ในวันที่ 12 สิงหาคมที่จะถึงนี้ จะตรงกับวันกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC ในฐานะองค์กรผู้อภิบาลกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) จึงอยากจะกล่าวถึงIHLอย่างสั้นๆเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับกฎหมายฉบับนี้รวมถึงภารกิจของไอซีอาร์ซีที่เกี่ยวข้อง IHLในภูมิภาคนี้กันสักเล็กน้อย

IHL คือ ข้อกฎหมายซึ่งมุ่งจำกัดความเสียหายของผลจากสงครามและความขัดแย้ง อีกทั้งยังกำหนดขอบเขตของการใช้อาวุธและยุทธวิธี IHL มีความสำคัญเพราะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างหนึ่งของประชาคมโลกในการสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามหรือความขัดแย้งจะได้รับความคุ้มครองและได้รับการปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มาตรการที่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกำหนดไว้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่สงครามยังต้องมีขอบเขต

อนุสัญญาเจนีวา..ยังย้ำเตือนอยู่เสมอให้เราคำนึงถึงหน้าที่ในการดูแลเอาใจใส่กันและกัน – เนลสัน แมนเดลลา

IHL เป็นเครื่องมือซึ่งให้สิทธิแก่ไอซีอาร์ซีในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่น การช่วยเหลือทหารผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือ ประสบเรืออับปาง การเข้าเยี่ยมเชลยศึก การสานสัมพันธ์ครอบครัวที่พลัดพรากจากกันเนื่องจากสงคราม การช่วยเหลือพลเรือน การสร้างความมั่นใจว่าบุคคลเหล่านั้นได้รับการปกป้องคุ้มครองจาก IHL ตามที่ควรจะเป็น

ที่ปรึกษากฎหมายของICRCร่วมเป็นกรรมการตัดสินในการแข่งขันศาลจำลองในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ประเทศกัมพูชา

ที่ปรึกษากฎหมายของICRC(ขวา)ร่วมเป็นกรรมการตัดสินในการแข่งขันศาลจำลองในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ประเทศกัมพูชา

ภารกิจของไอซีอาร์ซีเกี่ยวกับงานด้าน IHL ในภูมิภาคอันได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ได้แก่ การร่วมมือกับหน่วยงานราชการในการปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การเผยแพร่ความรู้ด้าน IHL โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของแต่ละประเทศจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ IHL เช่น การจัดแข่งขันศาลจำลองใน 4 ประเทศ การจัดโครงการฝึกงานของนักศึกษากฎหมายกับไอซีอาร์ซีในประเทศไทยและกัมพูชา เป็นต้น

สำหรับการจัดทำโครงการฝึกงานของนักศึกษากฎหมายในประเทศไทยนั้น ทางไอซีอาร์ซีได้มีโอกาสต้อนรับน้องๆจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 2 คน ซึ่งน้องๆมีความสนใจในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและการทำงานด้านมนุษยธรรม เราจะไปสอบถามๆน้องถึงช่วงเวลาฝึกงาน 2 เดือนกับไอซีอาร์ซีและสิ่งที่พวกเขาประทับใจและได้เรียนรู้จากการฝึกงานครั้งนี้

มนัชญาขณะเข้าร่วมการแข่งขันศาลจำลองในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (รอบคัดเลือก) ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558

มนัชญา(ซ้ายสุด)ขณะเข้าร่วมการแข่งขันศาลจำลองในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (รอบคัดเลือก) ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558

มนัชญา ญาณกิตติกุล บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-น้องพิมเข้ามาฝึกงานที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้อย่างไร

หลังจากที่พิมจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขากฎหมายระหว่างประเทศ พิมได้มีโอกาสเข้ามาฝึกงานที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC ในด้านงานที่เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Humanitarian Law ซึ่งเป็นวิชาที่พิมชอบมากที่สุดตอนสมัยเรียน เพราะขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่4 พิมได้เข้าร่วมการแข่งขัน The 1st Thailand IHL Moot Court Competition หรือ การแข่งขันศาลจำลองในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน และได้รับรางวัล The Best Memorial Award (รางวัลคำร้องดีเด่น) ของฝ่ายจำเลย ทำให้พิมยิ่งมีความชอบวิชานี้ยิ่งขึ้นไปอีก หลังจากการแข่งขัน Moot Court ในครั้งนั้น พิมก็ได้ติดตามข่าวสารของทางคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศมาโดยตลอด เพราะคาดหวังว่าจะได้มีโอกาสเข้าทำงานที่นี่ จนกระทั่งได้ทราบข่าวการรับนักศึกษาฝึกงานผ่านทาง Facebook พิมก็ไม่มีความลังเลใดๆที่จะสมัครในตำแหน่งดังกล่าว จนได้รับการคัดเลือกในที่สุดค่ะ

