Tith Pao ในวัย 45 ปี ดูเป็นผู้ชายที่มีความสุข เขาเป็นทั้งชาวนาที่ประสบความสำเร็จ มีที่นาเป็นของตัวเอง และเป็นพ่อที่น่าเคารพในสายตาภรรยาและลูกๆ ใครจะรู้ว่าย้อนกลับไป 25 ปี ชายท่าทางใจดีตรงหน้า เคยเป็นเหยื่อทุ่นระเบิดสังหารจนต้องเสียเท้ากลายเป็นคนพิการตั้งแต่อายุ 20 ปี
ตำบล Rattanak Mondul เมือง Battambang ประเทศกัมพูชา – เรารู้จัก Tith Pao ครั้งแรกในปี 1992 ตอนนั้นกัมพูชาขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีทุ่นระเบิดมากที่สุดในโลก รองจากอัฟกานิสถานและแองโกล่า 25 ปีให้หลัง เรากลับมาเยี่ยม Pao อีกครั้งเพื่อเห็นภาพที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้กัมพูชาแทบปราศจากทุ่นระเบิดและ Tith Pao ก็ดูต่างจากเดิมอย่างลิบลับ

 

ต้นศตวรรษที่ 1990 กัมพูชามีทุ่นระเบิดสังหารประมาณ 8-10 ล้านลูก จำนวนที่ว่ามากกว่าจำนวนประชากรรวมกันทั้งประเทศ และแม้จะให้ทุกคน ทั้งผู้ชาย เด็ก และผู้หญิงมาช่วยกันเหยียบระเบิดคนละลูก ก็ยังไม่แน่ว่าสามารถกำจัดระเบิดเหลานี้ออกจากพื้นที่ประเทศได้หมด ทุ่นระเบิดมากมายเป็นมรดกจากการสู้รบอันยาวนานของกลุ่มเขมรแดง กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ กลุ่มทหารเวียดนาม รวมไปถึงกองทัพสหรัฐฯ กลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการเดินทางกลับถิ่นฐานเดิมของผู้ลี้ภัยและพลัดถิ่นในระหว่างสงคราม ทั้งยังกีดขวางโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและการบูรณะประเทศ ICRC ในฐานะที่เป็นองค์กรมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเก็บกู้ระเบิดเพื่อเปลี่ยนพื้นที่สงครามให้สามารถกลับมาทำการเกษตรและอยู่อาศัยได้อีกครั้ง จึงร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) 6 แห่ง ภายใต้ชื่อ The International Campaign to Ban Landmines (ICBL) โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ มุ่งกำจัดทุ่นระเบิดสังหารทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2025 ปัจจุบัน ICBL มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากกว่า 1,300 องค์กร ทำงานอยู่ใน 100 ประเทศทั่วโลก เพื่อผลักดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศร่วมมือร่วมใจปฎิบัติตามอนุสัญญาออตตาวา ว่าด้วยการปรับลดอาวุธอย่างเต็มรูปแบบและกำหนดให้มีการทำลายและเลิกการผลิตทุ่นระเบิด จนถึงตอนนี้อนุสัญญาออตตาวามีผู้ร่วมลงนามถึง 163 ประเทศ จาก 195 ประเทศทั่วโลก สำหรับกัมพูชา องค์กรด้านมนุษยธรรมอย่าง HALO Trust, Mines Advisory Group ฯลฯ ได้เข้ามาปฎิบัติหน้าที่เพื่อเก็บกู้ระเบิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี กำจัดทุ่นระเบิดสังหารในพื้นที่สงครามไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็น ชาวกัมพูชาหลายครอบครัว สามารถกลับบ้านและเริ่มการเพราะปลูกในพื้นที่สงครามได้อย่างปลอดภัย “มองย้อนกลับไปในอดีต สิ่งที่ผมจำได้มีแต่ความกลัว แต่ตอนนี้ชีวิตของผมเป็นเหมือนต้นไม้ที่เริ่มผลิดอกออกผลอีกครั้ง”  Pao กล่าว ในปี 1992 Pao เป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายจำนวน 1,573 คนที่ต้องเสียอวัยวะหรือชีวิตจากระเบิดสังหาร ในปีที่ผ่านมา เหยื่อระเบิดเหลือเพียง 42 ราย เท่านั้น ชิวิตของ Pao ไม่ง่าย หลังเสียเท้าไปได้เพียงเดือนเดียว เขาจำใจต้องกลับไปหาไม้ในพื้นที่เสี่ยงภัยอีกครั้ง ‘ผมรู้สึกกลัวที่ต้องกลับไปในป่า แต่มันเป็นทางเลือกเดียวสำหรับการเลี้ยงปากท้อง’ เช่นเดียวกับชาวกัมพูชากว่า 12,000 ชีวิตที่เสียบ้านจากสงคราม ครอบครัวของ Pao ต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แสนแออัด การหาไม้ไปขาย เป็นรายได้ทางเดียวของครอบครัว

