เปิดประสบการณ์นักเรียนนายร้อยไทยที่ซานเรโม อิตาลี

บทความ / บล็อค

เปิดประสบการณ์นักเรียนนายร้อยไทยที่ซานเรโม อิตาลี

นนร.กวิน กสานติกุล นนร.พีรณัฐ พรหมภินันท์ และนนร.อลงกรณ์ กรุณา ถ่ายรูปร่วมกับประธานจัดการแข่งขัน

นับเป็นปีที่ 2 แล้วที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าคัดเลือกนักเรียนนายร้อย 3 นาย ไปเข้าร่วมการแข่งขันความรู้กฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ (Law of Armed Conflict (LOAC)) ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 ที่เมืองซานเรโม ประเทศอิตาลี การแข่งขันรายการนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนนายร้อยจากทั่วโลกได้เรียนรู้และนำประสบการณ์การศึกษากฎหมาย LOAC มาปรับใช้ในสถานการณ์ที่กำหนดให้ในรูปแบบของปฏิบัติการร่วมทางทหาร ซึ่งในปีนี้ทีมตัวแทนของประเทศไทยประกอบไปด้วยนักเรียนนายร้อยพีรณัฐ พรหมภินันท์ นักเรียนนายร้อยกวิน กสานติกุล และ นักเรียนนายร้อยอลงกรณ์ กรุณา นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 3 จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

นนร.กวิน กสานติกุล

นนร. อลงกรณ์ กรุณา

นนร.พีรณัฐ พรหมภินันท์

กฎหมาย LOAC  รางวัลที่ 3  และเพื่อนใหม่

ด้วยความมั่นใจในความสามารถด้านภาษาและอยากออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆในโลกกว้าง นนร. พีรณัฐ พรหมภินันท์หรือเต้ นนร. ชั้นปีที่ 2 จึงตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อแสวงหาโอกาสให้กับตัวเอง สิ่งที่เต้ได้รับกลับมานอกเหนือจากโล่รางวัลที่ 3 จากการแข่งขันประเภททีมและใบประกาศนียบัตรแล้ว เขายังได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของกฎหมาย LOAC และการทำงานร่วมกับนนร. ที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรมและภาษา

LOAC สำคัญกับทุกคนโดยเฉพาะทหาร ในส่วนของนนร.สำคัญที่ต้องทราบไว้เพราะเมื่อรู้กฎหมายตัวนี้เราจะหลีกเลี่ยงการปะทะและความเสียหายเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางอาวุธได้”

เต้เล่าว่า ผู้จัดงานได้แบ่งผู้เข้าร่วมการแข่งขันเป็น 3 กลุ่มใหญ่และ 7 กลุ่มย่อย โดยตัวเขาอยู่ร่วมทีมกับนนร. จากเนเธอร์แลนด์และทหารอากาศจากสหรัฐฯ โจทย์ก็คือ การจำลองเหตุการณ์และนำกฎหมายไปปรับใช้ เต้ย้ำว่างานนี้ใครตอบเล่นๆเอาฮา จะไม่ได้คะแนนแต่ถ้าตอบตรงๆและทำสีหน้าจริงจังว่าคิดแบบนั้นจริงๆจะโกยคะแนนเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเขาและเพื่อนร่วมทีมก็ใช้เทคนิคนี้ทำให้ได้คะแนนนำทีมอื่นๆ แต่เต้ก็ยอมรับว่า “กฎหมายที่เขาใช้…..ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อนในชีวิต” ทำให้ต้องด้นสดและอาศัยเพื่อนร่วมทีมให้ทำข้อแรกๆในขณะที่เขาขอเป็นฝ่ายสนับสนุนอาสาทำข้อหลังๆซึ่งจะทำให้มีเวลาในการค้นคว้าจากเอกสารที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้มากขึ้น

นนร.พีรณัฐ พรหมภินันท์ ขณะค้นคว้าร่วมกับเพื่อนๆในทีมที่มาจากเนเธอร์แลนด์และสหรัฐฯ