-น้องพิมได้เข้ามาฝึกงานในด้านใดบ้าง

ในช่วงฝึกงานพิมได้รับมอบหมายงานทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและในส่วนกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เช่น การทำฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมกฎหมายของประเทศไทยและลาวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจารีตประเพณีของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Customary International Humanitarian Law) การทำคำบรรยายประกอบวีดิโอจำลองการสู้รบในสถานการณ์ขัดกันทางอาวุธที่จะนำไปเป็นสื่อการอบรมหรือการทำฐานข้อมูลกฎหมายและโครงสร้างองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับนิติวิทยาศาสตร์และการบันทึกข้อมูลคนสูญหายให้กับแผนก Protection เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองทำให้พิมเกิดการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ในการทำงานอย่างมาก เพราะงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นสิ่งที่พิมต้องเรียนรู้ใหม่และไม่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยมาก่อน เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากการลงมือโดยตรงเลยค่ะ

นักศึกษากฎหมายภายใต้โครงการฝึกงานของไอซีอาร์ซีนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายจารีตประเพณีมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)

นักศึกษากฎหมายภายใต้โครงการฝึกงานของไอซีอาร์ซีนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายจารีตประเพณีมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)

-น้องพิมรู้สึกประทับใจอะไรในองค์กรบ้าง

นอกจากที่พิมจะได้รับความรู้และประสบการณ์จากการทำงานแล้ว พิมยังรู้สึกความประทับใจในโครงสร้างและการจัดการขององค์กรอย่างมาก ในทุกเช้าวันศุกร์จะมีการประชุมใหญ่ของทั้งองค์กร โดยแต่ละแผนกจะต้องรายงานความคืบหน้าของงานที่ตัวเองรับผิดชอบ เพื่อแจ้งข่าวสารให้แผนกอื่นๆทราบ ซึ่งการประชุมเป็นไปอย่างมืออาชีพและมีความอบอุ่นทุกครั้ง เพราะพนักงานทุกคนมีความกระตือรือร้นและใส่ใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานทุกคนมีความตระหนักถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมซึ่งเป็นคติหลักขององค์กร จนทำให้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

นักศึกษากฎหมายภายใต้โครงการฝึกงานของ ICRC นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายจารีตประเพณีมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อที่ประชุมองค์กรประจำสัปดาห์

นักศึกษากฎหมายภายใต้โครงการฝึกงานของ ICRC นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายจารีตประเพณีมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อที่ประชุมองค์กรประจำสัปดาห์

-น้องพิมคิดว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการฝึกงานในครั้งนี้

การฝึกงานที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา พิมไม่เพียงแต่ได้รับความรู้และประสบการณ์ในการทำงานเท่านั้นนะคะ แต่มันยังทำให้พิมมีความตระหนักถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะพิมสัมผัสได้ถึงการทำงานที่ทุ่มเทอย่างแท้จริงของพนักงานทุกคนในองค์กร และทำให้พิมเห็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆได้ดีขึ้นค่ะ อีกอย่างหนึ่งเนื่องจากไอซีอาร์ซีเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้พิมมีโอกาสเรียนรู้การทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ ซึ่งมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน พิมต้องปรับตัวและแนวคิดเพื่อให้เข้ากับสังคมในที่ทำงานที่พิมไม่คุ้นเคยมาก่อน พิมตั้งใจว่าหลังการฝึกงานนี้ พิมจะยังคงติดตามข่าวสารการทำงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศต่อไป เนื่องจากเป็นความสนใจส่วนตัวและเพื่อว่าในวันหนึ่งพิมอาจจะได้มีโอกาสช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆให้กับโลกของเราเหมือนกับพี่ๆในองค์กรค่ะ

คณาสิน ทิพยชนวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นักศึกษากฎหมายในโครงการฝึกงานของ ICRC ถ่ายรูปคู่กับผู้ดูแลประจำโครงการ

นักศึกษากฎหมายในโครงการฝึกงานของ ICRC ถ่ายรูปคู่กับผู้ดูแลประจำโครงการ

-น้องปันเข้ามาฝึกงานที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้อย่างไร