หลังได้รับขาเทียมจาก ICRC และเริ่มทำกายภาพบำบัด ไม่นานเขาก็เริ่มคุ้นเคยกับอวัยวะชิ้นใหม่ ที่จริงแล้วทุ่นระเบิดส่วนใหญ่ในกัมพูชา ถูกผลิตมาเพื่อทำให้พิการมากกว่าเสียชีวิต ดังนั้นจึงมีชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อยต้องสูญเสียอวัยวะในขณะเก็บของป่าหรือทำนา ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่มันเป็นเสาหลักของครอบครัว เป็นพ่อหรือสามีที่มีปากท้องต้องเลี้ยงดู

ตำบล Sdao ในเมือง Rattanak Mondul เป็นตัวอย่างที่ดีของย่านชุมชนที่กลายเป็นเขตต่อสู้ในช่วงสงคราม เขตแดนระหว่างเขมรแดงและฝ่ายตรงข้าม ลากตัดผ่านบริเวณเมืองพอดี ทำให้พื้นที่นี้เต็มไปด้วยทุ่นระเบิดมากมาย และแม้สงครามจะจบไปในปี 1998 แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังหวาดกลัวเกินกว่าจะกลับเข้าไปอาศัย ผ่านไป 25 ปี ด้วยความช่วยเหลือขององค์กรต่างๆ ทุกวันนี้ตำบล Sdao กลับมาเป็นแหล่งชุมชนที่คึกคัก ปราศจากอันตรายจากระเบิด

แม้ร่างกายจะพิการ แต่ Pao ก็เล่าให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจว่าเขาสามารถทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี Srey Nouy ภรรยาของเขาบอกเราว่าการแต่งงานของทั้งสองเคยเป็นที่กังขาของคนในค่าย คนส่วนใหญ่มองว่าความพิการของเจ้าบ่าวจะทำให้ครอบครัวต้องลำบาก ‘และเวลาก็พิสูจน์ชัดว่าพวกเขาคิดผิด’ Srey Nouy กล่าว ตอนนี้เธอและลูกๆ ทั้ง 4 มีชีวิตอย่างไม่ขัดสนบนที่ดินของตัวเอง

เมื่อสงครามสงบ Pao รีบย้ายกลับมาบ้านเก่า ที่นั่น เขามีที่ดินอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากแม่ แต่ก็ต้องรอจนกระทั่ง Cambodian Mine Action Center เข้ามาเก็บกู้ระเบิดจากพื้นที่เสียก่อน ทั้งครอบครัวจึงสามารถกลับมาอยู่อาศัยได้ตามปกติ ตอนนี้เขาแบ่งพื้นที่บางส่วนเพื่อเลี้ยงปลา ทำนา และอยู่อาศัย ‘ขีวิตในค่ายช่างยากลำบาก เราทำอะไรไม่ได้มาก ใครจะไปคิดว่าตอนนี้เราจะมีที่ดินเป็นของตัวเอง’ Pao เล่าให้ฟัง

ระหว่างสงคราม ที่ดินของ Pao เป็นเขตสู้รบ ประชาชนไม่สามารถเข้ามาได้ และแน่นอนว่าตลอดสองข้างทางของถนน เคยเต็มไปด้วยทุ่นระเบิดอันตราย

ตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา ประชาชนกว่า 64,000 เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิด เมือง Battambang ทำสถิติสูงสุดที่ 15,000 คน ตามมาด้วยเมือง Rattanak Mondul 5,000 คน ตัวเลขที่น่าตกใจนี้ ทำให้กันพูชาเป็นประเทศที่มีผู้พิการมากที่สุดในโลก – ผู้พิการส่วนใหญ่คือประชาชน

ทุกวันนี้ ผลจากอนุสัญญาลดอาวุธ ทำลายทุ่นระเบิด และการร่วมมือระหว่างรัฐบาลและองค์กรเอกชน ทำให้เมือง Rattanak Mondul กลับมาเป็นชุมชนปลอดอันตรายอีกครั้ง ‘ผมดีใจเหลือเกินที่ได้กลับมาอยู่บ้าน เพราะมีบ้านเราถึงทำอะไรได้หลายอย่าง สามารถทำการเกษตรหาเลี้ยงครอบครัว ตอนที่ไม่มีที่อยู่ผมรู้สึกไม่ต่างจากขอทาน’ Pao ทิ้งท้าย

โลกมีการทำลายทุ่นระเบิดอันตรายไปกว่ากว่า 51 ล้านชิ้น 159 ประเทศที่ลงชื่อในสัญญาไม่มีระเบิดที่ว่าอยู่ในครอบครอง ส่วนจำนวนประเทศที่ผลิตทุ่นระเบิดก็ลดลงจากกว่า 50 เหลือเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ปัจจุบันยังมีอีก 35 ประเทศที่ปฎิเสธเข้าร่วมอนุสัญญา….

ความท้าทายใหญ่ต่อไปคือการทำให้ทุกพื้นที่ในโลกปลอดระเบิด และนำประชาชนกลับบ้านอย่างปลอดภัยได้อย่าง Pao และประชาชนในเมือง Rattanak Mondul ทุกคน

แปลจากบทความภาษาอังกฤษ Beating the odds and clearing landmines in Cambodia โดย: Nic Dunlop