หลังจากเหตุการณ์ฆาตกรรม จอร์จ ฟลอยด์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประท้วงที่ลุกลามไปเกือบทุกหนแห่งทั่วโลก ทำให้เราได้เผชิญหน้ากันเพื่อทบทวนและใคร่ครวญถึงประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ควรได้รับการจัดการมานานแล้ว และตอนนี้เราก็อยู่ในขั้นตอนที่สถาบันต่าง ๆ กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน หลังได้รับฟังประสบการณ์ของพนักงาน เพื่อไปสู่การตัดสินใจว่า ทางสถาบันจะทำอย่างไรต่อสาธารณชนในการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมของระบบ
แต่การดำเนินการอย่างเที่ยงธรรมและต่อต้าน/ขจัดการเหยียดเชื้อชาตินั้นหมายถึงอะไร? แล้วข้อกำหนดเหล่านี้นำไปใช้กับการดำเนินการด้านมนุษยธรรมได้อย่างไรบ้าง? ในโพสต์นี้ ซามาน เรจาลี บรรณาธิการด้านเนื้อหาของ International Review of the Red Cross และหนึ่งในคณะกรรมการวาระเรื่องเพศภาวะ ความหลากหลาย และการคำนึงถึงผู้คนทุกหมู่เหล่าของ ICRC [1] กล่าวว่า การตระหนักรู้ว่ามรดกยุคอาณานิคมใหม่นั้นยังคงมีบทบาทต่อภาคหน่วยงานด้านมนุษยธรรม และการตีความหลักการด้านมนุษยธรรมเพื่ออธิบายถึงการปฏิบัติอย่างเที่ยงธรรม มากกว่าการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมนั้น จะช่วยให้ภาคหน่วยงานด้านมนุษยธรรมสามารถปรับระบบการปฏิบัติการและระบบของสถาบันเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์การสู้รบและสถานการณ์รุนแรงอื่น ๆ ให้ดีขึ้น
ห้วงเวลาแห่งการทบทวนและใคร่ครวญถึงประเด็นเรื่องเชื้อชาติเช่นนี้ควรเกิดขึ้นนานแล้ว โดยการประท้วง Black Lives Matter และการประท้วงต่อต้าน/ขจัดการเหยียดเชื้อชาติอื่น ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกในครั้งนี้ มาพร้อมกับความมุ่งมั่นตั้งใจใหม่และมีความเข้มข้นอย่างยิ่ง ซึ่งการประท้วงเน้นเรื่องทัศนคติและการเลือกปฏิบัติแบ่งแยกเชื้อชาติที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและเป็นระบบต่อคนผิวดำและคนผิวสี รวมทั้งในภาคหน่วยงานด้านมนุษยธรรมและองค์กรของเราเอง
ความเข้าใจที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับหลักการด้านมนุษยธรรมของความเป็นกลาง ความไม่ลำเอียง และความเป็นอิสระในการดำเนินการด้านมนุษยธรรม (NIIHA) อาจช่วยชี้นำแนวทางให้ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมขับเคลื่อนเพื่อก่อให้เกิดการปฏิบัติด้วยความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อผู้คนทุกหมู่เหล่า ‘ทั้งผู้ที่เราช่วยเหลือและผู้ที่ร่วมช่วยเหลือกับเรา’ ตัวอย่างเช่น หลักการของความเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้มีการคำนึงถึงผู้คนทุกหมู่เหล่าและมีความหลากหลายอย่างแท้จริงในภาคหน่วยงานด้านมนุษยธรรม กำหนดให้นักมนุษยธรรมต้องไม่เลือกปฏิบัติเนื่องจากสัญชาติ เชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา ชนชั้น หรือความคิดเห็นทางการเมือง นอกจากนี้ยังเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมมุ่งมั่นพยายาม “บรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนโดยยึดตามความต้องการของผู้เดือดร้อนเป็นสำคัญ”