เต้บอกว่าเพื่อนๆส่วนใหญ่เข้าร่วมการแข่งขันมาแล้วหลายรายการทั่วโลกจนแทบจะเป็นหนังสือกฎหมายเดินได้ ตอนที่เต้รู้ว่าทีมของเขาได้รับรางวัลที่ 3 “ตอนประกาศผลไม่คิดอะไรหรอก ไม่ได้หรอก แต่พอชื่อขึ้นกระดาน ทั้งสามคนนั่งค้างจนเขาต้องตะโกนให้ออกไปรับรางวัล และเดินไปด้วยสภาพเหมือนคนตกตึก งงๆ ครับ”

เต้บอกว่าสำหรับเขารางวัลที่ได้รับมาคือ สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตัวเองไม่ใช่เครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ซึ่งในวันสุดท้ายของการแข่งขันไม่มีใครสนใจเลยว่าใครได้รางวัลอะไรมีแต่วิ่งเอาของที่ระลึกมาให้ ถ่ายรูปร่วมกัน แลกที่อยู่เบอร์ติดต่อ  ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกประทับใจมากและฝากถึงน้องๆ รุ่นต่อไปว่า

“รอบต่อไป ถ้าน้องๆสนใจที่จะไปร่วมการแข่งขัน ผมอยากให้น้องๆเตรียมตัวในเรื่องภาษาให้ดี และ ต้องเป็นคนที่มั่นใจ ไม่ใช่แค่อยากไป เพราะเมื่อไปถึงที่นั่นจะงงจนจับต้นชนปลายไม่ถูก ต้องมีการเตรียมตัว ทำการบ้าน ศึกษาให้ดีจึงจะสู้เขาได้ครับ” เต้กล่าว

แรงบันดาลใจ การพัฒนาตัวเองและเสื้อลายดอก

นนร.กวิน กสานติกุล ตัดสินใจเลือกเรียนที่กองกฎหมายและสังคมศาสตร์ ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หลังจากที่ได้ยินข่าวจากรุ่นพี่ว่ามีการส่งนนร. ไปร่วมการแข่งขันทดสอบความรู้ด้านกฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ (LOAC) ที่ประเทศอิตาลี กวินใช้เวลาสั่งสมความรู้ด้านภาษาอังกฤษนานพอสมควรและฝ่าฟันจนได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันที่เมืองซานเรโม ประเทศอิตาลี กวินบอกว่าเขาได้สอบถามจากรุ่นพี่ที่เข้าร่วมการแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว และค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธมาอ่านเพื่อเตรียมตัว

นนร.กวิน กสานติกุล และ นนร.พีรณัฐ พรหมภินันท์ ระหว่างเข้าร่วมพิธิเปิด

กวินเล่าว่า กฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธหรือ LOAC หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) มีความสำคัญมากเพราะกฎหมายตัวนี้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ คนที่อยากเป็นทูตทหารก็ต้องศึกษากฎหมายตัวนี้ และแม้ว่าประเทศไทยอาจจะยังไม่รู้จักกฎหมายตัวนี้อย่างกว้างขวางนักแต่อย่างน้อยเราก็สามารถพูดได้ว่าประเทศไทยรู้จักกับกฎหมายตัวนี้ด้วยเช่นกันและนั่นทำให้ไทยเป็นที่ยอมรับในการทำงานร่วมกับนานาประเทศ กวินเล่าว่า “เพื่อนร่วมทีมของผมเป็นนนร.เวสต์พอยต์ จากสหรัฐฯ ซึ่งจะคอยช่วยเหลือในเรื่องคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยและนำเสนอความคิดในจุดที่ผมไม่คุ้นเคยหรืออาจจะพูดผิดในระหว่างการประชุม ที่สำคัญทุกคนเอาจริงเอาจังมากแม้ว่าจะเป็นเพียงสถานการณ์สมมุติ”

กิจกรรมในคืนวัฒนธรรม ซึ่งนนร ของไทยสวมเสื้อลายดอกที่ได้รับความสนใจจากเพื้่อนๆประเทศอื่น

