ระเบิดปรมาณูมีผลข้างเคียงด้านสุขภาพจริงหรือไม่?
ไขข้อข้องใจกับด็อกเตอร์มาซาโอะ โทโมนากะ ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์โรงพยาบาลระเบิดปรมาณูแห่งนางาซากิ สภากาชาดญี่ปุ่น
ถาม: ผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูต้องเจอผลกระทบทางสุขภาพอย่างไรบ้าง?
ตอบ: ผลกระบทหลักของสารกัมมันตรังสีคือโรคลูคีเมีย (มะเร็งเม็ดเลือดขาว), มะเร็ง และโรคหัวใจ บางคนอาจมีอาการหลายอย่างทับซ้อนกัน สำหรับคนที่โดนระเบิดโดยตรง บางคนตาบอดเพราะจ้องมองการระเบิด บางคนมีปัญหากับการได้ยินเพราะประสาทการรับเสียงได้รับผลกระทบ ผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ เมื่อแผลแห้งไปจะกลายเป็นรอยแผลเป็นคีลอยด์ หลายรายได้รับผลกระทบทางจิตเพราะภาพอันโหดร้ายจากการระเบิด ผู้ป่วยมักเชื่อว่าตัวเองจะตายตามญาติพี่น้องเพราะได้รับรังสีแบบเดียวกัน
กลุ่มคนที่รอดจากระเบิดปรมาณู ยังต้องเผชิญกับการกีดกันทางสังคม ไม่มีใครอยากแต่งงานกับคนกลุ่มนี้เพราะกลัวผลกระทบท่อาจส่งต่อถึงลูกหลาน หรือกับคนที่แต่งงานกลายเป็นพ่อแม่ พวกเขายังต้องอยู่กับความไม่แน่ใจว่าได้ส่งผ่านโรคร้ายให้สายเลือดของตัวเองหรือเปล่า
ถาม: ระเบิดปรมาณูมีผลต่อลูกหลานของผู้รอดชีวิตจริงหรือไม่ มีหลักฐานอะไรที่สามารถพิสูจน์ได้หรือเปล่า?
ตอบ: ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาตร์บ่งชี้ว่าผลกระทบจากรังสี มีผลสืบทอดทางสายเลือดจริงหรือไม่ เรื่องนี้หากจะพิสูจน์กันจริงๆ คงต้องรอให้รุ่นลูกของผู้รอดชีวิตมีอายุ 60-70 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่อาการมะเร็งจะเผยตัว นั่นหมายความว่าเรายังต้องรอคำตอบอีกร่วม 15-20 ปี อย่างไรก็ดี แม้ผลกระทบทางวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถระบุชัด แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับความทุกข์ของผู้คนเหล่านี้ที่ต้องอยู่กับความกลัวและความไม่รู้มากว่า 40 ปี
ถาม: คนรุ่นใหม่จะช่วยสนับสนุนผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูได้อย่างไร?
ตอบ: ผมหวังว่าคนรุ่นใหม่จะศึกษาเรื่องราวของสงครามและสันติภาพ ทุกวันนี้มีแหล่งความรู้มากมายที่ขยายความสิ่งที่เกิดขึ้นกับฮิโรชิมาและนางาซากิ ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่สามารถศึกษาและตัดสินใจด้วยตัวเอง และแม้จะเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่คนรุ่นใหม่ก็สามารถสนับสนุนผู้รอดชีวิตจากระเบิดด้วยการร่วมกันต่อต้านระเบิดนิวเคลียร์เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
แปลจากบทสัมภาษณ์ต้นฉบับ: Doctor answers questions from Facebook on diseases caused by atomic bombs