การตีความความหมายอย่างมีจริยธรรมของหลักการความไม่ลำเอียงในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบนั้น จำเป็นต้องมีการส่งเสริมความเที่ยงธรรม มากกว่าความเท่าเทียม ทั้งนี้ ในการทำให้การดำเนินการด้านมนุษยธรรมมีความเที่ยงธรรมและต่อต้าน/ขจัดการเหยียดเชื้อชาตินั้น ก็จำเป็นต้องรับทราบด้วยว่า ประเด็นปัญหาแห่งยุคอาณานิคมใหม่เรื่องการเหยียดเชื้อชาติและความไม่เที่ยงธรรมที่ก่อกำเนิดอยู่ตามชุมชนหนแห่งทั่วโลกนั้นได้ขยายตัวฝังอยู่ในภาคหน่วยงานด้านมนุษยธรรมด้วยเช่นกัน หากปราศจากความเข้าใจดังกล่าวนี้แล้ว ก็เท่ากับว่า เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย โดยที่เราพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การต่อต้านการเหยียดสีผิว พร้อมกับยังยึดมั่นยึดติดอยู่กับโครงสร้างที่อาจถูกมองว่าเหยียดเชื้อชาติอยู่ เป็นต้น แต่เราจะต้องสร้างหนทางใหม่ที่มุ่งไปสู่ “การเสริมสร้างพลังร่วมกันกับ” การดำเนินการด้านมนุษยธรรม โดยทำงานกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความรุนแรง รวมทั้งยกระดับการทำงานโดยมุ่งเน้นความหลากหลาย คำนึงถึงผู้คนทุกหมู่เหล่า และมีสำนึกความรับผิดชอบในหน้าที่
ความเที่ยงธรรมและการต่อต้าน/ขจัดการเหยียดเชื้อชาติมีความหมายอย่างไรต่อการดำเนินการด้านมนุษยธรรม?
ในการนิยามความหมายของคำว่า ความเที่ยงธรรม นั้น อันดับแรกคือ เราจะต้องแยกความแตกต่างของคำ ๆ นี้ออกจากคำว่า ความเท่าเทียมกัน ก่อน ซึ่งดังที่อธิบายไว้แล้วในบทความเรื่อง IFRC’s ‘Minimum Standards for Protection, Gender and Inclusion in Emergencies’ (มาตรฐานขั้นต่ำของ IFRC เรื่องการคุ้มครอง เพศภาวะ และการคำนึงถึงผู้คนทุกหมู่เหล่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ความเท่าเทียมมาจากสมมติฐานที่ว่า “ทุกคนจะได้รับซึ่งการสนับสนุนช่วยเหลือเหมือน ๆ กัน” ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือเดียวกัน (อย่างเท่าเทียมกัน) แก่ผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์เดียวกันกับทุกคน อย่างไรก็ตาม ความเที่ยงธรรมนั้นหมายถึงว่า “ผู้คนอาจต้องการการสนับสนุนและวิธีการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน” ในระดับที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เท่าเทียมกัน ความเข้าใจโดยมีพื้นฐานของความเที่ยงธรรมเกี่ยวกับการดำเนินการด้านมนุษยธรรมจะช่วยทำให้ “งานด้านมนุษยธรรมมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการและภูมิหลังของแต่ละคน เพื่อให้ผู้เดือดร้อนได้รับการปฏิบัติอย่างเที่ยงธรรม” ดังกล่าวจึงหมายความว่า “ความเที่ยงธรรมนำไปสู่ความเท่าเทียม” ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดถึง “สิทธิที่เท่าเทียมกันของชายและหญิง” ในแนวทางที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน เราจำเป็นต้องใช้มาตรการที่มีความเที่ยงธรรมเพื่อให้สิทธิความเท่าเทียมดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
