ในปี 2024 ครบรอบ 75 ปี อนุสัญญาเจนีวาฉบับปี 1949 ถือเป็นโอกาสสำคัญให้มองย้อนหลังเพื่อทบทวนบทบาทพื้นฐานของอนุสัญญาเจนีวาในการปกป้องผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ อนุสัญญาเจนีวาถือเป็นรากฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ได้กล่าวถึงข้อกำหนดและขอบเขตในการทำสงคราม โดยเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเห็นอกเห็นใจย่อมต้องอยู่ในหลักปฏิบัติ ข้อกำหนดเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และแม้ว่าในปัจจุบันเราอาจอนุสัญญาเจนีวาถูกละเมิดอยู่บ้างในสถานการณ์ต่างๆ แต่ทุกครั้งที่กฎหมายเหล่านี้ได้รับการเคารพ ชีวิตของผู้คนย่อมได้รับการปกป้อง
จุดเริ่มต้นและเป้าหมายของอนุสัญญาเจนีวา
อนุสัญญาเจนีวาฉบับปี 1949 ประกอบไปด้วยอนุสัญญา 4 ฉบับ คือ
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 ว่าด้วยการคุ้มครองทหารที่บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยในการสงครามภาคพื้นดิน อนุสัญญาฉบับนี้ให้การรับรองว่าทหารที่ไม่สามารถทำการรบต่อ จะต้องได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม เข้าถึงการรักษาพยาบาล
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 2 คล้ายกับอนุสัญญาฉบับแรก แต่ขยายความคุ้มครองแบบเดียวกันให้ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออยู่ในสภาวะเรืออัปปาง ในภาวะสงครามทางน้ำ
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 กล่าวถึงการคุ้มครองเชลยสงคราม ระบุให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ถูกทรมาน สังหาร หรือถูกทารุณกรรมทางเพศ เชลยสงครามต้องได้รับอาหาร น้ำ เสื้อผ้า รวมไปถึงยารักษาโรคและที่อยู่อาศัย พวกเขาสามารถเขียนจดหมายติดต่อกับครอบครัวได้ และต้องได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุดหากความขัดแย้งสงบลงแล้ว
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ให้ความคุ้มครองพลเรือน โดยเฉพาะพลเรือนที่อยู่ในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม พลเรือนเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ถูกทรมาน สังหาร หรือถูกทารุณกรรมทางเพศ พวกเขาต้องเข้าถึงอาหารและยารักษาโรค อนุสัญญาฉบับนี้ยังได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ ICRC ในการเข้าเยี่ยมเพื่อมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับพลเรือนที่เดือดร้อน
อนุสัญญาเจนีวา เป็นข้อตกลงที่ถูกนำมาใช้ในยามสงคราม (ไม่ว่าจะเป็นการขัดกันทางอาวุธระหว่างรัฐกับรัฐ หรือการขัดกันทางอาวุธระหว่างรัฐกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ) โดยต้องถูกนำมาใช้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะมีเชื้อชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมืองเป็นอย่างไร ปัจจุบันอนุสัญญาเจนีวาเป็นข้อตกลงที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยทั้งอนุสัญญาเจนีวาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการปกป้องสิทธิ์ของผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และทำให้แน่ใจว่าพวกเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นศัตรูหรือมิตร ต่างถูกปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
จุดมุ่งหมายร่วมกันในระดับสากล
อนุสัญญาเจนีวาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีรากฐานย้อนกลับไปถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ การทำสงครามย่อมต้องมีกฎเกณฑ์และจารีตปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกจับกุมคุมขัง เด็ก สตรี หรือผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ ให้รอดปลอดภัยจากผลกระทบของสงคราม กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเติมเต็มและเสริมสร้างความเข้มเข็งให้แนวปฏิบัติเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องพลเรือน ทรัพย์สินของพลเรือนหรือมรดกทางวัฒนธรรม ในปัจจุบันนี้ นอกเหนือไปจากกฎข้อบังคับในอนุสัญญาเจนีวาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ยังไม่มีเครื่องมืออันเป็นรูปธรรมใดที่สามารถนำมาใช้ในยามสงครามได้รัดกุมเทียบเท่า
