เมื่อผู้ช่วยชีวิตตกเป็นเป้าหมาย กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกล่าวถึงความรุนแรงทางการแพทย์ไว้อย่างไร?

บทความ / บล็อค

เมื่อผู้ช่วยชีวิตตกเป็นเป้าหมาย กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกล่าวถึงความรุนแรงทางการแพทย์ไว้อย่างไร?

ข่าวการเสียชีวิตของนักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ในกาซ่า นำมาซึ่งคำถามใหญ่เกี่ยวกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในพื้นที่ขัดแย้ง หากมองย้อนกลับไป ปัญหาความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นประเด็นที่ ICRC ให้ความสนใจและพยายามผลักดันมาตลอด

แม้ความปลอดภัยของผู้ปฎิบัติงานด้านการแพทย์จะได้รับการคุ้มครองตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law – IHL) แต่ที่ผ่านมาบุคลากรที่ดูแลสุขอนามัยในพื้นที่ขัดแย้งกลับต้องเผชิญกับภาวะท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายทางวิชาชีพ หรืออันตรายต่อชีวิตของตัวผู้ปฎิบัติงาน

ในปี พ.ศ. 2551 กระทรวงสาธารณสุขของประเทศอิรักประเมินว่าบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 625 คนถูกสังหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546  แพทย์อีกหลายร้อยคนถูกขู่เอาชีวิตหรือถูกลักพาตัว บางครั้งก็เพื่อค่าไถ่ แต่บางครั้งก็เพื่อเหตุผลทางการเมืองหรือศาสนา  เกินครึ่งของแพทย์อิรักหนีไปต่างประเทศ  หลายคนที่ยังอยู่ถูกบังคับให้อาศัยในโรงพยาบาลที่ตนทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางกลับบ้านที่เสี่ยงอันตรายในแต่ละวัน

ความรุนแรงต่อบุคลากรที่ดูแลสุขอนามัยเกิดขึ้นบ่อยเช่นกันในประเทศอัฟกานิสถาน เจ้าหน้าที่ดูแลสุขอนามัยจำนวนมากถูกลักพาตัว บางครั้งเพื่อเรียกค่าไถ่ นอกนั้นเพื่อใช้ความสามารถทางการแพทย์ของพวกเขาในการรักษาทหารบาดเจ็บที่กลัวถูกจับกุมหากไปรักษาในคลินิกของรัฐบาล

ระหว่างสงครามอันยาวนานในประเทศศรีลังกา แพทย์และบุคลากรที่ดูแลสุขอนามัยอื่นๆ ถูกข่มขู่และสังหารเพราะ “รักษาศัตรู” ในเดือนธันวาคม 2551 ครึ่งหนึ่งของแพทย์ที่ทำงานในเมืองวาวูนิยาถูกขู่เอาชีวิตจากบุคคลนิรนามในจดหมายที่ส่งทางไปรษณีย์มาจากกรุงโคลัมโบ ซึ่งระบุว่าแพทย์ชาวทมิฬจะต้องเสียชีวิตเพื่อชดเชยความตายของแพทย์ชาวสิงหลในเมืองบัตติคาลัว

 

“ผมไม่สงสัยเลยว่าขีปนาวุธลูกหนึ่งพุ่งเป้ามาที่เรา ผมไม่รู้แน่ว่ามันจงใจฆ่าเราหรือเตือนให้เราหลีกไป แต่มันเล็งมาทางเราอย่างแน่นอน”

-คนขับรถพยาบาลขององค์กรเสี้ยววงเดือนแดงปาเลสไตน์  คาเลด อาบู ซาดา

 

เมื่อผู้ช่วยเหลือชีวิตตกเป็นเป้าหมาย กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกล่าวถึงความรุนแรงทางการแพทย์ไว้อย่างไร?

ความรุนแรงทางการแพทย์ในที่นี้ มีเนื้อหาคลอบคลุมทั้งการสังหาร, การทำให้บาดเจ็บ, การลักพาตัว, การคุกคาม, การข่มขู่และการปล้น รวมถึงการจับกุมบุคคลไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์

บุคลากรทางการแพทย์หมายถึงใครบ้าง?

บุคลาการทางการแพทย์ไม่ได้หมายถึงแค่แพทย์และพยาบาล แต่ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์ ผู้ปฐมพยาบาลและเจ้าหน้าที่สนับสนุนที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานทางการแพทย์, เจ้าหน้าที่ธุรการของศูนย์ดูแลสุข อนามัยและบุคลากรประจำรถพยาบาล

สิ่งที่กฎหมายบัญญัติเป็นอย่างไร?

