วันที่ 24 มิถุนายน 2402 อองรี ดูนองต์ นักธุรกิจชาวสวิสได้เดินทางผ่านไปยังสนามรบแห่งโซลเฟริโน่ เขาได้เห็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวมากมายรวมทั้งภาพของทหารที่ได้รับบาดเจ็บที่ฝังลึกอยู่ในความทรงจำของเขา นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาได้ตั้งปฏิญาณว่าจะอุทิศชีวิตที่เหลือให้กับการช่วยเหลือและปกป้องประชาชนในช่วงที่เกิดความขัดแย้งและภาวะวิกฤต คุณฟรองซัวร์ บูญอง นักประวัติศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิ จะพาคุณไปรำลึกเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของชายที่เป็นผู้วางรากฐานให้กับกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ

 

บทแปลสำหรับภาพยนตร์เรื่อง “ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” โดยคุณฟรังซัวส์ บูญอง  นักประวัติศาสตร์ และ กรรมการ ICRC

จุดเริ่มต้นมาจากสมรภูมิ Solferino  เหตุเกิดเมื่อวันที่ 34 มิถุนายน 1859   ขณะที่กองทัพฝรั่งเศสและพีทมอนต์สู้รบกับกองทัพออสเตรีย  ขณะนั้นออสเตรียเป็นฝ่ายยึดครองดินแดนตอนเหนือของอิตาลีและครอบครองดินแดนบริเวณใกล้เคียงทั้งหมดตามสนธิสัญญากรุงเวียนนา ฝรั่งเศสและพีทมอนต์ต้องการชิงดินแดนตอนเหนือของอิตาลี เพื่อเป็นก้าวเริ่มต้นของการรวมชาติอิตาลี

ขณะเดียวกัน นโปเลียนที่ 3 ก็ทรงมีพระประสงค์จะยกเลิกสนธิสัญญากรุงเวียนนา ซึ่งเป็นสนธิสัญญายอมรับความปราชัยของพระปิตุลาของพระองค์รวมทั้งอาณาจักรที่เป็นมรดกตกทอดของพระองค์ด้วย  การสู้รบปะทุขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย

ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นที่นั่นและในเวลานั้น ทหารของทั้งสองฝ่ายเข้าตะลุมบอนกันอย่างดุเดือด  กำลังหนุนเคลื่อนพลเข้าสู่สมรภูมิอย่างต่อเนื่องเพื่อแย่งชิงหอสูงคอยที่ใช้เป็นหอสังเกตุการณ์ฝ่ายใดยึดได้ก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ทั้งปืนเล็กและปืนใหญ่ที่ระดมยิงเข้าใส่กัน สร้างความโกลาหลให้แก่กำลังของทั้งสองฝ่าย  มีคนบาดเจ็บประมาณ 3 ถึง 4 หมื่นคน ไม่มีใครรู้จำนวนที่แน่ชัด การรักษาพยาบาลมีน้อยมากเป็นการสู้รบที่นองเลือดที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามวอเตอร์ลู

ดูนองต์เป็นนักธุรกิจที่ต้องการสร้างกังหันพลังน้ำในแอลจีเรีย เขาได้สัมปทานน้ำตกแห่งหนึ่งเป็นที่สร้างกังหันพลังน้ำ เขาระดมทุนได้เป็นจำนวนมากและต้องการพื้นที่สัมปทานเพิ่ม เขาคิดว่ามีแต่นโปเลียนเท่านั้นที่จะช่วยเขาได้

เขาจึงเดินทางกลับฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝ้านโปเลียนแต่นโปเลียนเสด็จฯนำทัพไปรบในอิตาลีเสียแล้ว ดูนองต์เดินทางไปถึง Castiglione ในวันที่ 24 มิถุนายน ท่ามกลางการสู้รบอันดุเดือดไม่มีใครรู้เวลาที่แน่ชัด สภาพในสนามรบน่าสยดสยองมากทหารที่บาดเจ็บถูกหามเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่าแต่แทบจะไม่มีการรักษาพยาบาลอะไรเลย

สิ่งที่เขาเห็นมันประจักษ์ชัดเป็นอย่างยิ่ง ทหารที่บาดเจ็บ 500 นายถูกนำมายัดทะนานกันอยู่ในโบสถ์แคบ ๆคน 500 คนที่ทุกข์ทรมาน ร้องโหยหวน กำลังจะตาย กองทัพฝรั่งเศสแจ้งว่ามีแพทย์ 3 นายและผู้ช่วยอีก 6 นายประจำอยู่ที่ Castiglione delle Stiviere ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้สมรภูมิที่สุด ทหารบาดเจ็บ 9,000 นายถูกส่งไปที่นั่น

คิดดูก็แล้วกัน แพทย์ 3 นายกับคนเจ็บ 9,000 คน จะได้รับการรักษาสักกี่คน ดูนองต์ไม่ใช่แพทย์ แต่เขาทำในสิ่งที่หลายคนก็คงทำเหมือนกัน เขาลืมเรื่องธุรกิจไปสนิทใจ และ กุลีกุจอลงมือช่วยเหลือทหารบาดเจ็บด้วยตัวเอง