75 ปี และต่อจากนี้ กฎข้อบังคับต่างๆ จะยังคงความสำคัญอยู่หรือไม่
ความจริงที่ว่า การจำกัดผลกระทบทางมนุษยธรรมเป็นสิ่งที่ทุกรัฐเห็นพ้องต้องกันและได้ให้การบัญญัติเป็นพันธะผูกพันทางกฏหมายของตน สะท้อนความจำเป็นของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและอนุสัญญาเจนีวา หากทุกฝ่ายให้ความเคารพกฎหมาย ชีวิตมากมายย่อมได้รับการปกป้อง ครอบครัวที่พลัดพรากสามารถทราบข่าวคราวของกันและกัน และผู้ถูกจำกัดเสรีภาพได้รับการปฏิบัติที่คงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้เรื่องราวเหล่านี้จะถูกบอกเล่าไม่บ่อยบนหน้าสื่อ แต่หลักการของอนุสัญญาเจนีวาก็ยังเป็นเครื่องเตือนใจที่ทรงพลังให้มนุษย์รู้จักยับยั้งชั่งใจในยามสงคราม
IHL และการพัฒนาข้อกฎหมายให้ก้าวทันข้อท้าทายใหม่ในยามสงคราม
ความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สงครามไซเบอร์ อาวุธอัตโนมัติ และการใช้อาวุธในอวกาศ กลายเป็นภัยร้ายที่เกิดขึ้นจริงในสงครามยุคปัจจุบัน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้สอดรับกับภาพความเป็นจริงของสงคราม ปัจจุบันรัฐต่างๆ กว่า 100 รัฐทั่วโลก ลงทุนเพื่อพัฒนาระบบไซเบอร์เพื่อการทหาร อย่างไรก็ดี ในการทำสงครามย่อมต้องมีกฎเกณฑ์และข้อจำกัด กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจำกัดการใช้อาวุธบางประเภทซึ่งสร้างความเสียหายโดยไม่จำเป็นทางมนุษยธรรม อาวุธที่ว่า รวมไปถึงอาวุธทางไซเบอร์ พลเรือนและวัตถุพลเรือนต้องไม่ตกเป็นเป้าของการโจมตี มัลแวร์ที่สร้างความเสียหายโดยไม่จำกัดขอบเขตจะต้องถูกห้ามใช้ และในสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศย่อมต้องได้รับความเคารพอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการในโลกแห่งความเป็นจริง หรือปฏิบัติการในโลกไซเบอร์ก็ตาม
การเคารพในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสามารถสร้างสันติภาพให้กลับคืนมา
การขัดกันทางอาวุธทำลายชีวิตของผู้คนมากมาย และยังสร้างความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจเปรียบประมาณได้อีกนับไม่ถ้วน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อรักษาเส้นจำกัดของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้ความโหดร้ายของสงครามก้าวล่วงไปสู่จุดที่ไม่อาจหันหลังกลับ หากการสู้รบเป็นไปโดยดำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ สันติภาพย่อมสามารถสร้างกลับมาได้ง่ายขึ้น สันติภาพนี้เองคือหัวใจสำคัญที่รัฐทั้งหลายต้องการรักษาไว้ในขณะที่ร่วมกันลงนามในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อรัฐต่างๆ และทุกฝ่ายในการสู้รบ
แม้ว่ารัฐมากมายจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาเจนีวา แต่ก็ใช่ว่าข้อกำหนดจากอนุสัญญาทั้งสี่ฉบับจะได้รับการเคารพในทุกสถานการณ์ความขัดแย้ง รัฐทั้งหลายและทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องล้วนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่าง ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมในระดับสากลเพื่อปกป้องการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เริ่มจากการป้องกันไม่ให้กฎข้อบังคับต่างๆ ถูกละเมิดตั้งแต่ก่อนความขัดแย้งจะเริ่มขึ้น และตั้งความคาดหวังที่ชัดเจนว่ากฎต่างๆ จะได้รับการปฏิบัติตามอย่างละเอียดถี่ถ้วนหากเป็นหากความขัดแย้งเกิดขึ้นในอนาคต