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกล่าวถึงการคุ้มครองบุคลากรที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ไว้ดังนี้

  • บุคลากรที่ดูแลสุขอนามัย ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน ต้องไม่ถูกโจมตีหรือทำอันตราย
  • บุคลากรที่ดูแลสุขอนามัยจะต้องไม่ถูกขัดขวางในการปฏิบัติงานทางการแพทย์โดยเฉพาะ
  • ฝ่ายที่ทำการสู้รบจะต้องไม่คุกคามหรือลงโทษบุคลากรที่ดูแลสุขอนามัย ซึ่งดำเนินกิจกรรมสอดคล้องกับหลักจรรยาบรรณทางการแพทย์ รวมทั้งจะต้องไม่บังคับให้พวกเขาดำเนินกิจกรรมขัดกับหลักจรรยาบรรณทางการแพทย์ หรือละเว้นจากการกระทำที่หลักจรรยาบรรณทางการแพทย์กำหนดไว้
  • บุคลากรทางการแพทย์ต้องไม่ถูกกำหนดให้มอบสิทธิพิเศษแก่บุคคลใดนอกจากมีเหตุผลทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ต้องตัดสินใจตามหลักจรรยาบรรณทางการแพทย์ว่าผู้ป่วยคนใดพึงได้รับสิทธิ์ก่อน
  • การคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ยุติลงเมื่อพวกเขากระทำการอันเป็นอันตรายต่อฝ่ายตรงกันข้ามนอกเหนือหน้าที่ด้านมนุษยธรรม

ICRC มีส่วนสนับสนุนงานในด้านนี้อย่างไรบ้าง?

ในยามสันติ

> ICRC เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในบรรดาบุคลากรทางการทหาร, ข้าราชการ, กลุ่มติดอาวุธ, และองค์กรทางการแพทย์ นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนรัฐให้รวบรวมกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเข้าไว้ในกฎหมายของประเทศ

> ICRC ขอให้ทุกฝ่ายที่ทำการสู้รบเคารพและปกป้องผู้ปฎิบัติการทางการแพทย์และอาสาสมัคร

>ICRC เข้าร่วมในการสนทนากับทุกฝ่ายที่ทำการสู้รบ เพื่อชี้แจงข้อหาละเมิดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเพื่อป้องกันการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวที่อาจเกิดชึ้นในอนาคต

ในภาวะสงคราม

> ICRC เจรจาเรื่องการหยุดยิงหรือการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถเข้าถึงผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตได้อย่างปลอดภัย รวมไปถึงการเข้าถึงการดูแลสุขอนามัย หรือโครงการดูแลสุขอนามัยอื่นๆ เช่น การรณรงค์ฉีดวัคซีน

> ICRC เสริมความมั่นคงทางกายภาพของศูนย์ดูแลสุขอนามัยโดยการวางกระสอบทราย, การสร้างหลุมหลบภัยและการใช้แผ่นฟิล์มกันระเบิดที่หน้าต่าง

> ICRC ทำเครื่องหมายที่ศูนย์ดูแลสุขอนามัยด้วยสัญลักษณ์กาชาดหรือเสี้ยววงเดือนแดง (ธง, การทาสีหลังคา) และติดสัญลักษณ์ปลอดอาวุธไว้ภายในศูนย์ดูแลสุขอนามัย

> ICRC คำนวณพิกัด GPS (ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก) ของศูนย์ดูแลสุขอนามัย และจัดหาพิกัด GPS เหล่านี้ให้แก่ทุกฝ่ายที่ทำการสู้รบ

> ICRC ทำการฝึกอบรมด้านการปฐมพยาบาลสำหรับกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง

> ในสถานที่ที่ความรุนแรงต่อบุคลากรที่ดูแลสุขอนามัยและศูนย์ดูแลสุขอนามัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ICRC จะดำเนินการรณรงค์แจ้งข้อมูล เช่น รายการต่อเนื่องทางวิทยุ รวมทั้งการรณรงค์ด้วยโปสเตอร์และสื่ออื่นๆ

> ICRC ติดตามผู้เจ็บป่วยและผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลหากพวกเขากลัวการถูกเลือกปฏิบัติ

> ICRC เริ่มการบริการดูแลสุขอนามัยเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง อาทิเช่น ทีมงานศัลยกรรมบินได้ในเมืองดาร์ฟูร์ ซึ่งปฏิบัติงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2552 หรือคลินิกเคลื่อนที่ที่เคลื่อนย้ายโดยเรือแคนูสู่พื้นที่ห่างไกลในประเทศโคลอมเบีย

> ICRC ดำเนินการรณรงค์ “การเข้าถึงอย่างปลอดภัยมากขึ้น” ร่วมกับสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงของประเทศที่เผชิญความขัดแย้งและความรุนแรงอื่นๆ เพื่อเพิ่มการตระหนักถึงวิธีลดอันตรายให้เหลือน้อยที่สุดเมื่อเข้าถึงพื้นที่ที่อาจเป็นอันตราย นอกจากนี้ ICRC ยังปฏิบัติงานเพื่อปรับปรุงความรู้ในท้องถิ่นและความเข้าใจของสาธารณชนต่อบทบาทและหน้าที่ของสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดง

> ICRC ชี้แจงปัญหาโดยเฉพาะเจาะจง เช่น อุปสรรคที่เกิดแก่รถพยาบาล ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

 

แบ่งปันบทความนี้