ช่วยอย่างไรน่ะหรือ? เขาหาน้ำให้คนเจ็บดื่ม ช่วยล้างแผลและเปลี่ยนผ้าพันแผล เขามีเงิน เขาส่งตัวสารถีของเขาไป Brescia เพื่อซื้อผ้าปูที่นอน ผ้าพันแผล อาหาร ผลไม้ กล้องและยาสูบสำหรับดับกลิ่นคาวเลือดภายในโบสถ์ เขาไปที่ค่ายทหารฝรั่งเศสและร้องขอให้ปล่อยตัวเชลยชาวออสเตรียที่เป็นแพทย์เพราะคนเหล่านั้นจะช่วยดูแลทหารที่บาดเจ็บได้แทนที่จะกักตัวเอาไว้เฉย ๆ

นโปเลียนรับสั่งให้ปล่อยตัวแพทย์ชาวออสเตรียทั้งหมด ดูนองต์ไม่รู้ว่าหัวหน้าคณะแพทย์ฝรั่งเศส Baron Larrey เป็นผู้ทูลขอแบบเดียวกับเขา เขาคิดว่าเขาเป็นผู้ทำให้แพทย์ชาวออสเตรียได้เป็นอิสระ ทั้งที่จริง ๆ แล้วดูเหมือนว่านโปเลียนจะฟังคำทูลของ Baron มากกว่า

ดูนองต์รู้สึกหดหู่มาก หดหู่กับสิ่งที่เขาได้พบเห็นและประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับทหารที่บาดเจ็บ เขาได้รับการร้องขอให้เล่าถึงประสบการณ์ของเขา ตอนแรกก็พูดปากเปล่า ต่อมาเขาตัดสินใจเขียนเป็นหนังสือ A Memory of Solferino หรือ บันทึกความทรงจำใน Solferino

หนังสือของเขาแยกออกเป็น 2 ภาคใหญ่ ๆ ภาคหนึ่งเป็นคำบอกเล่าจากสมรภูมิรบที่เขาได้ยินมา ดูนองต์ยอมรับว่าเขาไม่ได้เข้าไปอยู่ในสมรภูม แต่ก็ยืนยันว่า “มันเป็นสมรภูมิเลือดที่ไม่มีใครเคยพบเห็น สัมผัสได้ก็แต่เพียงเสียงอึกทึกและโหยหวนเท่านั้น”

เขาเล่าเรื่องตามแบบประวัติศาสตร์ทางทหารซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้น กล่าวถึงความห้าวหาญ การบุกทะลวงข้าศึก การโบกธงชัย เป่าแตรและลั่นกลองรบ แล้วก็เปลี่ยนแนวอย่างฉับพลัน  จากนั้นดูนองต์ก็เล่าถึงสิ่งที่เขาพบพาน ความเจ็บปวดทรมาน การขาดแคลนหมอ คนเจ็บถูกทิ้งให้สิ้นลมหายใจไปเอง เขาเอาทั้งสองภาคมาเชื่อมต่อกันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมในชะตากรรมของทหาร ผู้ซึ่งอุทิศชีวิตเพื่อชาติ แต่ทันทีที่บาดเจ็บ ทุกอย่างก็จบสูญสิ้นคุณค่าความเป็นนักรบ ถูกทิ้งให้ตายอย่างทรมาน ดูนองต์ก่นประณามความอยุติธรรมอย่างมีชั้นเชิง

เขาไม่สอดแทรกความคิดเห็นใด ๆ เพียงแต่ปล่อยให้คนเจ็บพูดจากปากของตัวเอง เขาเปรียบเทียบความกล้าหาญของคนเหล่านั้นกับการถูกทิ้ง เขาลงทุนตีพิมพ์หนังสือของเขาเองในเจนีวา ไม่ได้คาดหวังความสำเร็จในทางวรรณกรรม

หากแต่เป็นเสมือนจดหมายเปิดผนึกส่งถึงรัฐมนตรี ผู้นำเหล่าทัพ และประชาชนโดยทั่วไป นโปเลียนที่3 วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลแห่งอิตาลี และองค์จักรพรรดิแห่งออสเตรีย ต่างก็ได้รับหนังสือ A Memory of Solferino  บทสุดท้ายของหนังสือมีข้อเสนอแนะ 2 ประการ ข้อแรกเสนอให้ก่อตั้งประชาคมบรรเทาทุกข์ รัฐไม่สามารถนำเอาระบบการรักษาสุขภาพในยามสงบ ไปใช้ในยามสงครามได้

“เราต้องการองค์กรภาคเอกชนและประชาคมบรรเทาทุกข์” นี่คือแนวคิดที่เป็นรากฐานของกาชาดในเวลาต่อมา

พลเอก Guillaume-Henry Dufour ประธานคนแรกของ ICRC ได้กล่าวไว้ว่า “องค์กรแห่งนี้ไม่มีการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ สัญชาติ หรือศาสนา”  ข้อเสนออีกประการหนึ่งของดูนองต์ ก็คือ การทำสนธิสัญญา คุ้มครองผู้ให้บริการสุขภาพในสนามรบ เบื้องต้นเป็นแนวคิดให้ความคุ้มครองแก่อาสาสมัคร แต่ต่อมาดูนองต์ได้ขยายความคุ้มครองถึงทหารหน่วยเสนารักษ์ด้วย

แนวคิดดังกล่าวนี้นำไปสู่อนุสัญญากรุงเจนีวาในเวลาต่อมา และ เป็นรากฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งวิวัฒนาการมาจากอนุสัญญากรุงเจนีวา ปฏิญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศในปัจจุบัน