ตั้งแต่ปี 1946-2010 ความขัดแย้งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อประชากรสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไม่เพียงให้ความคุ้มครองชีวิตมนุษย์แต่ยังปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อผู้คน แต่เพราะมูลค่าที่ยิ่งใหญ่ของสิ่งแวดล้อมต่อโลกทั้งใบ สงครามมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ คำถามนี้คงตอบไม่ยาก แต่สงครามมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน? คือคำถามที่เราจะพาไปหาคำตอบ
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศห้ามใช้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอาวุธโจมตี รวมไปถึงการแทรกแซงทางธรรมชาติอย่างการใช้สารเคมีเพื่อทำลายสมดุลทางธรรมชาติของภูมิภาค หรือการตั้งใจโจมตีทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น การระเบิดบ่อน้ำมันของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากกระจายเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้อาจลามไปไกลถึงประเด็นก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน
แม้สิ่งแวดล้อมจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่หลายครั้งที่ผลเสียหายจากสงคราม ลามไปถึงสัตว์ป่าอย่างไม่ได้ตั้งใจ ในโมซัมบิกสงครามกลางเมือง 15 ปีทำลายประชากรช้างจาก 2,000 เหลือเพียง 200 คร่าชีวิตควายป่าแอฟริกาจาก 14,000 เหลือแค่ 100 และลดจำนวนฮิปโปจาก 3,500 เหลือเพียง 100 ตัวเท่านั้น จากสถิติพบว่า เพียงแค่สวน Gorongosa National Park เพียงแห่งเดียว ก็ประสบปัญหาประชากรสัตว์ป่าลดลงกว่า 90% เพราะเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะช้างกลายเป็นแหล่งอาหารราคาถูกสำหรับเลี้ยงกองทัพ
บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งเปิดโอกาสให้มนุษย์ลุกล้ำเข้าไปในเขตอนุรักษ์ ยกตัวอย่างเช่นกองกำลังติดอาวุธ มักใช้ผืนป่าเป็นที่กำบังและฐานทัพ นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างไม่มีการควบคุม สถานการณ์ที่ว่าปิดโอกาสให้ผู้คนจำนวนมากกลับมาหาโอกาสจากทรัพยกรแม้ในยามสงครามสงบ ยกตัวอย่างเช่นการถางที่ป่าจำนวนมาก หรือการบุกเบิกพื้นที่ป่ามาใช้เพื่อการอยู่อาศัย
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ นอกจากให้ความคุ้มครองทรัพยากรทางธรรมชาติ ยังเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย มีความรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อธรรมชาติ กฎแห่งสงครามยอมให้มีการทำลายผืนป่าได้บ้าง หากถูกใช้เป็นฐานทัพทางการทหาร แต่ต้องจำกัดความเสียหายให้คงอยู่น้อยที่สุด
ข้อแนะนำตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีดังนี้
-หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ป่าสงวนเพื่อผลประโยชน์ทางการทหาร
-ประเมินพื้นที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติ กำหนดจุด และหลีกเลี่ยงปฎิบัติการทางการทหารในพื้นที่คุ้มครอง
-ทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้ง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่คุ้มครอง
เราสามารถช่วยกันรักษาผืนป่าและชีวิตน้อยใหญ่ ด้วยการเข้าใจกฎหมายมนุษยธรรม
แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับ Natural environment: Neglected victim of armed conflict