การที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาฝึกงานกับ ICRC นั้น เริ่มมาจากการที่ทราบประกาศรับสมัครนักศึกษาฝึกงานจากทางสื่อออนไลน์ ซึ่งผมตั้งใจที่อยากจะมีโอกาสฝึกงานทางด้านกฎหมายในองค์กรระหว่างประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมจึงได้ทำการศึกษารายละเอียดคุณสมบัติตามที่ระบุในประกาศ เตรียมความพร้อมเบื้องต้นเพื่อให้ตนเองเหมาะสมกับตำแหน่งนี้เท่าที่จะสามารถทำได้ในขณะนั้น และเมื่อได้รับคัดเลือกมีรายชื่อติด 1 ใน 5 ของผู้สมัครที่ได้ถูกเรียกสัมภาษณ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นอะไรที่เกินความคาดหมายมาก และบอกกับตัวเองว่าหากได้มีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าไปฝึกงานที่นี่ จะพยายามมุ่งมั่นตั้งใจสุดความสามารถที่มี และเมื่อประกาศผลก็ได้รับโอกาสที่มีค่าในการเป็นนักศึกษาฝึกงานขององค์กรแห่งนี้

-เข้ามาแล้วได้ฝึกงานในด้านใดบ้าง

การได้รับเลือกเข้ามาเป็นนักศึกษาฝึกงานนั้น หน้าที่หลักที่ได้ทำในฐานะนักศึกษาฝึกงานคือ การวิจัย โดยการวิจัยนั้นเป็นการวิจัยภายใต้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งผมได้มีโอกาสวิจัยข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้ประกอบการอธิบายวีดีโอจำลองเหตุการณ์การขัดกันด้วยอาวุธ รวมทั้งยังมีโอกาสได้ทำวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายจารีตประเพณีภายใต้กรอบอนุสัญญาเจนีวา และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในเรื่องการตามหาญาติผู้เสียชีวิต

นักศึกษาฝึกงานเข้าร่วมทำกิจกรรมสันทนาการกับเจ้าหน้าที่ ICRC

นักศึกษาฝึกงานเข้าร่วมทำกิจกรรมสันทนาการกับเจ้าหน้าที่ ICRC

-น้องปันประทับใจอะไรในองค์กรบ้าง

การทำงานร่วมกันของแผนกต่างๆรวมทั้งความเป็นมืออาชีพในการทำงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน การติดต่อกับเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในประเทศอื่นๆทั่วโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมประจำสัปดาห์ ซึ่งในทุกๆครั้งที่ได้เข้าประชุม จะรู้สึกถึงความเป็นมืออาชีพและการทำงานในระดับองค์กรระหว่างประเทศอย่างแท้จริง นอกจากนี้ผมยังรู้สึกประทับใจในความอบอุ่นที่ได้รับไม่ว่าจะทั้งจากพี่ๆคนไทยหรือชาวต่างชาติ อันทำให้การทำงานในแต่ละวันเต็มไปด้วยความสุข นอกจากนั้นแล้ว ความเป็นครอบครัวความอบอุ่นที่พี่ๆมอบให้แก่น้องฝึกงานเป็นอีกสิ่งที่ผมประทับใจในการเข้ารับการฝึกงานที่นี่ อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่ได้ให้ทำร่วมกับพี่ๆในองค์กร โดยการเข้าร่วมเตะฟุตบอลกับพี่ๆในนามของ ICRC เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก

-น้องปันคิดว่าได้เรียนรู้อะไรจากการฝึกงานครั้งนี้

การฝึกงานที่ ICRC ทำให้ผมได้มีโอกาสพิจารณาว่า ตนเองนั้นเหมาะกับสายงานด้านกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ซึ่งในการได้รับโอกาสเข้ามาฝึกงานในที่แห่งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ได้เห็นมุมมองต่างๆของการทำงานในสายงานระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้ผมตัดสินใจได้ว่า การทำงานในสายงานระหว่างประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ผมชอบและอยากที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางสายนี้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากการฝึกงานที่นี่ก็คือ การได้นำความรู้ด้านกฎหมายที่เรียนอยู่ในห้องเรียน นำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตจริง รวมทั้งยังได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของการนำมาบังคับใช้และปฎิบัติ ซึ่งค่อนข้างจะมีความแตกต่างจากในห้องเรียน