ไม่นานนักหลังโควิด-19 ย่างเท้าเข้าสู่ยุโรปและอเมริกา นักการเมือง นักวิชาการ กระทั่งนักข่าวและสื่อต่างๆ ต่างพากันบรรยายความอันตรายของเชื้อไวรัสตัวใหม่โดยใช้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการทำสงคราม ‘เรากำลังทำสงครามกับโคโรน่าไวรัส’ อาเดรียโน ลาเรีย ผู้สนับสนุนด้านมนุษยธรรมและเพื่อนร่วมงานของเราในกาชาดอิตาลี ชูประเด็นนี้โดยกล่าวว่าการใช้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม อาจตามมาด้วยผลเสียมากกว่าที่คิด เพราะอาจส่งผลกระทบไปไกลถึงปฎิบัติการจริงในแนวหน้าของสงครามและความขัดแย้ง

ภาพความจริงอาจดูจางเมื่อพูดผ่านความทรงจำ โถงทางเดินในโรงพยาบาลเต็มไปด้วยเตียงผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โลงศพวางเรียงกันเป็นแถว แต่ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เข้าใกล้สำหรับไว้อาลัย แพทย์ในชุดอุปกรณ์ป้องกันเต็มรูปแบบ กำลังทรุดตัวลงนั่งกับกำแพงเพราะความเหนื่อยล้า อิตาลีเป็นประเทศแรกๆ ที่ประสบชะตากรรมเลวร้ายจากโควิด-19 และเรามักได้รับการเรียกขานซ้ำๆ ว่าเป็น “แนวหน้าของการแพร่ระบาด”

ฉันนั่งอยู่ตรงนี้ ที่อิตาลี ประเทศที่ใครต่อใครเรียกว่าแนวหน้าของสงครามกับเชื้อไวรัส และดูเหมือนว่าในทุกวัน ความพยายามของเพื่อนร่วมงานของเราในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคร้าย จะถูกเล่าต่อทางสื่อและหนังสือพิมพ์โดยใช้การเปรียบเทียบกับการรบในสงคราม ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับช่องข่าวประจำชาติของอิตาลี โดเมนิโก อาร์กูรี (Domenico Arcuri) กรรมาธิการวิสามัญเหตุฉุกเฉินฯ ของอิตาลี กล่าวว่า “พวกเรากำลังอยู่ในสงคราม และผมกำลังมองหาลูกกระสุนที่จะทำให้ประเทศของเราเอาชนะสงครามได้เร็วที่สุดและดีที่สุดกว่าประเทศอื่นๆ” Italian trade unions รายงานว่า “บุคลากรทางการแพทย์กำลังอยู่ในสนามเพลาะ” ในขณะที่เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสเองก็ประกาศ “พวกเรากำลังอยู่ในสงคราม” และเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ดอนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ออกมาให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ “โลกกำลังทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็น และเราต้องชนะ”

ในมุมหนึ่ง ฉันเข้าใจว่าการใช้คำเปรียบเปรยกับสงคราม เป็นหนึ่งในวิธีสื่อสารที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจความรุนแรงของสถานการณ์ พวกเรากำลังเผชิญหน้ากับ การตายของผู้ป่วยหลายพันและบุคลากรทางการแพทย์อีกหลายร้อย โดยมีศัตรูที่มองไม่เห็นและสามารถเข้าโจมตีได้ตลอดเวลา ศัตรูที่ว่าเป็นศัตรูร่วมกันของทุกคน และมันต้องถูกกำจัด

เทคนิคเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีต เมื่อใดที่เกิดโรคระบาดหรือความยากลำบาก มนุษย์มักกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ โดยใช้คำศัพท์ทางสงครามเข้ามาอธิบาย อย่างไรก็ดี การตอบโต้โรคระบาดด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์สามารถลดความสูญเสียของมนุษยชาติเช่นเดียวกับที่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นกลไกที่ช่วยลดทอนความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะผลของสงคราม

น่าสนใจว่า ความพยายามในการลดความสูญเสียจากสงครามโดยใช้กฎหมายมนุษยธรรมเข้ามาขีดเส้นกำกับการกระทำต่างๆ ที่มากเกินความจำเป็น ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับ “สงครามที่ไม่มีขีดจำกัด” เช่นที่เรากำลังกระทำกับโควิด-19 ในปี 1989 ซูซาน ซองตา นักเขียนชาวอเมริกันให้ความเห็นไว้ในหนังสือเรื่อง Illness as Metaphor & AIDS and Its Metaphors (1989) โดยกล่าวว่า ‘สงครามเป็นเป็นหนึ่งในไม่กี่กิจกรรมที่ไม่สามารถมองด้วยหลักการได้ ในการทำสงคราม ไม่มีอะไรที่เกินพอดี ไม่มีรายจ่ายอะไรที่มากเกินไป การทำสงครามแบบเบ็ดเสร็จ รายจ่ายก็เบ็ดเสร็จด้วยเช่นกัน มันเป็นการใช้จ่ายแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง เป็นเหตุฉุกเฉินที่ความเสียสละใดๆ ก็ไม่มากเกินไป’

ฉันไม่อาจนิ่งเฉยโดยปล่อยให้การเปรียบเปรยไวรัสโคโรน่าว่าเป็นการต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น ถูกใช้ต่อไปในวงกว้าง ในฐานะผู้สนับสนุนด้านมนุษยธรรมประจำกาชาดอิตาลี และสมาชิกกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง หน้าที่ของฉันคือการแผยแพร่หลักกฎหมายมนุษยธรรมพร้อมๆ กับทำให้มั่นใจว่าข้อกฎหมายเหล่านี้ได้รับความเคารพ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่คล้ายกัน เมื่อตอนที่กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงโปรโมทแคมเปญ “Health Care in Danger” เพื่อเน้นย้ำความเป็นกลางของผู้ปฎิบัติงานด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ขัดแย้ง ภาพของบุคลากรทางการแพทย์ ก็ถูกบอกเล่าผ่านสื่อในฐานะ “หมอ พยาบาล และอาสาสมัครที่สูญเสียชีวิตจากการปฎิบัติหน้าที่ ‘ในแนวหน้า’ ” ในตอนนี้ไวรัสที่ท้าทายการทำงานของเรา ถูกบอกเล่าผ่านสื่อในฐานะ ‘ศัตรูที่มองไม่เห็น’

การเล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงเช่นนี้ – ในทางที่เปรียบเปรยการระบาดของไวรัสเป็นการทำสงคราม สร้างภาพของสงครามไม่มีกฎเกณฑ์ (เพราะการต่อสู้กับไวรัสไม่มีกฎ), บุคลากรทางการแพทย์สามารถตกเป็นเป้าของการโจมตีได้ตลอดเวลา (เพราะไม่รู้ว่า ไวรัส ซึ่งเป็นศัตรูจะจู่โจมตอนไหน) และ การเอาชนะสงครามสามารถกระทำได้โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ อาจส่งผลกระทบต่อความเคารพต่อกฎแห่งสงครามที่ถูกบังคับใช้จริงในพื้นที่ขัดแย้ง เพราะในความเป็นจริง หากจะพูดถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ปฎิบัติหน้าที่ในยามสงคราม พวกเขาเหล่านั้นย่อมได้รับการคุ้มครองตามกรอบกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และทุกคน แม้กระทั่งศัตรูล้วนได้รับการปกป้องตามกฎหมาย กล่าวโดยสรุป การนำภาษาที่ใช้กันในสงคราม มาสื่อสารในภาวะโรคระบาด อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าสงครามนั้นกระทำได้โดยไม่คำนึงถึงขอบเขต กลายเป็นภาพจำที่ส่งผลกระทบให้การบังคับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นเรื่องยากและลำบากขึ้น

ในหนังสือบันทึกความทรงจำแห่งซอลเฟริโน ของอังรี ดูนังต์ – บิดากาชาด เขาได้เล่าถึงการกระทำอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของชายหญิงที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ทุกวันนี้หากอังรี ดูนังต์ เดินทางมาเบรสเซีย หรือ มิลาน – เมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุดในอิตาลี เขาอาจพบเรื่องราวคล้ายกันตามท้องถนน ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ รวมไปถึงนักข่าว อาจพิจรณาการใช้มุมมองเหล่านี้เป็นต้นแบบ และปล่อยให้การใช้คำศัพท์ทางการรบ ถูกจำกัดใช้ในแนวหน้าของสงครามอย่างแท้จริง

Reference: แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับ We are not at ‘war’ with COVID-19: concerns from Italy’s ‘frontline’