากความพยายามที่จะสร้างความตระหนักถึง ‘ผลพวงตามมาของภัยพิบัติสงครามปรมาณู’
ตอนนั้นผมทำงานให้กับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (ICAN) และผมคิดว่าผมรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์แล้ว บวกกับความเย่อหยิ่งแห่งวัยเยาว์และความต้องการสร้างผลงานของตัวเองไว้บนโลกใบนี้ ผมหลงเชื่อไปว่า เราจะห้ามไม่ให้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ ถ้าเราต้องการเช่นนั้นมากพอ
ผมจำไม่ได้ว่าผมคาดหวังที่จะค้นพบอะไรที่ฮิโรชิม่าตอนนั้น แต่ขณะที่ผมนั่งอยู่บนรถยนต์โตโยต้าคอมฟอร์ตคันเก่า ๆ ที่ผ่านอายุการใช้งานมานานหลายปี มีผ้าคลุมเบาะสีขาวปักลายแบบรถแท็กซี่ญี่ปุ่นทั่วไป เพื่อเดินทางออกจากสนามบินเข้าไปยังตัวเมืองในวันนั้น ความคิดแวบแรกที่เข้ามาในหัวผมก็คือ ภาพบรรยากาศของเมืองแห่งนี้ดูปกติมาก แทบจะไร้ร่องรอยของระเบิดมาก่อน
หลังจากขับข้ามสะพานสึนามิ (Tsurumi Bridge) ไปยังเขตนากะวาร์ด (Naka Ward) จุดศูนย์กลางการระเบิดเมื่อปี 1945 ผมก็ได้เห็นภาพเมืองแห่งหนึ่งที่มีความเป็นญี่ปุ่นแบบทั่ว ๆ ไป นั่นคือเมืองที่เต็มไปด้วยรถทรงแบบกล่องไม้ขีดไฟดูน่ารักน่าเอ็นดู โรงแรมตึกระฟ้าส่องแสงวิบวับสวยงาม บรรดาบาร์สาเกและร้านอาหารโอโคโนมิยากิก็พากันตั้งเรียงรายอยู่ริมถนนหนทางประดับประดาด้วยแสงไฟนีออนสว่างตา ผมหมุนเปิดหน้าต่างรถลงเพื่อมองดูผู้คนขณะทำธุระประจำวันราวกับว่ามิเคยมีเรื่องราวร้าย ๆ อะไรเคยเกิดขึ้นในละแวกนี้มาก่อน
ผมจำได้ว่าผมฉุกถามตัวเองขึ้นมาในใจ ‘ที่นี่คือฮิโรชิมาจริง ๆ เหรอเนี่ย นี่คือภาพของเมืองที่ถูกทำลายล้างจน “ราบเป็นหน้ากลอง” ที่ผมเคยเห็นในบรรดาภาพถ่ายขาวดำหรือไม่’
หลังจากนั้นในวันเดียวกัน ขณะที่ผมเดินข้ามสวนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา ผมถึงเริ่มสังเกตเห็นรอยแผลเป็นจากการระเบิดของนิวเคลียร์เมื่อปี 1945 ผมมองผ่านอนุสรณ์สถานรูปอานม้าขนาดมหึมา ซึ่งนำสายตามองผ่านสุญญากาศแห่งความว่างเปล่าที่ส่งสัญญาอย่างนอบน้อมว่า “เราอย่าทำผิดซ้ำอีก” ต่อมาเมื่อย้ายสายตามองไปทางด้านเหนือ ผมก็เห็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหยื่อเด็กจำนวนมากที่เสียชีวิตจากการระเบิดนิวเคลียร์
พื้นที่โดยรอบมีนกกระเรียนกระดาษหลากสีนับหลายพันตัววางอยู่ นกทุกตัวพับขึ้นเพื่อเติมเต็มความปรารถนาต่อโลกอันปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ของ ซาดาโกะ ซาซากิ เด็กหญิงวัย 12 ขวบ ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลง โดยอีกด้านหนึ่งของแม่น้ำโมโตยาสึนั้น มองขึ้นไปจะเห็นซากโดมระเบิด (A-Bomb Dome) ในสภาพที่ใกล้จะพังทลายลงมา เปรียบเป็นดั่งสัญลักษณ์ของความทรงจำอันเจ็บปวด
อนุสาวรีย์เหล่านี้คือรอยบาดแผลของเมืองฮิโรชิมาที่เรามองเห็นได้ ซึ่งพอผมตั้งใจฟังจริง ๆ ผมก็ค้นพบว่า ผลกระทบที่แท้จริงของการระเบิดนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะพบเห็นได้ในบรรดาอนุสาวรีย์ประจำเมืองดังกล่าว แต่ทว่ามันฝังลึกอยู่ในจิตใจของผู้คนชาวเมืองฮิโรชิมาต่างหาก
วันต่อมา ผมก็ได้ยินเรื่องราวบอกเล่ามากมายจากบรรดาเหยื่อและผู้รอดชีวิตระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งเรียกกันว่า ฮิบาคุชา (Hibakusha) เรื่องราวของพวกเขาจะทำให้ผมสั่นคลอนไปทั้งตัว มันทำให้ผมได้เผชิญหน้ากับอคติที่ตัวเองมีอยู่ เนื่องจากขณะที่ผมเร่งรีบวางแผนการว่าจะห้ามอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้อย่างไรนั้น ผมลืมที่จะถามคำถามพื้นฐานและสำคัญ นั่นก็คือ อาวุธนิวเคลียร์มีความหมายอย่างไรต่อมนุษยชาติจริง ๆ กันแน่
ผมคงจะเข้าใจจากการพูดคุยสนทนาเหล่านี้ว่า ในตัวผมเองนั้น และผมก็คงจะค้นพบในเวลาต่อมาด้วยว่า จินตนาการของสาธารณชน ซึ่งเป็น ‘ภาพในความนึกคิด’ ที่มีต่ออาวุธนิวเคลียร์จำนวนสองภาพที่แตกต่างและขัดแย้งกันในบางส่วน ซึ่งคำนี้ยืมมาจากนักเขียนชาวอเมริกัน วอลเตอร์ ลิปมันน์ โดยภาพหนึ่งนั้นเป็นภาพที่มาจากเรื่องราวของฮิบาคุชากับกฎเกณฑ์และหลักการของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และอีกภาพคือภาพความกลัวที่มีต่อสงครามนิวเคลียร์ทำลายโลก
เนื่องจากความหมายจริง ๆ ของอาวุธนิวเคลียร์นั้นยังไม่ยึดสถิตอยู่ในจินตนาการของสาธารณชน สิ่งนี้ก็อาจจะช่วยอธิบายให้เราเข้าใจถึงข้อค้นพบที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันอยู่บ้าง ซึ่งได้จากการสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นมิลเลนเนียลที่มีต่อสงครามที่ ICRC จัดทำขึ้น และแม้ว่าผลการสำรวจจะแสดงให้เราเห็นว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลเห็นพ้องกันอย่างมากว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 84 ตอบว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามหรือการขัดกันทางอาวุธ คือสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ แต่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจก็ยังมองว่า อาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งป้องปรามความขัดแย้ง
การดำรงอยู่ร่วมกันของ ‘ภาพในความนึกคิด’ ทั้งสองนี้อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมแนวรอยเลื่อนที่อยู่ในการถกเถียงกันเรื่องนี้ถึงยึดติดอยู่ด้วยกันอย่างมาก ระหว่างตัวผู้เสนอกับฝ่ายตรงข้ามของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ และระหว่างผู้เชื่อกับผู้วิจารณ์เกี่ยวกับการยับยั้งนิวเคลียร์ ซึ่งลักษณะของการถกเถียงอย่างไม่ลงรอยกันนี้ รวมทั้งการขาดเหตุผลร่วมกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ เกิดจากการที่เมื่อกลุ่มเหล่านี้กล่าวถึง “อาวุธนิวเคลียร์” พวกเขาหมายถึงสองสิ่งที่แตกต่างกัน
การกำหนดกรอบโดยใช้ผลกระทบเป็นฐาน: การเรียกร้องให้ห้ามนิวเคลียร์
“ภาพในความนึกคิด” ภาพแรก คือความเข้าใจที่อิงตามผลกระทบของอาวุธนิวเคลียร์ โดยเป็นภาพที่มุ่งเน้นไปที่ผลพวงของอาวุธนิวเคลียร์ที่นำมาใช้ในการทำสงคราม กรอบการมองภาพเช่นนี้มาจากความทุกข์ทรมานและความหายนะที่เกิดจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งมาจากฮิบาคุชาที่เป็นประจักษ์พยานและจากเรื่องราวของผู้ที่พยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ที่กำลังจะตายและผู้บาดเจ็บในห้วงสภาวะที่แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย
หอจดหมายเหตุของ ICRC มีบันทึกที่จะช่วยให้เราได้มองเห็นภาพของความเป็นจริงที่น่ากลัวที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังภาพในความนึกคิดนี้ โดยไม่กี่สัปดาห์หลังจากการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมา ผู้แทนของ ICRC นามว่า ฟริตซ์ บิลฟิงเกอร์ (Fritz Bilfinger) ได้เดินทางมาถึงฮิโรชิมาเพื่อประเมินความเสียหาย ข้อมูลจากโทรเลขที่เขาส่งกลับมาหา ดร.มาร์เซล จูน็อดหัวหน้าคณะผู้แทน ICRC ในกรุงโตเกียว แสดงให้เห็นถึงภาพความน่าหวาดกลัวของระเบิดได้เป็นอย่างดี โดยเขาเขียนไว้ว่า
“ทั้งเมืองถูกทำลาย โรงพยาบาลทุกแห่ง 80% ถูกทำลายหรือเสียหายอย่างหนัก โรงพยาบาลฉุกเฉิน 2 แห่ง ตรวจสอบพบสภาพเกินจะอธิบาย ผลกระทบระเบิดร้ายแรงอย่างมาก”
จากภาพรวมความเสียหายที่ได้จากจูน็อด ผู้ซึ่งเดินทางไปเมืองฮิโรชิมาไม่กี่วันหลังได้รับโทรเลขจากบิลฟิงเกอร์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาวุธนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในอาวุธที่ไร้มนุษยธรรมชนิดหนึ่ง แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นอาวุธทำลายล้างที่น่าสยดสยองและไม่เหมือนใคร แต่ก็เป็นอาวุธชนิดหนึ่ง ซึ่งเปรียบได้กับอาวุธประเภทก๊าซพิษที่ใช้อย่างโหดร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากมุมมองนี้เอง คำถามเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์จึงกลายเป็นคำถามที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาว่า เครื่องมือที่ใช้ในการทำสงครามเครื่องมือนี้โดยเฉพาะ หากพิจารณาถึงผลที่ตามมาและตามกฎของสงครามที่ตกลงกันไว้ ควรได้รับอนุญาตให้ใช้ในการขัดกันทางอาวุธหรือไม่
ความน่าสะพรึงกลัวของสงครามไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับจูน็อด เนื่องจากตัวเขาเองก็ดูจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งในบันทึกของเขาที่สะท้อนประสบการณ์ในฮิโรชิมา เขาขอให้มีการห้ามอาวุธนิวเคลียร์อย่างชัดเจน และจุดยืนดังกล่าว ICRC ก็ได้นำมาใช้ในภายหลังและทั่วทั้งกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงก็นำมาใช้ด้วย
การกำหนดกรอบโดยใช้ความกลัวเป็นฐาน: ทฤษฎีการยับยั้งนิวเคลียร์
ในช่วงหลายปีและหลายทศวรรษที่ผ่านมาหลังการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ การกำหนดกรอบเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์โดยใช้ผลกระทบเป็นฐานที่จูน็อดนำมาใช้คงจะถูกท้าทายจากความเข้าใจมโนมติในระดับที่คลาดเคลื่อน นั่นคือ ภาพในความนึกคิดที่ไม่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตของฮิบาคุชาและประจักษ์พยานคนอื่น ๆ ที่เห็นเหตุการณ์ แต่มาจากความหวาดกลัวต่อสงครามนิวเคลียร์ที่เป็นสงครามร้ายทำลายโลกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เมล็ดพันธุ์แห่งการกำหนดกรอบในระดับที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์นี้พัฒนาเกิดขึ้นมาจากความนึกคิดของกลุ่มผู้พัฒนาอาวุธเหล่านี้ขึ้นมาครั้งแรกบางคน ซึ่งหลังจากที่ โรเบิร์ต เจ. ออพเพนไฮเมอร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของห้องปฏิบัติการลอสอลามอส ได้เห็นภาพลูกไฟของการทดสอบนิวเคลียร์ทรินิตี้เมื่อปี 1946 เขาจำต้องพึ่งพาพระไตรปิฎกในการทำความเข้าใจต่อสิ่งที่ได้พบเห็น โดยเขากล่าวไว้ว่า ‘ณ ตอนนี้ผมคือความตาย คือผู้ทำลาย โลก’
หลังจากคลังแสงนิวเคลียร์มีการขยายตัวอย่างมากในช่วงสงครามเย็น ด้วยความกลัวว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น การกำหนดกรอบเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์โดยอิงความกลัวจึงส่งผลต่อจินตนาการของสาธารณชน ซึ่งในความคิดของผู้กำหนดนโยบายนิวเคลียร์และนักเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมนั้น พวกเขาเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นในแง่ของโลกาวินาศว่าเป็น ‘วันโลกาวินาศ’ ‘วันสิ้นโลก’ หรือ ‘อาร์มาเก็ดดอน’
จุดพลิกผันทางวาทกรรมของการถกเถียงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ครั้งนี้ส่งผลตามมาหลายประการ ดังที่ นีนา ทันเนลวาล์ด (Nina Tannenwald) ระบุไว้ในการศึกษาของเธอ เรื่อง The Nuclear Taboo ซึ่งเป็นการศึกษาที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาต่อด้านความเข้าใจเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ในฐานะอาวุธพิเศษที่ไม่มีสิ่งใดจะมาเปรียบได้ จึงทำให้เกิด ‘ข้อห้าม’ ที่หนักแน่นขึ้น ซึ่งเป็นการห้ามในเชิงกฎเกณฑ์และโดยปริยายต่อการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ตามที่ทันเนลวาล์ดกล่าวไว้นั้น การปรากฏขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของข้อห้ามนี้ได้ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจว่า เหตุใดจึงไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการสู้รบนับตั้งแต่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามลดทอนความชอบธรรมทของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่การกำหนดกรอบอาวุธนิวเคลียร์ในแง่ของการเป็นสาเหตุของวันโลกาวินาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและมิอาจนึกจินตนาการได้นั้น ก็กลับยิ่งทำให้การครอบครองของอาวุธเหล่านี้มีความชอบธรรมตามกฎหมาย
