Jus ad bellum หรือ กฎหมายว่าด้วยการใช้กำลังทหาร หมายถึง เงื่อนไขที่รัฐอาจตัดสินใจก่อสงครามหรือใช้กองกำลังติดอาวุธ โดยข้อห้ามในการใช้กำลังในหมู่รัฐและข้อยกเว้น (การป้องกันตนเองและการอนุญาตให้ใช้กำลังโดยสหประชาชาติ) ซึ่งบรรจุอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ ค.ศ. 1945 เป็นองค์ประกอบหลักของกฎหมายว่าด้วยการใช้กำลังทหาร
.
Jus in bello หรือ กฎหมายมนุษยธรรม หมายถึง กฎหมายที่กำกับการใช้กำลังทหารของฝ่ายต่างๆ ในการขัดกันทางอาวุธ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศก็มีความหมายเช่นเดียวกับ jus in bello ซึ่งมุ่งที่จะลดความทุกข์ทรมานให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของการขัดกันทางอาวุธทุกคนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
.
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ‘คุ้มครอง’ ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ และ ‘จำกัด’ ผลกระทบจากสงคราม รวมไปถึงการควบคุมอาวุธ เครื่องมือ วิธีการรบเพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายหรือความทุกข์ทรมานที่เกินกว่าขอบเขต กฎหมายที่ว่านี้ต้องถูกนำไปใช้กับฝ่ายคู่สงครามทุกฝ่าย ไม่ว่าเหตุผลของความขัดแย้งหรือความชอบธรรมของสาเหตุที่ต้องสู้รบกันนั้นจะเป็นเช่นไร หากไม่เช่นนั้นแล้ว การนำกฎหมายมาบังคับใช้ ย่อมจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากทุกฝ่ายจะอ้างว่าตนต่างเป็นเหยื่อของการรุกราน ไม่เพียงเท่านั้น กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังมีเจตนาที่จะคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อของการขัดกันทางอาวุธ ไม่ว่าพวกเขาอยู่ฝ่ายใด นั่นคือเหตุผลที่ jus in bello หรือกฎหมายมนุษยธรรม จึงยังคงต้องแยกเป็นอิสระจาก jus ad bellum หรือกฎหมายว่าด้วยการใช้กำลังทหาร
.
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฏหมายมนุษยธรรม ดาวน์โหลดอนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติม ฉบับแปลภาษาไทยโดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)