กวินเล่าต่อว่าในการแข่งขันครั้งนี้ ทางผู้จัดได้แบ่งเวลาสำหรับจัดกิจกรรมคืนวัฒนธรรมซึ่งของไทยเราก็ได้นำขนมไทยไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ แต่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ เสื้อลายดอก (ที่คนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์) ที่มีคนถามไถ่กันมากเพราะเป็นเอกลักษณ์ของไทยและไม่เหมือนที่ไหนในโลก นอกจากนั้นก็ยังมีการแลกเปลี่ยนของที่ระลึกร่วมกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมาก กวินกล่าวว่าการร่วมการแข่งขันรายการนี้ทำให้เขารู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองโดยเฉพาะทักษะด้านกฎหมายและภาษาให้มากขึ้นกว่าเดิม

กวินฝากถึงน้องๆที่อยากเข้าร่วมการแข่งขันในปีต่อๆไปว่า “อยากให้น้องๆเตรียมตัวให้มากๆ อาจสอบถามจากรุ่นพี่ที่เคยไป และขอให้กล้าแสดงออก กล้าพูดเพราะตัวแทนจากประเทศอื่นๆจะพยายามเข้าหาคนอื่นๆเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาความรู้ให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องทำเช่นนั้นด้วยเช่นกัน” 

ประสบการณ์ใหม่ น้ำใจและความพยายาม

“การแข่งขันในครั้งนี้ ทำให้ผมได้รู้ว่าหากเราต้องการความช่วยเหลือขอแค่เราบอกเขาอย่างสุภาพนุ่มนวล ทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือเราเต็มที่ครับ” นนร. อลงกรณ์ กรุณา ชั้นปีที่ 2 กล่าว

นนร. พีรณัฐ พรหมภินันท์ และ นนร.อลงกรณ์ กรุณา ระหว่างร่วมพิธีเปิด

กรณ์เล่าว่า การแข่งขันรายการนี้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆให้กับเขาและประสบการณ์ของรุ่นพี่ที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีแรกทำให้ตัวเองตัดสินใจลงสนามเพื่อทดสอบความสามารถที่มีอยู่จนในที่สุดกรณ์ก็ได้รับคัดเลือก

ในการแข่งขันที่อิตาลี ทีมของกรณ์ประกอบด้วย นนร. จากอิตาลีและนนร.หญิงจากสหรัฐฯ ซึ่งเขาเล่าว่า เพื่อนๆร่วมทีมช่วยเหลือกันดีมากและไม่เฉพาะแต่เพื่อนๆในทีมเท่านั้น แต่เพื่อนต่างทีมคนอื่นๆก็มักจะหาโอกาสพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ซึ่งทำให้เขาได้พบเห็นอะไรแปลกใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ (LOAC) ที่เขาได้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพราะกรณ์บอกว่า กฎหมายตัวนี้เป็นกฎหมายหลักที่นนร. ต้องใช้ในการปฏิบัติงานหลังจบการศึกษาแล้ว

ทีมนักเรียนนายร้อยจากประเทศไทยระหว่างเดินทางถึงเมืองซานเรโม ประเทศอิตาลี

กรณ์เล่าถึงเพื่อนร่วมทีมของเขาว่า ทั้ง 2 คนมีความรู้ความเข้าใจในตัวกฎหมายว่าด้วยการขัดการทางอาวุธมากทีเดียวเพราะผ่านการแข่งขันมาหลายรายการและมีการศึกษาค้นคว้ามาเยอะมาก ทำให้ตัวเขาต้องพยายามให้มากขึ้น เพื่อที่จะมีความรู้ในเรื่องนี้มากพอกับเพื่อนคนอื่นๆ สำหรับกรณ์แล้วเขาบอกว่า “สิ่งที่ได้กลับมานั้น คือ การได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งมันอาจจำเป็นมากในอนาคตเพราะโลกของเราเปิดกว้างขึ้นทุกวัน ยิ่งเรารู้จักคนเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ดีมากขึ้นเท่านั้น ผมอยากฝากถึงน้องๆทุกคนที่จะไปในปีหน้านะครับ น้องจะได้อะไรมากกว่าที่คิดแต่ต้องพยายามให้เต็มที่นะครับ แล้วน้องจะพบว่าประสบการณ์นี้คุ้มค่าจริงๆ” กรณ์กล่าวปิดท้าย

แบ่งปันบทความนี้