ในช่วงหลายปีหลังการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ตามตรรกะของ ‘ทฤษฎีการยับยั้งนิวเคลียร์’ แล้วนั้น ไม่มีรัฐบาลใดคิดที่จะเสี่ยงมีความขัดแย้งเพื่อลุกลามไปสู่สงครามนิวเคลียร์ เนื่องจากพวกเขาเกรงกลัวถึงหายนะที่เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติจากสงครามชนิดนี้อย่างมิอาจยอมรับได้
การตั้งสมมติฐานว่า สันติภาพและเสถียรภาพระหว่างประเทศนั้นจำเป็นต้องมีขั้วตรงข้าม นั่นคือ ฝ่ายสงครามนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ ที่คอยคุกคามอยู่อย่างต่อเนื่อง ทฤษฎีการยับยั้งนิวเคลียร์จึงทำให้การคุกคามด้วยการใช้อาวุธเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น ‘สิ่งเลวร้ายที่จำเป็น’ และเป็นสัญลักษณ์ของความรับผิดชอบ ความมีเหตุมีผล และอำนาจอย่างหนึ่ง ซึ่งภัยคุกคามที่รุนแรงของสงครามนิวเคลียร์จึงไม่เพียงแต่รับประกันว่าจะไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตเท่านั้น แต่ยังรับประกันถึงสภาวะสมดุลตลอดกาลระหว่างรัฐที่ครอบครองอาวุธเหล่านี้ด้วย
สนามรบในทางหลักการ อยู่เหนือกฏหมายหรือไม่?
การกำหนดกรอบอาวุธนิวเคลียร์บนฐานของความกลัวนี้ทำให้คำถามที่มาร์เซล จูน็อด ตั้งขึ้นในตอนแรกต้องพลิกกลับหัวกลับหางทีเดียว สิ่งที่เริ่มต้นจากการถกเถียงตามหลักฐานและผลกระทบของความชอบธรรมของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการขัดกันทางอาวุธ ได้เปลี่ยนเป็นการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับวิธีการใช้ภัยคุกคามจากการทำลายล้างอย่างสมบูรณ์เพื่อป้องกันสงครามไม่ให้เกิดขึ้นโดยทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์
ด้วยการกำหนดกรอบอาวุธนิวเคลียร์ไม่ให้เป็นวิธีการทำสงครามที่ไร้มนุษยธรรม แต่เป็นการสร้างนามธรรมภายนอกและเหนือข้อพิจารณาของสนามรบในโลกแห่งความเป็นจริงใด ๆ ทำให้กรอบที่ใช้ความกลัวเป็นฐานได้ยกเอาอาวุธนิวเคลียร์ออกจากกรอบความคิด ตือ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกรอบที่ได้รับการทดลองและผ่านการทดสอบเพื่อจำกัดผลกระทบที่เป็นอันตรายของการขัดกันทางอาวุธ โดยในที่สุดแล้วก็มิอาจกำหนดข้อจำกัดต่อกฏที่เป็นจริงเสมอได้
ความพยายามที่จะเปลี่ยนคำขอของจูน็อดในการห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงให้กลายเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จริงจัง การอ้างว่าสันติภาพและเสถียรภาพระหว่างประเทศจำเป็นต้องเกิดการคุกคามว่าจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ประเทศที่เลิกใช้นิวเคลียร์ถูกทอดทิ้งให้อยู่กับภารกิจที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ นั่นคือ ภารกิจในการพิสูจน์ตรรกะลวง เพื่อยืนยันว่า การเรียกร้องให้มีการห้ามและการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์จะไม่ทำให้ความมั่นคงของโลกลดลง หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือ การนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สาม
กลับสู่ความเป็นจริง: การต่อสู้เพื่ออนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ
หลายคนคุ้นเคยกับการนึกถึงอาวุธนิวเคลียร์ในแง่ของวันโลกาวินาศที่เราต่างก็มิอาจจินตนาการได้ โดยลืมความจริงอันโหดร้ายที่เกิดขึ้น นั่นคือ มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ถึงสองครั้ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะจินตนาการถึงความเสียหายได้แล้ว แต่ยังเห็นถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นในระยะยาวของผู้คนที่อาศัยอยู่ในฮิโรชิมาและนางาซากิทั้งหมดด้วย
ถึงแม้จะมีผลพวงตามมาอย่างมากมาย แต่การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิก็เกิดขึ้นเมื่อชั่วชีวิตที่แล้ว แม้ศาลแขวงฮิโรชิมาจะมีการพิจารณาคดีรับรองผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาเพิ่มเติมอีกหลายสิบคนเมื่อไม่นานมานี้ และวันที่ไม่มีใครเหลือที่จะบอกเรื่องราวความทุกข์ทรมานและความหายนะที่เกิดขึ้นจากการโจมตีดังกล่าวก็จะเดินทางมาถึงในไม่ช้านี้ ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้ฟังเรื่องราวจากฮิบาคุชาจำต้องมีภาระความรับผิดชอบพิเศษในการทำให้เรื่องราวของพวกเขาไม่สูญหายไป และเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคนในการวางกรอบนโยบายเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ใช่เพราะเกรงกลัวว่าสงครามนิวเคลียร์จะทำลายโลก แต่เพราะผลพวงที่แท้จริงที่เกิดจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่างหาก
ในความเป็นจริงแล้ว ข้อเสนอในการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดได้รับความสนใจอีกครั้งก็ต่อเมื่อประจักษ์พยานที่เป็นฮิบาคุชาและความเป็นจริงของผลกระทบด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงของอาวุธนิวเคลียร์ถูกบรรจุใส่เข้ามาอีกครั้งเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการอภิปรายหารือระหว่างประเทศเกี่ยวกับอาวุธเหล่านี้ ความพยายามร่วมกันของบรรดารัฐต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม รวมทั้งนักวิจัยอีกมากมายในช่วงสิบปีที่ผ่านมาในการดึงดูดให้ผู้คนสนใจเกี่ยวกับหายนะของผลกระทบด้านมนุษยธรรมและเปลี่ยนแปลงวาทกรรมนี้ แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์เพื่อปลูกฝังความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ว่าเป็นวิธีการทำสงครามที่น่ากลัวและไม่สมเหตุสมผล
ตามที่อดีตประธาน ICRC นายจาค็อบ เคลเลนเบอร์เกอร์ กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ต่อคณะทูตานุทูตเจนีวาก่อนการประชุมทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ค.ศ. 2010 ว่า
“[การอภิปรายเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์] ในท้ายที่สุดก็จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์ เกี่ยวกับกฎพื้นฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ตลอดจนเกี่ยวกับอนาคตโดยรวมของมนุษยชาติ”
การรับรองสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) ในอีกเจ็ดปีต่อมา คือผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมของความพยายามห้ามอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว ซึ่งการมีผลบังคับใช้และผลกระทบในอนาคตของสนธิสัญญานี้จะขึ้นอยู่กับว่า ผู้เสนอหรือผู้สนับสนุนสนธิสัญญาจะสามารถรักษาพยานหลักฐานของฮิบาคุชาและหลักฐานของผลกระทบด้านมนุษยธรรมให้อยู่ตรงหน้าและศูนย์กลางในจินตนาการของสาธารณชนไว้ได้หรือไม่
ดังที่ เคอิโกะ โอกุระ ผู้ประสบเห็นผลพวงจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาเมื่อครั้งยังมีอายุแปดขวบ บอกกับเราในระหว่างการเยือนเมืองแห่งนี้ครั้งล่าสุดของผมว่า “ดิฉันเป็นพยานคนหนึ่ง และ ณ ตอนนี้ การที่คุณได้รับฟังเรื่องราวจากดิฉัน ตัวคุณก็ได้กลายเป็นพยานอีกคนเช่นกัน ดิฉันขอให้คุณลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นที่ฮิโรชิมาเกิดซ้ำอีก”
แปลจากบทความต้นฉบับ An unnecessary evil: the discursive battle over the meaning of nuclear weapons