การให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความเที่ยงธรรมในภาคหน่วยงานด้านมนุษยธรรมเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจว่า การแสดงออกซึ่งการกดขี่ เช่น การเหยียดเชื้อชาติ นั้น มีรากฐานมาจากลำดับชั้นชนของอำนาจที่มักไม่ได้ดำเนินการอยู่เพียงลำพัง แต่มีเรื่องของเพศ ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ภูมิศาสตร์ เพศวิถี และเครื่องหมายทางสังคมอื่น ๆ อีกมากมายที่เข้ามาคาบเกี่ยวเชื่อมโยง [2] จึงทำให้มีการสร้างชนชั้นของการกดขี่ที่ผสมปนเปกันอย่างแยกไม่ออก ดังนั้น การกล่าวถึงความไม่เที่ยงธรรมเพียงด้านเดียวคงจะยังไม่เพียงพอ เนื่องจากการจะดำเนินการให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องมีแนวทางสู่การดำเนินการด้านมนุษยธรรมที่หยั่งรากลึกในเชิงปฏิบัติและมีความคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกัน
บ่อยครั้งที่ผู้ได้รับผลกระทบที่เผชิญกับความไม่เที่ยงธรรมรูปแบบหนึ่งจำต้องเผชิญกับแรงกดดันอันประกอบจากปัจจัยอื่นหลายอย่างที่คาบเกี่ยวเชื่อมโยงกัน โดยเราพบเห็นเรื่องดังกล่าวนี้ในลักษณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มประชากรแตกต่างกัน ในกรณีนี้ อัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูงกว่าใครในหมู่ผู้ชายและผู้สูงอายุนั้น ยังมีเรื่องของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกันโดยที่ปัจจัยเชิงระบบหลายปัจจัยต่างประกอบผสมด้วยความไม่เที่ยงธรรมและจำเป็นต้องมีมาตรการต่อต้าน/ขจัดการเหยียดเชื้อชาติที่มีเป้าหมายการจัดการกับความต้องการอันจำเพาะของผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นคนกลุ่มย่อยด้วย
นั่นหมายความว่า การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม “อย่างเท่าเทียมกัน” บ่อยครั้งนั้นเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เผชิญกับแรงผลักดันของการกดขี่น้อยได้มากกว่าผู้ที่เผชิญกับแรงผลักดันอย่างมาก การจัดการเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้กรอบการติดตามและประเมินผลที่ครอบคลุม มีจริยธรรม และจำแนกแยกส่วนกัน ซึ่งจะต้องระบุกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มย่อยที่ “ซ่อนตัวอยู่” ที่เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการคำนึงถึงมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ภาคหน่วยงานด้านมนุษยธรรมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยน้อยที่สุด
แนวคิดของการปฏิบัติอย่างเที่ยงธรรมนั้นใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างการ “ไม่เหยียดเชื้อชาติ” กับ “การต่อต้าน/ขจัดการเหยียดเชื้อชาติ” ซึ่งการ “ไม่เหยียดเชื้อชาติ” หมายถึงการไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมที่เป็นการเหยียดเชื้อชาติ กล่าวคือ ท่าทางหรือทัศนคติที่ไม่ได้สมยอมร่วม แต่ไม่มีการตระหนักถึงความแตกต่าง และระบบการกดขี่เองก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งเหมือนกับการเห็นอาชญากรรมเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับอาชญากรรมนั้น แต่ทว่าก็ไม่ได้หยุดยั้งการกระทำนั้นเช่นกัน ซึ่งการทำแค่นี้นั้นยังไม่เพียงพอ องค์กรต่าง ๆ และประชาชนจะต้องร่วมกันอย่างแข็งขันเพื่อต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติ รวมทั้งความไม่เที่ยงธรรมในรูปแบบอื่น ๆ ที่นำไปสู่การกดขี่และการอยู่ใต้บังคับอย่างเป็นระบบ ดังนั้น การต่อต้าน/ขจัดการเหยียดเชื้อชาติจึงเป็นการกระทำเชิงรุกเพื่อจัดการกับการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบทั้งในระดับบุคคลและระดับปฏิบัติการขององค์กร การต่อต้าน/ขจัดการเหยียดเชื้อชาติจึงอยู่ภายใต้การแสดงออกเพื่อความเที่ยงธรรมโดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้คนที่เผชิญกับการกดขี่หลายรูปแบบที่มีความคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกัน
เมื่อแนวทางสู่ความเที่ยงธรรมและการจัดการกับการเหยียดเชื้อชาติ (ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหีบห่อเดียวกัน) ในลักษณะไม่หือไม่อือและไม่กระตือรือร้นได้ก่อกำเนิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างเป็นทางการ ก็จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ดังเช่นที่ โจน แอกเคอร์ (Joan Acker) เรียกว่าเป็น “ระบอบแห่งความไม่เท่าเทียม” ซึ่งระบอบที่ว่าคือ “การปฏิบัติ กระบวนการ การกระทำ และความหมายที่สัมพันธ์กันอย่างหลวม ๆ ที่ส่งผลให้เกิดและดำรงไว้ซึ่งความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น เพศภาวะ และเชื้อชาติภายในองค์กร” โดยในกรอบการทำงานร่วมกันในเชิงโครงสร้างนั้น คือระบบและโครงสร้างที่ก่อตั้งขึ้นมาในองค์กรที่ “ยึดมั่นรักษาอภิสิทธิ์สำหรับคนหรือกลุ่มคนบางกลุ่มโดยที่จำกัดสิทธิ์และอภิสิทธิ์ของคนอื่น” ซึ่งหมายความว่า ผู้พิการและ/หรือผู้ทุพพลภาพจะยิ่งเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้ายภายในองค์กรมากยิ่งขึ้นและส่งผลเชิงลบต่อวิธีการดำเนินการตามอาณัติหน้าที่ขององค์กร ตัวอย่างเช่น หากองค์กรด้านมนุษยธรรมกำลังเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติภายในลำดับชนชั้นของตน การปฏิบัติที่ไม่เที่ยงธรรมของเจ้าหน้าที่องค์กรตามเครื่องหมายทางสังคมของพวกเขาก็อาจส่งผลต่อวิธีการของเจ้าหน้าที่องค์กรหรือสถาบันนั้นที่ปฏิบัติต่อผู้ได้รับผลกระทบที่มีภูมิหลังแตกต่างหลากหลาย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิผลในการปฏิบัติตามหลักการ NIIHA ด้วยเช่นกัน
สำหรับภาคหน่วยงานด้านมนุษยธรรมนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้มีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่ภายในองค์กรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากพลวัตทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้ แต่ผู้เดือดร้อนที่นักมนุษยธรรมให้ความช่วยเหลือก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยลำดับชั้นและระบบการกดขี่ในที่ทำงานภายในองค์กรด้านมนุษยธรรมส่งผลกระทบต่อการรับรู้ภายนอก รวมถึงระดับของความไว้วางใจที่ได้รับจากผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งความไว้วางใจที่มีต่อประชากรที่ได้รับผลกระทบด้วย
[1] คณะกรรมการวาระเรื่องเพศภาวะ ความหลากหลาย และการคำนึงถึงผู้คนทุกหมู่เหล่าของ ICRC คือเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการของพนักงานและผู้ร่วมงานที่ร่วมกันดำเนินงานเพื่อเพิ่มความเที่ยงธรรมทางเพศภาวะ ความหลากหลายและการคำนึงถึงผู้คนทุกหมู่เหล่า
[2] เครื่องหมายทางสังคมที่คาบเกี่ยวเชื่อมโยงกันอื่น ๆ เหล่านี้รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะอายุ ชนชั้น เชื้อชาติ วรรณะ เผ่าพันธ์ ศาสนา สัญชาติ ความพิการ เพศวิถี อัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศภาวะ
Reference: แปลจากบทความต้นฉบับ Race, equity, and neo-colonial legacies: identifying paths forward for principled humanitarian action