70 ปีอนุสัญญาเจนีวา – กฎแห่งสงครามที่ปกป้องชีวิตมากว่า 70 ปี

บทความ / บล็อค

70 ปีอนุสัญญาเจนีวา – กฎแห่งสงครามที่ปกป้องชีวิตมากว่า 70 ปี

ลองจินตนาการว่า หมู่บ้านของคุณถูกโจมตี คุณพลัดหลงกับครอบครัว ถูกจับโดยฝ่ายตรงข้าม ตอนนี้คุณนั่งอยู่บนหลังรถบรรทุก ถูกปิดตา มัดแขนขา ท่ามกลางอากาศร้อน 50 องศา ห้อมล้อมไปด้วยชายแปลกหน้าติดอาวุธ คุณจะคิดถึงอะไร?

คุณอาจคิดว่า ถ้าคุณถูกฆ่าเสียตอนนี้ ครอบครัวของคุณจะรู้หรือเปล่า จะมีใครส่งข่าวถึงพวกท่านบ้างไหม แล้วศพของคุณล่ะ จะถูกส่งกลับไปยังครอบครัวหรือไม่?

ลองจินตนาการว่า คุณคือนักรบถือปืนบนหลังรถบรรทุก ชายที่ถูกปิดตาอยู่ข้างๆ คือคนที่ฆ่าเพื่อนรักของคุณระหว่างการโจมตี คุณจะคิดถึงอะไร?

คุณอาจคิดถึงการแก้แค้น อยากทำให้เขาเจ็บปวด ให้สมกับที่เขาพรากชีวิตอันมีค่าไปจากเพื่อน คุณอาจจะโกรธ เกลียด และชิงชัง แต่ในบรรดาความรู้สึกเหล่านั้น คุณคงไม่นึกถึงกฎหมาย หรือการลงโทษที่เป็นธรรม

ที่นี้ ลองจินตนาการว่า นักโทษผู้โชคร้ายคือลูกชายหรือพี่ชายของคุณ คุณจะคิดถึงอะไร?

คุณอาจหวังให้เขามีชีวิตรอดปลอดภัย หวังว่าจะได้เห็นหน้าเขาอีกครั้ง และหากการดำเนินคดีต้องเกิดขึ้น คุณคงได้แต่หวังว่าคำตัดสินจะเป็นไปอย่างยุติธรรม

คำถามสำคัญ – กฎแห่งสงครามเปลี่ยนไปหรือไม่ เมื่อเราลองสวมบทบาทที่ต่างไป?

ในขณะที่มนุษย์ยังมีความกลัว ความแค้น และความหวัง อนุสัญญาเจนีวา 1949 บอกให้ทุกคนรู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ในสถานการณ์ไหน กฎแห่งสงครามจะมั่นคงอยู่เสมอ อนุสัญญาเจนีวาบอกกับโลก “สงครามจะต้องมีขอบเขต และการคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องไกลมือคว้า”

1945 เป็นปีสำคัญทางประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจบลง พร้อมกับเงาของสงครามเย็นที่กำลังก่อตัว หลังผ่านสงครามร้อนที่เผาผลาญทั้งโลกจนวอดวาย ผลของสงครามเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา อนุสัญญาเจนีวาปี 1906 และ 1929 ยังไม่สามารถปกป้องความเสียหายที่เกิดขึ้นในวงกว้าง เป็นเหตุผลที่ ICRC เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ปกป้องทหารบาดเจ็บและเชลยสงคราม ให้ครอบคลุมถึงพลเรือน ข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบ และอนุสัญญาฉบับใหม่ ก็ได้รับการรับรองในวันที่ 12 สิงหาคม 1949

สำหรับประเทศเวียดนามและลาว สองประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามอินโดจีน การเกิดขึ้นและมีอยู่ของอนุสัญญาถือเป็นเรื่องน่ายกย่อง แต่การทำให้มั่นใจว่าสนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับความเคารพจากทุกฝ่าย ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาคมโลก

เวียดนามและลาวเพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 70 ปี อนุสัญญาเจนีวาไปเมื่อวันที่ 17 และ 26 กรกฎาคม 2019 นายเจียนนี่ โวลพิน หัวหน้าสำนักงานย่อย ICRC ประจำเวียดนามและลาว ให้ความเห็นว่า เหตุผลที่อนุสัญญาฉบับนี้ใช้เวลาร่างแค่ 4 เดือนและเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก เป็นเพราะตัวอนุสัญญา ไม่ได้กล่าวห้ามการทำสงคราม ไม่เปลี่ยนผลของการรบ เพียงแค่ลดผลกระทบต่อประชาชนลงเท่านั้น

นายคำฮุ่ง เฮืองวงสี ประธานองค์การกาแดงลาวกล่าวย้ำถึงความสำคัญของอนุสัญญาเจนีวาที่เปรียบเสมือนอนุสรณ์สำคัญของประเทศ “ลาวเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวาเมื่อปี 1956 ในขณะที่ประเทศกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงคราม ปัจจุบันลาวเป็นประเทศที่มีระเบิดตกค้างมากที่สุดในโลก ทุกวันนี้เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ICRC เพื่อพลักดันนโยบายด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหาร, ระเบิดพวง และ วัตถุระเบิด”

สำหรับประเทศเวียดนาม การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในอนุสัญญาเจนีวา เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของประเทศ “ในฐานะที่เวียดนามกำลังจะขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปี 2020 และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติวาระปี 2020-2021 เราจะทำงานร่วมกับประชาคมโลกเพื่อทำให้แน่ใจว่าอนุสัญญาเจนีวาได้รับความเคารพและถูกนำไปบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” ด็อกเตอร์ เล ทิ ทูด ไม อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เล่าให้เราฟัง

“ย้อนกลับไป 70 ปี โลกทั้งใบเห็นพ้องต้องกันว่ากฎของสงครามจะต้องมีอยู่ และจะคงเดิมเสมอไม่ว่าตกอยู่ในสถานการณ์ไหน” ฟิโอน่า บาร์นาบี้ ที่ปรึกษากฎหมายของ ICRC ให้สัมภาษณ์ “แม้รูปแบบของการทำสงครามจะเปลี่ยนไป เทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อการสู้รบ แต่ความคุ้มครองต่อพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามจะยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง”

 

แบ่งปันบทความนี้